ระบบ Career Path ที่ดีจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

ระบบ Career Path ที่ดีจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง



จากที่เคยได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องของจะให้พนักงานโตที่นี่ หรือให้ไปโตที่อื่น ก็มีท่านผู้อ่านเขียนมาคุยกันเยอะครับ มีประเด็นที่สอบถามมาเยอะก็คือถ้าจะให้พนักงานเติบโตในองค์กรของเรา แสดงว่าเราจะต้องวาง Career Path ให้ชัดเจนใช่หรือไม่

คำตอบก็คือ ใช่ครับ องค์กรจะต้องมีการวางเส้นทางความก้าวหน้าสายอาชีพของตำแหน่งงานที่เป็นตำแหน่งสายอาชีพขององค์กรไว้ เพื่อที่จะทำให้พนักงานที่ทำงานในตำแหน่งงานหลักเหล่านี้ ได้มีเส้นทางในการเติบโตได้ในองค์กร ตามผลงาน ทักษะ ความรู้และความสามารถที่เพิ่มสูงขึ้นของพนักงาน และเมื่อพนักงานรับทราบว่าองค์กรมีเส้นทางให้โต เขาก็จะมีแนวโน้มที่จะโตในองค์กร โดยไม่ไปโตที่อื่น

แต่อย่างไรก็ดี ระบบ Career Path ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น การที่จะทำแต่ Career Path อย่างเดียวนั้น มันไม่ได้ผลครับ กล่าวคือ องค์กรมีการจัดทำว่า ตำแหน่งงานสายอาชีพต่างๆ นั้น มีเส้นทางการโตอย่างไร จาก เจ้าหน้าที่ 1 ไปเป็นเจ้าหน้า 2 และไปเป็น เจ้าหน้าที่อาวุโส ฯลฯ จะต้องมีเกณฑ์อะไรบ้าง ถ้าทำแค่นี้ ก็จะมีแค่เพียงเส้นทางความก้าวหน้าที่อยู่ในกระดาษเฉยๆ พนักงานก็แค่เห็นภาพเท่านั้น แต่จะโตได้จริงๆ หรือไม่จริงนั้น ระบบ Career Path ที่ดีจะต้องมีระบบอื่นๆ เข้ามารองรับด้วยเสมอ ก็คือ

• ระบบการประเมินผลงานที่ดี ระบบนี้เป็นระบบแรกเลยที่องค์กรจะต้องทำให้ชัดเจน และเป็นธรรม โดยที่ระบบจะต้องพิจารณาผลงานของพนักงานอย่างเห็นได้ชัด ว่าพนักงานแต่ละคนนั้นทำผลงานออกมาเป็นอย่างไรบ้าง ดีหรือไม่ดีอย่างไร มีจุดแข็ง และจุดอ่อนอะไรบ้าง รวมทั้งมีศักยภาพสักแค่ไหน เพราะถ้าระบบประเมินผลงานขององค์กรไม่ดี และไม่สามารถมองพนักงานออกได้ว่ามีผลงานดีสักแค่ไหน เราก็ไม่สามารถเอาข้อมูลเหล่านี้ไปพิจารณาเรื่องของความก้าวหน้าทางสายอาชีพ ของพนักงานได้เลย เช่นประเมินออกมาแล้วได้ A กันทั้งฝ่าย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า คนไหนควรจะเติบโตอย่างแท้จริง จริงมั้ยครับ สุดท้ายก็ไปใช้แค่จำนวนปีที่ทำงาน พอทำงานครบตามจำนวนปี ก็ได้เลื่อนระดับกันขึ้นไป โดยไม่ได้ดูความสามารถที่แท้จริงของพนักงานเลย

