การวางรากฐานชีวิตให้กับพนักงานรายวัน

การวางรากฐานชีวิตให้กับพนักงานรายวัน



       ในสถานประกอบการหรือในองค์กรหลายๆ แห่ง จะมีพนักงานกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า “พนักงานรายวัน” ซึ่งหมายความว่า ลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน วันใดไม่ได้ทำงานก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง ยกเว้น วันหยุดนักขัตฤกษ์ หรือวันที่นายจ้างกำหนดให้เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปี จึงจะได้รับค่าจ้าง ซึ่งจะแตกต่างจาก“พนักงานรายเดือน” ซึ่งหมายความว่า ลูกจ้าง ซึ่งได้รับค่าจ้างเหมาจ่ายเป็นรายเดือน วันอาทิตย์หรือวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่ต้องมาทำงานก็ยังคงได้รับค่าจ้างตามปกติ รวมทั้งวันหยุดอื่นๆ อีกที่กำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของแต่ละองค์กร และหากเปรียบเทียบรายได้ระหว่างพนักงานรายวันกับพนักงานรายเดือน อัตราค่าจ้าง ขั้นต่ำ ณ ปัจจุบัน หากคิดในอัตราสูงสุด คือ วันละ 203 บาท เมื่อคูณกับจำนวนวันทำงาน 26 วันทำงาน พนักงานรายวันต่อหนึ่งชีวิตจะมีรายได้โดยเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 5,278 บาท ( ห้าพันสองร้อยเจ็ดสิบแปดบาทถ้วน ) ส่วนพนักงานรายเดือนนั้น หากคิดจากระดับการศึกษาวุฒิ ปริญญาตรี โดยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่ 8,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจะเห็นได้ว่าแตกต่างกันประมาณสองพันกว่าบาท

       จากรายละเอียดข้างต้น สิ่งที่บทความนี้ต้องการชี้ให้เห็นก็คือ ไม่ว่าสภาวะเศรษฐกิจ ของประเทศจะเป็นเช่นไร ปัญหาในการดำรงชีวิตของพนักงานรายวัน ก็ยังคงเป็นปัญหาหลัก ขององค์กรทุกองค์กร กล่าวคือ พนักงานรายวันโดยส่วนใหญ่ขาดโอกาสทางการศึกษาด้วยอาจ เป็นเพราะฐานะทางครอบครัวของพนักงานรายวันไม่เอื้ออำนวยที่จะให้พนักงานรายวันได้ศึกษา เล่าเรียนในระดับสูงได้ จึงจำเป็นจะต้องหารายได้ยังชีพของตัวเองและครอบครัวเป็นอันดับแรกก่อน และหากมีโอกาสหรือฐานะดีขึ้นจึงจะค่อยคิดถึงเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม

       ทำให้การเริ่มต้นทำงานกับสถานประกอบการหรือองค์กรใดๆ ก็มักจะว่าจ้างเป็นพนักงานรายวันก่อน ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรายได้ต่อเดือนของพนักงานรายวันแล้ว เปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเดินทาง ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมาย รายได้ของพนักงานรายวัน แทบจะไม่เหลือหรือไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่อเดือน หากพนักงานรายวันท่านนั้นไม่ทำงานล่วงเวลา ปัญหาที่ใหญ่ไปกว่านั้นและสำคัญที่สุด คือ พนักงานรายวันไม่สามารถวางแผนการใช้เงินหรือวางแผนการใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาหนี้สิน ปัญหาเรื่องครอบครัว ปัญหาเรื่องสุขภาพ และปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย

       ผมเองในฐานะเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในงานฝ่ายทรัพยากรบุคคล ได้มีโอกาสพูดคุย และได้มีโอกาสรับฟังปัญหาการดำรงชีวิตของพนักงานรายวันมาเกือบ 15 ปี ในทุกๆองค์กร มีความคิด เห็นว่า ถึงเวลาที่เจ้าของสถานประกอบการ ผู้ปรารถนาให้องค์กรของท่านมีธุรกิจที่ยั่งยืน มั่นคง และมีผลกำไร อย่างต่อเนื่อง จะช่วยกันหันมาให้การดูแลเอาใจใส่พนักงานรายวันของท่านอย่างจริงจังและจริงใจครับ โดยผมมีคำแนะนำ ดังต่อไปนี้

       1.พนักงานรายวันส่วนใหญ่ขาดความคิดในการวางแผนชีวิตที่ดี มักจะมีชีวิตวันต่อวัน ไม่มีการวางแผนในระยะสั้น หรือในระยะยาว องค์กรจึงต้องจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องการวางแผนชีวิตให้กับพนักงานรายวันนับตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงานกับสถานประกอบการนั้นๆ

       2.พนักงานรายวันมักมีทัศนคติต่อตัวเองที่ไม่ค่อยดี ไม่มีความภาคภูมิใจในตนเอง ขาดความเชื่อมั่นในตนเองสูง ดูถูกตนเอง มักจะรอคอยโชค หรือฝากชีวิตไว้กับหวยหรือการเล่นแชร์ดังนั้น องค์กร จะต้องเสริมสร้างทัศนคติที่ดีให้เกิดขึ้นกับตัวพนักงาน สร้างความภาคภูมิใจความเชื่อมั่นในตนเองให้เกิดขึ้นกับตัวพนักงาน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กรอย่างยั่งยืน

