พนักงานมีความสุข แล้วองค์กรจะมีผลงานที่ดีขึ้นจริงหรือ

พนักงานมีความสุข แล้วองค์กรจะมีผลงานที่ดีขึ้นจริงหรือ



เรื่องของการทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานนั้น มีการพูดถึงกันมาก็หลายปีแล้ว มีองค์กรในประเทศไทยที่ทำหน้าที่ส่งเสริมให้องค์กรต่างๆ สร้างพนักงานให้มีความสุขในการทำงาน เพราะเชื่อว่า พนักงานที่มีความสุขในการทำงานนั้น จะสามารถสร้างผลงานที่ดีให้กับองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง

แต่ตรรกะนี้ เป็นจริงหรือ พนักงานที่มีความสุขในการทำงาน จะทำให้องค์กรมีผลงานที่ดีขึ้นจริงๆ หรือ

อีกเรื่องหนึ่งที่มีงานวิจัยออกมามากมาย ก็คือ เรื่องของการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร เนื่องจากงานวิจัยต่างๆ ที่ออกมานั้น พยายามพิสูจน์ว่า พนักงานที่มีความผูกพันต่อองค์กรนั้น จะสร้างผลงานที่ดีขึ้น ทั้งของตนเอง และขององค์กรด้วย ประเด็นนี้อีกเช่นกัน ที่มีข้อถกเถียงกันว่า จริงหรือที่พนักงานที่มีความผูกพันต่อองค์กรจะเป็นคนที่สร้างผลงานได้อย่างดี

อีกประเด็นที่มักจะคิดกันอยู่เสมอ ก็คือ พนักงานที่มีความสุขในการทำงาน ก็คือ พนักงานที่มีความผูกพันต่อองค์กร ดังนั้น ผู้บริหารขององค์กรก็พยายามที่จะทำให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข เพื่อให้เกิดความผูกพันต่อองค์กร ซึ่งจะนำมาซึ่งผลงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตรรกะนี้ เป็นจริง หรือไม่ อย่างไร

เรื่องของพนักงานที่มีความสุขในการทำงาน หรือการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรนั้น ล้วนแต่มีประเด็นที่ต้องระวังทั้งสิ้น ลองมาดูว่าประเด็นเหล่านี้มีอะไรบ้าง

• พนักงานที่มีความสุข เป็นคนที่อยากทำงานจริงหรือ มีข้อถกเถียงมาว่า พนักงานที่มีความสุขในการทำงาน ก็คือ พนักงานที่มาทำงานโดยไม่ต้องทำอะไรมากมาย องค์กรและหัวหน้างานไม่มอบหมายงานอะไรให้กับพนักงาน ก็เลยทำให้พนักงานทำงานแบบสบายๆ ไม่ต้องเครียด เรื่อยๆ ทำบ้างเล่นบ้าง ซึ่งพนักงานกลุ่มนี้ต่างก็บอกว่า มีความสุขในการทำงานมาก งานไม่หนักมีเงินเดือนใช้ แถมขึ้นเงินเดือนทุกปีอีกด้วย และเมื่อไหร่ที่องค์กร และผู้บริหารระดับสูง เริ่มที่จะผลักดันระบบงานใหม่ๆ และเป้าหมายที่สูงขึ้น พนักงานกลุ่มนี้ก็จะไม่มีความสุขในการทำงานอีกต่อไป เพราะต้องเปลี่ยนแปลงตนเอง ก็เลยไม่ชอบ ถ้าเป็นแบบนี้จริงๆ พนักงานที่มีความสุขในการทำงาน จะสร้างผลงานที่ดีขึ้นจริงหรือ

• พนักงานที่มีความผูกพันกับองค์กรจะสร้างผลงานที่ดีขึ้นจริงหรือ เช่น กันกับประเด็นเรื่องของความผูกพัน ความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร นั้นเริ่มจากพนักงานรู้สึกพึงพอใจในการทำงานก่อน จากนั้นจึงเริ่มรู้สึกผูกพัน แต่ถ้าการที่พนักงานรู้สึกพึงพอใจนั้น มาจากเหตุผลที่ว่า ทำงานสบายๆ เล่นๆ ชิวๆ นายไม่เคยติดตามหรือสั่งการอะไร มาตอนเช้าก็เล่นเน็ต โพส facebook คุย Line กับเพื่อน งานการก็ทำแค่วันละ 2 ชั่วโมง ฯลฯ ก็เลยทำให้พนักงานรู้สึกว่า พึงพอใจกับงานที่ทำอย่างมาก ก็เลยรู้สึกผูกพัน และไม่อยากที่จะไปทำงานที่อื่นที่มันลำบากกว่านี้ และด้วยเหตุผลนี้เอง ก็เลยทำให้พนักงานยึดติดกับความสุขเหล่านี้ จนไม่อยากที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เวลานายสั่งอะไร หรือมีนโยบายอะไรใหม่ๆ ที่จะต้องบุกตลาด รุกช่องทางการขายใหม่ๆ พนักงานก็ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ แถมยังออกอาการต่อต้าน ไม่ทำงานเสียอีก พร้อมกับบ่นว่า เริ่มไม่มีความสุขในการทำงานแล้ว