• ระบบการพัฒนาพนักงานที่ดี อีกระบบหนึ่งที่จะต้องมีพร้อมก่อนที่จะมี Career Path ก็คือ ระบบการพัฒนาพนักงานที่ดี และชัดเจน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Competency มาใช้กำหนดแนวทางในการพัฒนา ซึ่งถ้าเราสามารถทำระบบ competency ได้จริงๆ เราจะสามารถเอา competency แต่ละตัวมากำหนดเป็นเกณฑ์ในการที่จะได้รับการเลื่อนระดับตามสายอาชีพได้ กล่าวคือ นอกจากผลงานที่ต้องทำได้ตามเป้าหมายแล้ว พฤติกรรมที่แสดงออกของพนักงานก็ต้องเป็นไปตามที่องค์กรคาดหวังด้วยเช่นกัน และถ้าผลงานไม่ได้ พฤติกรรมไม่ดี ด้วยระบบนี้ก็จะสามารถกำหนดแนวทางในการพัฒนาพนักงานแต่ละคนได้ว่า จะต้องพัฒนาอะไรบ้าง เพื่อที่จะไปอุดช่องว่างให้เต็ม เพื่อที่จะได้เข้าข่ายได้รับการเลื่อนระดับตามสายอาชีพได้ การจะทำให้ได้ดังที่กล่าวมา ก็ต้องย้อนกลับไปที่ระบบประเมินผลงานอีก รวมทั้งห้วหน้าที่ทำการประเมินก็ต้องพิจารณาจากผลงานและพฤติกรรมจริงๆ ของพนักงานที่แสดงออกมา

• มีระบบค่าตอบแทนที่สอดคล้องกับเส้นทางการเติบโต ก็คือ เมื่อมีการเลื่อนระดับตามสายอาชีพแล้ว เรื่องของค่าจ้างเงินเดือนก็ควรจะมีระบบรองรับด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองได้รับความเป็นธรรมในเรื่องค่าจ้าง เนื่องจากการเลื่อนระดับให้สูงขึ้นนั้นแปลว่า จะต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเรื่องของค่าจ้างเงินเดือนก็ต้องตอบแทนความยากที่มากขึ้นด้วย บางองค์กรเลื่อนระดับให้พนักงานไปแล้ว แต่ไม่มีงานอะไรที่ยากขึ้นเลย ยังคงทำงานเหมือนเดิม แต่กลับได้ค่าจ้างที่สูงขึ้น แบบนี้ก็ไม่เป็นธรรมกับองค์กรเช่นกัน

• มีระบบการบริหารเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ที่ชัดเจน เมื่อมีทุกอย่างแล้ว องค์กรก็จะต้องสร้างระบบในการบริหารกฎเกณฑ์เหล่านี้ให้รัดกุม และต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด โดยให้มีข้อยกเว้นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่มีระบบ มีกฎเกณฑ์แล้ว แต่ไม่เดินตามกฎ ใครใหญ่ หรือใครอยากจะให้ใครเลื่อนระดับไปไหน ก็เอาเหตุผลส่วนตัวเข้ามาอธิบาย โดยไม่ใช้ผลงาน หรือ Competency ที่กำหนดไว้เลย หรือไม่ถ้าใช้ ก็ใช้แบบเข้าข้างตัวเองว่าพนักงานคนนี้พร้อมแล้ว โดยอ้างเหตุผลง่ายๆ ว่า ถ้าไม่เลื่อน เขาก็จะออกไปที่อื่น โดยไม่สนใจว่าพนักงานเองมีความพร้อมจริงๆ หรือไม่

ดังนั้นถ้าองค์กรของท่านอยากจะทำ Career Path ให้สำเร็จอย่างจริงจัง และใช้การได้จริงๆ ก็ต้องไม่ลืมพัฒนาระบบ HR ในด้านต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นไปด้วย มิฉะนั้นแล้ว ท่านจะได้พนักงานที่เติบโตขึ้นไปแค่ตัวชื่อตำแหน่ง แต่งานยังคงเหมือนเดิม ยิ่งไปกว่านั้นองค์กรยังต้องจ่ายค่าจ้างให้พนักงานที่สูงขึ้นอีกด้วย