       3.พนักงานรายวันจะขาดการออกกำลังกาย ซึ่งในระยะยาวพนักงานรายวันจะมีสุขภาพที่ทรุดโทรม เพราะมุ่งแต่การทำงานล่วงเวลาเพียงอย่างเดียว องค์กรจึงต้องจัดให้พนักงานรายวันได้มีโอกาสออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง และแนะนำให้พนักงานบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อองค์กรเมื่อมีพนักงานที่มีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง                                
       4.พนักงานรายวันจะมีปัญหาในเรื่องการขาดวินัยในการใช้เงิน มีความฟุ้งเฟ้อ อยากได้อยากมีตามเพื่อน องค์กรจึงต้องจัดตั้งหน่วยงานให้คำปรึกษาทางด้านการเงิน เพื่อให้ความรู้และคำแนะนำการใช้เงินอย่างเหมาะสมและมีความคิดในเชิงเศรษฐกิจพอเพียงและรู้จักการเก็บออมเพื่อตนเองและครอบครัว

       5.พนักงานรายวันส่วนใหญ่ขาดโอกาสทางการศึกษา องค์กรจึงควรสนับสนุนให้พนักงานรายวันทุกคน ได้มีโอกาสหรือเพิ่มช่องทางทางการศึกษาให้กับพนักงานรายวันในองค์กร เพื่อพัฒนาศักยภาพของพนักงานรายวัน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของพนักงานรายวัน อันจะส่งผลต่อทักษะในการทำงานของพนักงานรายวัน และเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานของพนักงานรายวันยิ่งขึ้น

       หากเจ้าของกิจการท่านใดได้อ่านและปฏิบัติตามคำแนะนำทั้ง 5 ข้อข้างต้นนี้แล้ว เชื่อได้ว่าธุรกิจของท่านจะเจริญรุ่งเรือง ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนและมั่นคง เพราะการที่ท่านได้วางรากฐานชีวิตให้กับพนักงานรายวันของท่าน ก็เปรียบเสมือนกับท่านได้วางรากฐานให้กับองค์กรของท่านเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งถือเป็นอานิสงส์อย่างแรงกล้าที่ท่านได้สร้างบุญกุศลให้กับ เพื่อนมนุษย์ที่ได้ชื่อว่า “พนักงานรายวัน”



บทความโดย : สมชาย หลักคงคา
ประกาศบทความโดยwww.prosofthrmi.com

 11368
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การทำงาน เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิต ซึ่งรูปแบบของการจ้างงานไม่ได้มีเพียงงานประจำและรอเวลาเกษียณอายุเพียงเท่านั้น แต่ยังมีลักษณะการจ้างงานอีกหลายประเภท ที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไปได้ ในบทความนี้จะมาสรุปสั้น ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าการจ้างงานมีกี่ประเภท และแต่ละประเภทมีข้อดีแตกต่างกันอย่างไร
การพาพนักงานไป Outing ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการหลัก ๆ ที่หลายองค์กรมี เพื่อดึงดูดพนักงานทั้งภายในและภายนอกให้อยากมาร่วมงานกันด้วย โดยวัตถุประสงค์หลักของการไป Outing ก็เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และเพื่อตอบแทนพนักงาน ให้ได้ผ่อนคลายจากการทำงานประจำวันอันตึงเครียดมายาวนาน โดยที่บริษัทจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมด
ระบบลงเวลาเข้า-ออกของพนักงาน คือ ระบบที่ช่วยในการบันทึกเวลาการทำงานของพนักงาน ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ (Finger Scanner), สมาร์ทโฟน (Smart Phone), แท็บเล็ต (Tablet), ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน ปลอดภัย และเชื่อมต่อสู่ระบบข้อมูลกลางอย่างระบบคลาวด์ (Cloud System) ได้ โดยจะระบุเวลาที่พนักงานเข้ามาทำงานและออกจากงานในแต่ละวัน ดูสถิติ ขาด ลา มาสาย ระบบนี้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเวลาและการทำงานของพนักงาน ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) และฝ่ายบริหารสามารถติดตามการทำงานของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ข้อมูลที่บันทึกเพื่อคำนวณเงินเดือน สวัสดิการ ค่าล่วงเวลา และการจัดทำรายงานการเข้างานได้อย่างแม่นยำ ตอบโจทย์การทำงานในธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกร้อง ค่าชดเชยจากนายจ้าง อันนี้เป็นสิทธิ์ของเรานะ พี่ทุยบอกเลยว่า เงินค่าชดเชย เป็นสิ่งที่นายจ้าง ต้องจ่าย ให้กับพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือในกรณีให้ออกจากงาน ซึ่งไม่ได้มาจากทำความผิดของพนักงานหรือลูกจ้าง แต่อาจจะด้วยเหตุผลบางอย่างที่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง
ในแต่ละเดือนที่เราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนั้น ก็จะมีเงินส่วนหนึ่งที่จัดเก็บเข้าเป็นเงินสะสมประกันสังคม ซึ่งเงินส่วนนี้เองเราสามารถเช็คเงินสะสมประกันสังคมได้เองผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย มาดูกันครับว่าทำยังไง แล้วยอดเงินประกันสังคมนี้ทำอะไรได้บ้าง

Employee Referral Program หรือ โครงการแนะนำพนักงาน คือระบบที่องค์กรใช้เพื่อกระตุ้นให้พนักงานที่ทำงานอยู่แนะนำบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับ โดยทั่วไปโครงการนี้มักมีการมอบรางวัลหรือโบนัสให้กับพนักงานที่แนะนำคนที่ถูกคัดเลือกและรับเข้าทำงานในองค์กรสำเร็จ โครงการแนะนำพนักงานนี้มีข้อดีหลายประการ เช่น การลดต้นทุนในการจ้างงาน เพิ่มคุณภาพของผู้สมัคร และสร้างความผูกพันให้กับพนักงานในองค์กร
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์