พนักงานรักองค์กร หรือ ไปไหนไม่ได้กันแน่

พนักงานรักองค์กร หรือ ไปไหนไม่ได้กันแน่



ทุกองค์กรย่อมอยากที่จะให้พนักงานของตนนั้น มีความรักองค์กร ซึ่งความรักองค์กรนั้น คนส่วนใหญ่มักจะมองจากการที่พนักงานอยู่ทำงานกับบริษัทนานๆ ไม่เปลี่ยนงาน หรือย้ายงานไปไหน ยังคงอยู่ทำงานกับองค์กรไปเรื่อยๆ จนเกษียณอายุ

ประเด็นก็คือ การที่พนักงานไม่ลาออกจากองค์กรเลยนั้น แปลว่า พนักงานคนนั้นรักองค์กรจริงๆ หรือ หรือแปลว่า พนักงานคนนั้น ไม่สามารถที่จะไปไหนได้กันแน่

ลักษณะของพนักงานที่รักองค์กรจริงๆ เป็นอย่างไรบ้าง

• เสนอแนวทางการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานที่ดีขึ้นอยู่เสมอ พนักงานที่มีความรักต่อองค์กรจริงๆ นั้น ไม่ใช่แค่เพียงอยู่นานเท่านั้น ยังเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง มักจะชอบคิดอะไรใหม่ๆ และนำเสนอสิ่งที่ดีขึ้นๆ ให้กับบริษัทเสมอ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ ระบบงานใหม่ๆ หรือเครื่องมือในการทำงานใหม่ๆ ที่จะทำให้งานของตน และของบริษัทพัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่อง

• เปลี่ยนปลงตนเองอยู่เสมอ พนักงานที่รักองค์กรจริงๆ มักจะเป็นคนที่ชอบการเปลี่ยนแปลง เวลามีอะไรดีๆ ต่อองค์กร ไม่ว่าจะเป็นระบบงานใหม่ๆ เข้ามา ก็มักจะชอบ และยินดีที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองให้เข้ากับระบบงานใหม่ๆ อยู่เสมอ ผิดกับพนักงานที่อยู่ทำงานนานๆ และอ้างว่ารักองค์กร ก็มักจะชอบต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่มีผลกระทบต่อการทำงานของตนเอง เรียกว่า อย่ามาทำให้ตนเองต้องมีความยุ่งยากในการทำงาน หรือต้องเปลี่ยนแปลงตนเองในการทำงานเลย

• องค์กรมีปัญหามักจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา พนักงานที่มีความรักองค์กรจริงๆ มักจะเป็นคนที่ชอบเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในเวลาที่องค์กรเกิดปัญหาต่างๆ ขึ้น โดยที่ไม่ต้องสั่งการอะไร พนักงานคนนี้ก็จะเสนอแนวทาง แนวคิดต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งบางครั้งก็ยอมที่จะเสียสละเวลา หรือทรัพยากรบางอย่างที่เป็นของส่วนตัว เพื่อมาทำให้องค์กรดีขึ้น

• ทุ่มเททำงานให้กับองค์กรอย่างเต็มที่ คนที่รักองค์กรจริงๆ มักจะทำงานทุ่มเทให้กับองค์กร แบบว่า ไม่สนใจว่าจะได้เงินเดือนเท่าไหร่ สิ่งที่ทำให้กับองค์กรนั้นมักจะทำเกินกว่าเงินเดือนที่ได้รับอยู่เสมอ ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นคนที่มักจะให้ความช่วยเหลือแก่คนอื่นๆ ในองค์กรอยู่เสมอ โดยที่ไม่มีข้ออ้างว่า ธุระไม่ใช่ หรือนี่ไม่ใช่หน้าที่ความรับผิดชอบของตน

• ภูมิใจในความสำเร็จขององค์กร พนักงานที่รักและผูกพันกับองค์กรนั้น มักจะรู้สึกภาคภูมิใจไปกับองค์กรเวลาที่องค์กรประสบความสำเร็จในการทำงาน และจะรู้สึกแย่ รวมทั้งคอยปกป้ององค์กร เวลาที่มีใครมาด่าว่า หรือพูดถึงองค์กรในทางที่เสียหาย ผิดกับพนักงานที่อยู่ไปเรื่อยๆ แต่อ้างว่ารักองค์กร เวลาที่องค์กรประสบความสำเร็จอะไร ก็ไม่ค่อยจะสนใจ และใส่ใจ บางรายไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่า องค์กรประสบความสำเร็จในเรื่องอะไรบ้าง อีกทั้งเวลาที่มีคนอื่นมาให้ร้ายองค์กร ก็มักจะเข้าร่วมนินทาให้ร้ายองค์กรไปกับเขาด้วย ทั้งๆ ที่ตนเองก็ทำงานอยู่ในองค์กรนี้

ส่วนพนักงานที่อยู่นานอย่างเดียว และอ้างว่ารักองค์กร ส่วนใหญ่ก็มักจะมีพฤติกรรมตรงข้ามกับข้างต้นที่กล่าวมา แต่หลักๆ ก็น่าจะมีดังนี้

• อยู่นาน แต่ไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไร เป็นประเภทกลัวว่าการเปลี่ยนแปลงจะทำให้ตนเองต้องยุ่งยาก และลำบากมากขึ้นในการทำงาน ทำงานแบบเดิมๆ มันก็ดีอยู่แล้ว ไม่รู้จะเปลี่ยนแปลงไปทำไม