• พนักงานที่ผูกพันกับองค์กร คือคนที่มีผลงานที่ดีจริงหรือ อีกประเด็นในเรื่องของความผูกพันก็คือ พนักงานที่มีความผูกพันมากๆ กับองค์กร รู้สึกรัก และอยากอยู่ทำงานกับองค์กรต่อไปเรื่อยๆ จะเป็นคนที่มีผลงานที่โดดเด่นจริงๆหรือ พนักงานบางคนไม่อยากลาออกเลย ด้วยเหตุผลว่า งานที่นี่สบายมาก เช้ามาก็มีที่ให้ชอปปิ้งก่อน เข้างานสายหน่อยก็ไม่มีใครว่า แถมกลางวัน ก็ชอปปิ้งได้อีก กินข้าวนานหน่อยก็ไม่มีใครบ่น ตอนเย็น ก็ยังเลิกงานก่อนเวลาได้ด้วย ด้วยสภาพแวดล้อมแบบนี้ ก็เลยทำให้พนักงานรู้สึกรักองค์กรนี้มาก และไม่อยากจากไปไหนเลย ถามว่าด้วยสภาพแบบนี้พนักงานคนนี้จะสร้างผลงานที่โดดเด่นให้กับองค์กรได้ จริงหรือ

• Work-Life Balance ทำให้พนักงานทุ่มเททำงานจริงหรือ อีกประเด็นที่มักจะมีผลต่อความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรก็คือ การสร้างระบบที่เรียกว่าทำให้ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวของพนักงานมีความสมดุล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ก็คือ พนักงานเริ่มมาสายกันมากขึ้น โดยให้เหตุผลว่า work-life balance เริ่มที่จะใช้เวลางานไปกับเรื่องส่วนตัวมากขึ้น โดยให้เหตุผลว่า work-life balance และเมื่อใดที่ได้โอกาส กลับบ้านก่อน หรือหยุดงาน ไม่มาทำงานได้ ก็จะทำทันที โดยให้เหตุผลว่า work-life balance ลองคิดดูว่าถ้ามีพนักงานทำแบบนี้เกิดขึ้นหนึ่งของบริษัท แล้วจะแปลว่าพนักงานกลุ่มนี้ทุ่มเททำงานให้กับองค์กรจริงๆหรือ ผลงานจะดีขึ้นจริงๆ หรือ

ที่เขียนมาทั้งหมด ไม่ได้ต่อต้าน หรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เรียกกว่า Employee Engagement หรือ การสร้างความพึงพอใจให้กับพนักงาน รวมทั้งการทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานนะครับ เพียงแต่เรื่องราวเหล่านี้มันมีด้านมืดของมันที่เราอาจจะมองข้ามไปก็ได้ ส่วนใหญ่เรามักจะมองไปในแง่ดี ว่าพนักงานที่มีความสุข มีความพึงพอใจ และมีความผูกพันต่อองค์กรนั้น จะเป็นพนักงานที่ทำงานแบบตัวเป็นเกลียว และมักจะผลักดัน สร้างสรรค์ ความเจริญก้าวหน้าให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่อง ผมแค่อยากจะบอกว่า อย่าคิดไปในทางนั้นทางเดียวครับ

เพราะมีพนักงานอีกเยอะที่มีความสุข มีความพึงพอใจ และผูกพันกับองค์กรที่ทำอยู่อย่างมากมาย เนื่องจากเหตุผลที่ว่า “ทำงานที่นี่มันสบายๆ เรื่อยๆ ไม่ต้องสร้างผลงานอะไรมากมาย แต่มีเงินเดือนใช้ไม่ขาดมือ”



บทความโดย : คุณประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 4038
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การทำงานโดยที่คนทำงานไม่มีความสุขนั้นส่งผลกระทบทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นผลงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ องค์กรไม่มีความก้าวหน้า ลองมาดูกันว่า อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้พนักงานไม่มีความสุขกับการทำงาน
การทำงาน เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิต ซึ่งรูปแบบของการจ้างงานไม่ได้มีเพียงงานประจำและรอเวลาเกษียณอายุเพียงเท่านั้น แต่ยังมีลักษณะการจ้างงานอีกหลายประเภท ที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไปได้ ในบทความนี้จะมาสรุปสั้น ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าการจ้างงานมีกี่ประเภท และแต่ละประเภทมีข้อดีแตกต่างกันอย่างไร
การพาพนักงานไป Outing ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการหลัก ๆ ที่หลายองค์กรมี เพื่อดึงดูดพนักงานทั้งภายในและภายนอกให้อยากมาร่วมงานกันด้วย โดยวัตถุประสงค์หลักของการไป Outing ก็เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และเพื่อตอบแทนพนักงาน ให้ได้ผ่อนคลายจากการทำงานประจำวันอันตึงเครียดมายาวนาน โดยที่บริษัทจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมด
ระบบลงเวลาเข้า-ออกของพนักงาน คือ ระบบที่ช่วยในการบันทึกเวลาการทำงานของพนักงาน ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ (Finger Scanner), สมาร์ทโฟน (Smart Phone), แท็บเล็ต (Tablet), ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน ปลอดภัย และเชื่อมต่อสู่ระบบข้อมูลกลางอย่างระบบคลาวด์ (Cloud System) ได้ โดยจะระบุเวลาที่พนักงานเข้ามาทำงานและออกจากงานในแต่ละวัน ดูสถิติ ขาด ลา มาสาย ระบบนี้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเวลาและการทำงานของพนักงาน ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) และฝ่ายบริหารสามารถติดตามการทำงานของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ข้อมูลที่บันทึกเพื่อคำนวณเงินเดือน สวัสดิการ ค่าล่วงเวลา และการจัดทำรายงานการเข้างานได้อย่างแม่นยำ ตอบโจทย์การทำงานในธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกร้อง ค่าชดเชยจากนายจ้าง อันนี้เป็นสิทธิ์ของเรานะ พี่ทุยบอกเลยว่า เงินค่าชดเชย เป็นสิ่งที่นายจ้าง ต้องจ่าย ให้กับพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือในกรณีให้ออกจากงาน ซึ่งไม่ได้มาจากทำความผิดของพนักงานหรือลูกจ้าง แต่อาจจะด้วยเหตุผลบางอย่างที่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์