เด็กรุ่นใหม่ เป็นแบบนี้จริงๆ หรือ

เด็กรุ่นใหม่ เป็นแบบนี้จริงๆ หรือ



เนื่องจากได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูง และผู้จัดการฝ่ายบุคคลของหลายๆ องค์กรในช่วงที่ผ่านมา และผมเองก็ได้สอบถามท่านเหล่านี้ไปว่า เรื่องอะไรที่ช่วงนี้หนักใจมากหน่อยในเรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กร

คำตอบที่ได้มาก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่พอสมควร แต่มีอยู่ 1 คำตอบที่เกือบทุกท่านตอบเหมือนกันเลย ก็คือ เรื่องของพฤติกรรมการทำงานของเด็กรุ่นใหม่ (ที่เพิ่งจบการศึกษา) และต่างก็บอกถึงพฤติกรรมที่เหมือนกันอีก มีอะไรบ้างผมจะเล่าให้อ่านกันครับ

• ขอเงินเดือนสูงๆ เด็กกลุ่มนี้มาพร้อมกับการขอเงินเดือนสูงปรี๊ด แบบไม่สนใจเรื่องงาน หรือเรื่องอื่นๆ เลย เอาเรื่องเงินไว้ก่อน บางครั้งถามเรื่องงาน ก็อึ้งๆ ถามความรู้รอบตัว ก็ลังเล ถามว่ารู้มั้ยว่าบริษัทที่มานั่งอยู่นี่ ทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร ส่วนใหญ่ตอบไม่ได้เลย แต่พอให้ถามกลับ เกือบทุกคนถามคำถามแรกออกมาเหมือนกันหมด ก็คือ ให้เงินเดือนเท่าไหร่ โดยไม่ถามเลยว่า งานที่สมัครมานั้น ต้องทำอะไร มีหน้าที่และความรับผิดชอบอะไรบ้าง ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเงินเดือนไม่ได้ตามที่ขอ ก็จะไม่ทำ ประเด็นก็คือ ทำไมคนที่เพิ่งจบการศึกษาใหม่ๆ ประสบการณ์ในการทำงานก็ยังไม่มี จึงกล้าที่จะต่อรองเรื่องของเงินเดือนกับบริษัท ในอัตราสูงมากๆ ทั้งๆ ที่ยังทำอะไรไม่เป็นเลย

• มาทำงานสาย “เด็กที่เพิ่งจบใหม่ น่าจะมีไฟแรงในการทำงาน” มีผู้บริหารบอกผมแบบนี้ “แต่ ทำไมเด็กรุ่นหลังๆ ถึงไม่ค่อยใส่ใจที่จะอยากมาทำงาน เวลามาทำงาน ก็จะมาสาย หรือเกือบถึงเวลาเข้างาน ไม่เหมือนคนรุ่นก่อน ที่มักจะมาก่อนเวลาเสมอ” นี่ก็เป็นอีกประโยคของผู้บริหารที่ผมเอามาบอกเล่าให้อ่านกัน ถ้าบริษัทที่มีการลงเวลาทำงาน ก็มักจะมาสายกันน้อยหน่อย ผิดกับบางบริษัทที่ให้รับผิดชอบตนเอง โดยไม่ต้องลงเวลาในการทำงาน แต่ต้องมาทำงานในเวลาที่กำหนด ผลก็คือ เด็กรุ่นใหม่ 4 คน จะมี 1 คนเท่านั้นที่มาทำงานก่อนหรือตรงเวลาเป๊ะ ที่เหลือ สายหมด เพราะคิดว่า บริษัทไม่ต้องลงเวลา ดังนั้นก็ไม่ต้องมาทำงานให้ตรงเวลา