• อยู่เฉยๆ ไม่ใช่เรื่องของตน พนักงานที่อ้างว่ารักองค์กร ก็มักจะเป็นพวกที่เวลาองค์กรมีปัญหา ก็มักจะอยู่เฉยๆ ไม่เข้ามาช่วยเหลืออะไร ยิ่งไปกว่านั้นในบางครั้งยังทำให้องค์กรยิ่งแย่ไปกว่าเดิม เข้าทำนองว่าซ้ำเติมองค์กรตนเอง นอกจากนั้นมักจะมีทัศนคติแบบว่า ไม่ใช่เรื่องของฉัน ฉันไม่เกี่ยว เวลาที่องค์รประสบกับปัญหา ก็เผ่นก่อน โดยไม่สนใจว่า จะมีส่วนเข้ามาช่วยเหลือองค์กรได้อย่างไร

• ชอบนินทาองค์กรให้คนอื่นฟัง พนักงานที่อยู่นานอย่างเดียว แต่ไม่รักองค์กรเลย ก็มักจะชอบนินทาองค์กรที่ตนเองทำงานอยู่นี่แหละครับ ให้คนอื่นฟังว่า ไม่ดีอย่างไร มีสิ่งที่ต้องปรับปรุงมากมาย โน่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ใช่ ไม่มีอะไรดีเลยสักนิด แต่ก็แปลกที่ยังทำงานอยู่กับองค์กร ไม่ยอมไปไหน ส่วนใหญ่ก็เข้าข่ายที่ว่า ไปไหนไม่ได้ เพราะทัศนคติแบบนี้ คงไม่มีองค์กรไหนอยากรับเข้าทำงานแน่นอนครับ

การที่องค์กรของเราไม่ค่อยมีพนักงานลาออกเลย หรือตัวชี้วัดทางด้านอัตราการลาออกดีมาก ก็ไม่ได้หมายความว่า พนักงานของเราจะรักองค์กรทุกคนนะครับ ลองสังเกตพฤติกรรมของพนักงานดูก็ได้ครับ ว่าเข้าข่ายไหนตามลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น

ถ้าส่วนใหญ่เข้าข่ายหลัง แสดงว่า พนักงานกลุ่มนี้ไม่มีที่จะไปมากกว่าครับ



บทความโดย : คุณประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 8554
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การพาพนักงานไป Outing ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการหลัก ๆ ที่หลายองค์กรมี เพื่อดึงดูดพนักงานทั้งภายในและภายนอกให้อยากมาร่วมงานกันด้วย โดยวัตถุประสงค์หลักของการไป Outing ก็เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และเพื่อตอบแทนพนักงาน ให้ได้ผ่อนคลายจากการทำงานประจำวันอันตึงเครียดมายาวนาน โดยที่บริษัทจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมด
ระบบลงเวลาเข้า-ออกของพนักงาน คือ ระบบที่ช่วยในการบันทึกเวลาการทำงานของพนักงาน ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ (Finger Scanner), สมาร์ทโฟน (Smart Phone), แท็บเล็ต (Tablet), ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน ปลอดภัย และเชื่อมต่อสู่ระบบข้อมูลกลางอย่างระบบคลาวด์ (Cloud System) ได้ โดยจะระบุเวลาที่พนักงานเข้ามาทำงานและออกจากงานในแต่ละวัน ดูสถิติ ขาด ลา มาสาย ระบบนี้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเวลาและการทำงานของพนักงาน ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) และฝ่ายบริหารสามารถติดตามการทำงานของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ข้อมูลที่บันทึกเพื่อคำนวณเงินเดือน สวัสดิการ ค่าล่วงเวลา และการจัดทำรายงานการเข้างานได้อย่างแม่นยำ ตอบโจทย์การทำงานในธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกร้อง ค่าชดเชยจากนายจ้าง อันนี้เป็นสิทธิ์ของเรานะ พี่ทุยบอกเลยว่า เงินค่าชดเชย เป็นสิ่งที่นายจ้าง ต้องจ่าย ให้กับพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือในกรณีให้ออกจากงาน ซึ่งไม่ได้มาจากทำความผิดของพนักงานหรือลูกจ้าง แต่อาจจะด้วยเหตุผลบางอย่างที่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง
ในแต่ละเดือนที่เราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนั้น ก็จะมีเงินส่วนหนึ่งที่จัดเก็บเข้าเป็นเงินสะสมประกันสังคม ซึ่งเงินส่วนนี้เองเราสามารถเช็คเงินสะสมประกันสังคมได้เองผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย มาดูกันครับว่าทำยังไง แล้วยอดเงินประกันสังคมนี้ทำอะไรได้บ้าง

Employee Referral Program หรือ โครงการแนะนำพนักงาน คือระบบที่องค์กรใช้เพื่อกระตุ้นให้พนักงานที่ทำงานอยู่แนะนำบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับ โดยทั่วไปโครงการนี้มักมีการมอบรางวัลหรือโบนัสให้กับพนักงานที่แนะนำคนที่ถูกคัดเลือกและรับเข้าทำงานในองค์กรสำเร็จ โครงการแนะนำพนักงานนี้มีข้อดีหลายประการ เช่น การลดต้นทุนในการจ้างงาน เพิ่มคุณภาพของผู้สมัคร และสร้างความผูกพันให้กับพนักงานในองค์กร
การจัดกะพนักงาน คือ กระบวนการวางแผนและจัดระเบียบเวลาทำงานของพนักงานให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กรในแต่ละช่วงเวลา โดยแบ่งเวลาทำงานออกเป็นหลายช่วง (หรือหลายกะ) เพื่อให้มีพนักงานเพียงพอในการปฏิบัติงานตลอดเวลา เช่น ในกรณีขององค์กรที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงหรือมีความต้องการกำลังคนที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์