นอกจากนั้นแล้ว ถ้าระบบเหล่านี้ไม่ถูกพัฒนาให้ดีก่อน เราจะไม่มีเกณฑ์ในการพิจารณาพนักงานในการเลื่อนระดับตามสายอาชีพเลย สุดท้ายก็จะกลับไปใช้เรื่องของอายุงานอยู่ดี ซึ่งไม่สะท้อนให้เห็นถึงฝีมือ และศักยภาพเลยครับ



บทความโดย : คุณประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 10560
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การพาพนักงานไป Outing ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการหลัก ๆ ที่หลายองค์กรมี เพื่อดึงดูดพนักงานทั้งภายในและภายนอกให้อยากมาร่วมงานกันด้วย โดยวัตถุประสงค์หลักของการไป Outing ก็เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และเพื่อตอบแทนพนักงาน ให้ได้ผ่อนคลายจากการทำงานประจำวันอันตึงเครียดมายาวนาน โดยที่บริษัทจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมด
ระบบลงเวลาเข้า-ออกของพนักงาน คือ ระบบที่ช่วยในการบันทึกเวลาการทำงานของพนักงาน ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ (Finger Scanner), สมาร์ทโฟน (Smart Phone), แท็บเล็ต (Tablet), ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน ปลอดภัย และเชื่อมต่อสู่ระบบข้อมูลกลางอย่างระบบคลาวด์ (Cloud System) ได้ โดยจะระบุเวลาที่พนักงานเข้ามาทำงานและออกจากงานในแต่ละวัน ดูสถิติ ขาด ลา มาสาย ระบบนี้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเวลาและการทำงานของพนักงาน ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) และฝ่ายบริหารสามารถติดตามการทำงานของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ข้อมูลที่บันทึกเพื่อคำนวณเงินเดือน สวัสดิการ ค่าล่วงเวลา และการจัดทำรายงานการเข้างานได้อย่างแม่นยำ ตอบโจทย์การทำงานในธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกร้อง ค่าชดเชยจากนายจ้าง อันนี้เป็นสิทธิ์ของเรานะ พี่ทุยบอกเลยว่า เงินค่าชดเชย เป็นสิ่งที่นายจ้าง ต้องจ่าย ให้กับพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือในกรณีให้ออกจากงาน ซึ่งไม่ได้มาจากทำความผิดของพนักงานหรือลูกจ้าง แต่อาจจะด้วยเหตุผลบางอย่างที่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง
ในแต่ละเดือนที่เราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนั้น ก็จะมีเงินส่วนหนึ่งที่จัดเก็บเข้าเป็นเงินสะสมประกันสังคม ซึ่งเงินส่วนนี้เองเราสามารถเช็คเงินสะสมประกันสังคมได้เองผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย มาดูกันครับว่าทำยังไง แล้วยอดเงินประกันสังคมนี้ทำอะไรได้บ้าง

Employee Referral Program หรือ โครงการแนะนำพนักงาน คือระบบที่องค์กรใช้เพื่อกระตุ้นให้พนักงานที่ทำงานอยู่แนะนำบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับ โดยทั่วไปโครงการนี้มักมีการมอบรางวัลหรือโบนัสให้กับพนักงานที่แนะนำคนที่ถูกคัดเลือกและรับเข้าทำงานในองค์กรสำเร็จ โครงการแนะนำพนักงานนี้มีข้อดีหลายประการ เช่น การลดต้นทุนในการจ้างงาน เพิ่มคุณภาพของผู้สมัคร และสร้างความผูกพันให้กับพนักงานในองค์กร
การจัดกะพนักงาน คือ กระบวนการวางแผนและจัดระเบียบเวลาทำงานของพนักงานให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กรในแต่ละช่วงเวลา โดยแบ่งเวลาทำงานออกเป็นหลายช่วง (หรือหลายกะ) เพื่อให้มีพนักงานเพียงพอในการปฏิบัติงานตลอดเวลา เช่น ในกรณีขององค์กรที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงหรือมีความต้องการกำลังคนที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์