• ไม่ใส่ใจทำงาน อีกเรื่องที่มักจะได้ยินได้ฟังกันมาบ่อยๆ ก็คือ เด็กรุ่นใหม่ ไม่ค่อยใส่ใจทำงานกันสักเท่าไหร่ แต่จะใส่ใจกับ Social Network ดังนั้นที่ผู้บริหารเห็นก็คือ วันๆ จะไม่ค่อยเห็นทำงาน แต่จะเห็นว่าเล่นแต่ Facebook เล่นแต่ Line ซึ่งก็ไม่ได้มีสาระอะไร เคยมีผู้บริหารท่านหนึ่งบอกว่า อยากจะให้ทำวิจัยจริงๆ เลยว่า วันๆ นึงที่พนักงานเข้ามาทำงานในบริษัทนั้น เวลาที่ทำงานแบบจริงๆ ให้กับบริษัทเป็นเวลาสักกี่ชั่วโมง เพราะส่วนใหญ่ผู้บริหารมักจะเชื่อว่า เวลา 8 ชั่วโมงที่กำหนดไว้นั้น จริงๆ แล้วทำงานไม่ถึงครึ่งเลยด้วยซ้ำไป มีผู้บริหารท่านหนึ่งบอกผมมาประมาณนี้ครับ “มา ก็สาย เริ่มงานก็ช้า แถมยังเล่นอย่างอื่นเวลางาน พอจะเริ่มงานจริงๆ ก็ได้เวลากินข้าว กินข้าวก็ไปชอปปิ้งจนเลยเวลา ขึ้นมาก็บอกยังไม่พร้อมคุยกับเพื่อนในไลน์ก่อน สักพักบอกง่วง เลยไปหากาแฟกิน ระหว่างกินก็คุยกับเพื่อนคนอื่นในห้องกาแฟ สักพักก็เดินมาเพื่อที่จะลงมือทำงาน เหลือบดูนาฬิกา ปรากฏว่า จะห้าโมงแล้ว ก็เลยนั่งเก็บของ เตรียมพร้อมที่จะออกจากบริษัททันที”

• เตรียมตัวเลิกงานแต่เนิ่นๆ อีก พฤติกรรมหนึ่งที่เห็นบ่อยมาก ก็คือ พอถึงเวลาอีก 1 ชั่วโมงจะเลิกงาน พนักงานกลุ่มนี้ก็จะเดินไปเดินมา เข้าห้องน้ำ แต่งตัว แต่งหน้า เก็บของ คุยกับเพื่อนโต๊ะข้างๆ ฯลฯ ราวกับว่าเลิกงานแล้ว จากนั้นก็จะดูเวลาบ่อยๆ พอห้าโมงตรงเป๊ะ ก็เปิดประตูบริษัทออกไปทันที ราวกับว่ากลัวจะเสียเปรียบบริษัทที่ต้องทำงานเกินเวลาที่กำหนด ทั้งๆ ที่บางคน กว่าจะมาทำงาน ก็เรียกได้ว่า แทบจะต้องลากตัวเองมาทำงาน ประเภทช่วงเช้ามาทำงานก็มีพฤติกรรมเหมือนเต่า ค่อยต้วมเตี้ยมมาเรื่อยๆ แต่พอเวลาเลิกงาน กลับพุ่งออกจากบริษัทราวกับกระต่าย

• ทุกกิจกรรมที่ทำจะต้องบอกให้คนอื่นรู้ อีกพฤติกรรมหนึ่งที่ผู้บริหารสังเกตเห็นก็คือ ไม่ว่าจะทำอะไร ดูอะไร หรือไม่พอใจอะไร จะต้องมีการถ่ายรูป หรือไม่ก็ต้องโพสขึ้น facebook เพื่อบอกให้คนอื่นรู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่ บางคนไปชงกาแฟมา ก็ถ่ายรูปกาแฟที่ชง แล้วก็โพสขึ้นเฟสบุ๊ค บางคนไปห้องน้ำยังต้องบอก ฯลฯ ถ้าเอาเวลาพวกนี้ไปทำงานก็คงได้งานมากขึ้นอีกเยอะเลย

สิ่งที่ผู้บริหารกลุ่มนี้ย้ำมาอีกครั้งก็คือ ด้วยพฤติกรรมแบบนี้ แต่กลับมาขอเงินเดือนสูงๆ แล้วใครจะอยากให้ ก็ต้องไปชะลอเงินเดือนลงด้วยระบบการประเมินผลงานในแต่ละปี ใครที่มีพฤติกรรมข้างต้น ก็มักจะถูกประเมินผลงานออกมาไม่ค่อยดีนัก เพราะไม่มีผลงานอะไรให้เห็น

