อัตราการลาออกของพนักงานเท่ากับ 0 มีผลดีหรือไม่ดีอย่างไร

อัตราการลาออกของพนักงานเท่ากับ 0 มีผลดีหรือไม่ดีอย่างไร



หลายๆ องค์กรตั้งตัวชี้วัดความสำเร็จในเรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคลไว้ที่อัตราการลาออกของพนักงานในองค์กร โดยมีการกำหนดอัตรามาตรฐานไว้ที่อัตราเดียวกับอุตสาหกรรมบ้าง หรือกำหนดให้ดีกว่าปีที่ผ่านมาบ้าง แต่ผมยังไม่เคยเห็นองค์กรไหนที่กำหนดเป้าหมายอัตราการลาออกของพนักงานเท่า กับ 0 จริงๆ นะครับ

จะว่าไปในช่วงแรกๆ ที่เรื่องของตัวชี้วัดเรื่องอัตราการลาออกเริ่มเป็นที่นิยมนั้น หลายๆ องค์กรเข้าใจผิดมากว่า ถ้าเราสามารถทำให้พนักงานไม่ลาออกเลยนั้น จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะนี่คือการที่พนักงานรู้สึกรัก และผูกพันกับองค์กร แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีใครคิดแบบนั้นกันแล้ว

มีผู้บริหารอยู่องค์กรหนึ่ง ได้พูดคุย และเล่าให้ผมฟังว่า บริษัทที่เขาบริหารนั้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีพนักงานลาออกเลย อัตราการลาออกเท่ากับ 0 จริงๆ เขาเล่าให้ฟังว่าในช่วงปีแรกๆ ที่ไม่มีพนักงานลาออกเลยนั้น เขารู้สึกดีใจ และภูมิใจมาก เพราะเข้าใจว่าพนักงานมีความรักต่อบริษัท แต่พอเป็นแบบนี้ไปสัก 4 ปี เข้าปีที่ 5 ผู้บริหารท่านนี้ก็เริ่มสังเกตเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่ค่อยชอบมาพากลเท่าไหร่ เขาพบกับอะไรบ้างลองมาดูกันนะครับ

พนักงานไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน พนักงานที่อยู่กันมานานๆ ทำงานกันมานานๆ ก็จะเริ่มเกิดความเคยชินกับระบบงานแบบเดิมๆ และไม่มีใครลาออก ก็ไม่ค่อยได้รับคนใหม่เข้ามาทำงาน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พนักงานจะชินกับการทำงานแบบเดิม และไม่ยอมรับวิธีการทำงานแบบใหม่เลย บางกรณีถึงกับต่อต้านกันเลยก็มี และมักจะมองว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ไม่จำเป็นต้องมาเปลี่ยนแปลงอะไร

ยิ่งอยู่นาน ยิ่งผลงานไม่ออก พนักงานที่อยู่ทำงานมานาน และไม่มีใครลาออกเลย สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เขาจะไม่รู้ว่าสิ่งที่ดีกว่าคืออะไร เพราะเห็นแต่ผลงานแบบเดิมๆ ที่ทำอยู่ทุกปี ไม่มีโอกาสเห็นพนักงานใหม่ แนวคิดใหม่ๆ จากภายนอกว่าเป็นอย่างไร ก็จะยึดมั่นในวิธีการทำงานของตนเอง และมองว่าตนเองนั้นมีความทุ่มเทให้กับองค์กรมากมาย แต่ถ้าวัดผลงานกันจริงๆ แล้ว เราจะไม่ค่อยเห็นผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันมากนัก

ต่อต้านพนักงานใหม่ เวลาที่มีพนักงานใหม่ ที่เรารับเข้ามาร่วมทีมงานด้วย พนักงานเก่าๆ พวกนี้ก็มักจะมีการตั้งป้อม หรือมีกำแพงที่มองไม่เห็นขึ้นมา ในกรณีที่พนักงานใหม่ หรือหัวหน้าใหม่ๆ นำเอาสิ่งใหม่ๆ ที่เราไม่เคยทำเข้ามาใช้ในการทำงาน ซึ่งเป็นผลทำให้พนักงานเดิม จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการทำงานขึ้น ก็จะเริ่มรวมตัวกัน และตั้งป้อมเพื่อหาเหตุผลว่าสิ่งนั้นๆ ไม่ใช่สิ่งที่ดี ในบางกรณีก็อ้างว่า สิ่งที่คิดนั้นเคยทำมาก่อนแล้วเมื่อหลายปีที่ผ่านมา แต่ไม่เวิร์ค อย่าทำเลยดีกว่า สุดท้ายก็จบลงที่ระบบแบบเดิมๆ ไม่มีอะไรดีขึ้น และพนักงานใหม่คนนั้น ก็ลาออกไป พนักงานเก่าก็รู้สึกดีใจ และองค์กรต้องมานั่งเสียใจ เพราะผลงานไม่ออกเลย

คิดอะไรใหม่ๆ ไม่ออกเลย พนักงานเดิม วิธีการทำงานเดิม ยิ่งทำงานมาเป็นเวลานานมากๆ ความเคยชินก็เกิดขึ้น พอเคยชินเข้ามากๆ สมองก็ไม่ค่อยได้ใช้การมากนักสำหรับการคิดอะไรใหม่ๆ เวลาที่นายมอบหมายให้คิดหาวิธีการ หรือแนวทางในการสร้างรายได้ หรือสร้างลูกค้าใหม่ๆ ก็จะคิดวนเวียนอยู่กับวิธีการเดิมๆ ไม่มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นเลย หรือถ้าคิดอะไรใหม่ๆ ได้จริงๆ ก็มักจะไม่ค่อยอยากทำ เพราะการทำอะไรใหม่ๆ แปลว่า จะต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานใหม่ด้วย และอาจจะทำให้พนักงานเหล่านี้รู้สึกลำบากมากขึ้น ก็เลยหยุดคิดดีกว่า ทำแบบเดิมๆ นี่แหละสบายดี

ผู้บริหารท่านนี้เล่าให้ฟังต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มันขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง ก็คือ ผู้บริหารคิดว่า พนักงานไม่ลาออก แปลว่าอยากทำงานกับบริษัท ซึ่งก็น่าจะสร้างผลงานให้กับบริษัท แต่เอาเข้าจริงๆ กับกลายเป็นตรงกันข้าม กล่าวคือ ผลงานในระยะเวลา 5 ปีที่ไม่มีพนักงานลาออกเลยนั้น กลับเป็นผลงานแบบถดถอย ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ยอดขาย กำไร เป็นแบบเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงตลอดเวลา ซึ่งผู้บริหารมองแล้วว่าถ้ายังอยู่ในวังวนเดิมๆ แบบนี้ บริษัทคงอยู่ไม่ได้

สิ่งที่ผู้บริหารท่านนี้ทำ ก็คือ เริ่มตั้งเป้าหมายและความสำเร็จที่ต้องการ จากนั้นก็บอกให้พนักงานหาวิธี และวางแผนปฏิบัติการเพื่อไปสู่เป้าหมายใหม่นั้นให้ได้ และเอาเป้าหมายนั้นมาชี้วัดผลงานกันจริงๆ ใครทำไม่ได้ ก็จะว่ากันที่ผลงานจริงๆ และถ้าใครไม่ยอมเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ก็มีมาตรการทางด้านผลงาน และการให้รางวัลเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น

ผู้บริหารท่านนี้บอกชัดเจนมากว่า ช่วงเวลาแบบนี้ ผู้บริหารนี่แหละเป็นกลไกสำคัญอย่างมาก ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงองค์กรจริงๆ ผู้บริหารก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิธีการทำงานด้วย และเข้มงวดกับเรื่องผลงานอย่างจริงจัง

ผลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้เกิดอัตราการลาออกขึ้น พนักงานกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่ค่อยสร้างผลงาน ไม่สามารถสร้างผลงานที่ตกลงกันไว้ได้ ก็เริ่มมีการขยับขยายเปลี่ยนงานกันออกไป เริ่มมีการรับพนักงานใหม่เข้ามามากขึ้น องค์กรเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง มีแนวคิดใหม่ มีระบบงานใหม่ๆ และสุดท้ายก็มีผลงานแบบใหม่ๆ ออกมาให้เราได้เห็นกัน ท่านผู้บริหารก็ได้สรุปให้ฟังว่า “การ ไม่มีใครลาออกเลยไม่ดีหรอกครับ องค์กรก็ต้องถ่ายเลือดเหมือนคน เอาเลือดเสียๆ ออกไปบ้าง เพื่อที่จะมีการสร้างเลือดใหม่ขึ้นมา ร่างกายจะได้แข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น องค์กรก็เช่นกันครับ”



บทความโดย : คุณประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 5828
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การพาพนักงานไป Outing ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการหลัก ๆ ที่หลายองค์กรมี เพื่อดึงดูดพนักงานทั้งภายในและภายนอกให้อยากมาร่วมงานกันด้วย โดยวัตถุประสงค์หลักของการไป Outing ก็เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และเพื่อตอบแทนพนักงาน ให้ได้ผ่อนคลายจากการทำงานประจำวันอันตึงเครียดมายาวนาน โดยที่บริษัทจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมด
ระบบลงเวลาเข้า-ออกของพนักงาน คือ ระบบที่ช่วยในการบันทึกเวลาการทำงานของพนักงาน ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ (Finger Scanner), สมาร์ทโฟน (Smart Phone), แท็บเล็ต (Tablet), ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน ปลอดภัย และเชื่อมต่อสู่ระบบข้อมูลกลางอย่างระบบคลาวด์ (Cloud System) ได้ โดยจะระบุเวลาที่พนักงานเข้ามาทำงานและออกจากงานในแต่ละวัน ดูสถิติ ขาด ลา มาสาย ระบบนี้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเวลาและการทำงานของพนักงาน ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) และฝ่ายบริหารสามารถติดตามการทำงานของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ข้อมูลที่บันทึกเพื่อคำนวณเงินเดือน สวัสดิการ ค่าล่วงเวลา และการจัดทำรายงานการเข้างานได้อย่างแม่นยำ ตอบโจทย์การทำงานในธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกร้อง ค่าชดเชยจากนายจ้าง อันนี้เป็นสิทธิ์ของเรานะ พี่ทุยบอกเลยว่า เงินค่าชดเชย เป็นสิ่งที่นายจ้าง ต้องจ่าย ให้กับพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือในกรณีให้ออกจากงาน ซึ่งไม่ได้มาจากทำความผิดของพนักงานหรือลูกจ้าง แต่อาจจะด้วยเหตุผลบางอย่างที่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง
ในแต่ละเดือนที่เราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนั้น ก็จะมีเงินส่วนหนึ่งที่จัดเก็บเข้าเป็นเงินสะสมประกันสังคม ซึ่งเงินส่วนนี้เองเราสามารถเช็คเงินสะสมประกันสังคมได้เองผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย มาดูกันครับว่าทำยังไง แล้วยอดเงินประกันสังคมนี้ทำอะไรได้บ้าง

Employee Referral Program หรือ โครงการแนะนำพนักงาน คือระบบที่องค์กรใช้เพื่อกระตุ้นให้พนักงานที่ทำงานอยู่แนะนำบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับ โดยทั่วไปโครงการนี้มักมีการมอบรางวัลหรือโบนัสให้กับพนักงานที่แนะนำคนที่ถูกคัดเลือกและรับเข้าทำงานในองค์กรสำเร็จ โครงการแนะนำพนักงานนี้มีข้อดีหลายประการ เช่น การลดต้นทุนในการจ้างงาน เพิ่มคุณภาพของผู้สมัคร และสร้างความผูกพันให้กับพนักงานในองค์กร
การจัดกะพนักงาน คือ กระบวนการวางแผนและจัดระเบียบเวลาทำงานของพนักงานให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กรในแต่ละช่วงเวลา โดยแบ่งเวลาทำงานออกเป็นหลายช่วง (หรือหลายกะ) เพื่อให้มีพนักงานเพียงพอในการปฏิบัติงานตลอดเวลา เช่น ในกรณีขององค์กรที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงหรือมีความต้องการกำลังคนที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์