ประเด็นที่ผมสงสัยมากก็คือ เด็กรุ่นใหม่ มีพฤติกรรมแบบนี้จริงๆ หรือ หรือว่าเป็นสิ่งที่เราคิดไปเอง หรือเป็นแค่คนส่วนน้อย แต่ทำพฤติกรรมไม่ดี ก็เลยติดตาเรา ทำให้เราเหมารวมไปหมดว่าเป็นแบบนี้ทุกคน



บทความโดย : คุณประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 5967
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การพาพนักงานไป Outing ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการหลัก ๆ ที่หลายองค์กรมี เพื่อดึงดูดพนักงานทั้งภายในและภายนอกให้อยากมาร่วมงานกันด้วย โดยวัตถุประสงค์หลักของการไป Outing ก็เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และเพื่อตอบแทนพนักงาน ให้ได้ผ่อนคลายจากการทำงานประจำวันอันตึงเครียดมายาวนาน โดยที่บริษัทจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมด
ระบบลงเวลาเข้า-ออกของพนักงาน คือ ระบบที่ช่วยในการบันทึกเวลาการทำงานของพนักงาน ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ (Finger Scanner), สมาร์ทโฟน (Smart Phone), แท็บเล็ต (Tablet), ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน ปลอดภัย และเชื่อมต่อสู่ระบบข้อมูลกลางอย่างระบบคลาวด์ (Cloud System) ได้ โดยจะระบุเวลาที่พนักงานเข้ามาทำงานและออกจากงานในแต่ละวัน ดูสถิติ ขาด ลา มาสาย ระบบนี้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเวลาและการทำงานของพนักงาน ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) และฝ่ายบริหารสามารถติดตามการทำงานของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ข้อมูลที่บันทึกเพื่อคำนวณเงินเดือน สวัสดิการ ค่าล่วงเวลา และการจัดทำรายงานการเข้างานได้อย่างแม่นยำ ตอบโจทย์การทำงานในธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกร้อง ค่าชดเชยจากนายจ้าง อันนี้เป็นสิทธิ์ของเรานะ พี่ทุยบอกเลยว่า เงินค่าชดเชย เป็นสิ่งที่นายจ้าง ต้องจ่าย ให้กับพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือในกรณีให้ออกจากงาน ซึ่งไม่ได้มาจากทำความผิดของพนักงานหรือลูกจ้าง แต่อาจจะด้วยเหตุผลบางอย่างที่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง
ในแต่ละเดือนที่เราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนั้น ก็จะมีเงินส่วนหนึ่งที่จัดเก็บเข้าเป็นเงินสะสมประกันสังคม ซึ่งเงินส่วนนี้เองเราสามารถเช็คเงินสะสมประกันสังคมได้เองผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย มาดูกันครับว่าทำยังไง แล้วยอดเงินประกันสังคมนี้ทำอะไรได้บ้าง

Employee Referral Program หรือ โครงการแนะนำพนักงาน คือระบบที่องค์กรใช้เพื่อกระตุ้นให้พนักงานที่ทำงานอยู่แนะนำบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับ โดยทั่วไปโครงการนี้มักมีการมอบรางวัลหรือโบนัสให้กับพนักงานที่แนะนำคนที่ถูกคัดเลือกและรับเข้าทำงานในองค์กรสำเร็จ โครงการแนะนำพนักงานนี้มีข้อดีหลายประการ เช่น การลดต้นทุนในการจ้างงาน เพิ่มคุณภาพของผู้สมัคร และสร้างความผูกพันให้กับพนักงานในองค์กร
การจัดกะพนักงาน คือ กระบวนการวางแผนและจัดระเบียบเวลาทำงานของพนักงานให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กรในแต่ละช่วงเวลา โดยแบ่งเวลาทำงานออกเป็นหลายช่วง (หรือหลายกะ) เพื่อให้มีพนักงานเพียงพอในการปฏิบัติงานตลอดเวลา เช่น ในกรณีขององค์กรที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงหรือมีความต้องการกำลังคนที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์