บริหารคนไอทีไม่ยากอย่างที่คิด

บริหารคนไอทีไม่ยากอย่างที่คิด



       พอพูดถึง “คนไอที” คนที่ทำงานด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์(HR) มักจะนึกถึง

       - คนที่พูดด้วยเหตุผลมากเกินไปไม่ค่อยมีอารมณ์แบบคนทั่วไป

       - เป็นคนที่จริงจังซีเรียส

       - เป็นคนที่ทำอะไรก็ต้องมีหลักการมีหลักฐาน

       - เป็นคนที่พูดอะไรเข้าใจยาก (บางคนแซวว่าพูดเป็นแต่ภาษาเครื่อง แต่พูดไม่รู้เรื่องกับภาษาคน)

       - เป็นคนที่ไม่ค่อยสุงสิงกับคนอื่นคุยกันเฉพาะคนไอที(เพื่อนน้อย)

       - เป็นคนที่มีมาตรฐานสูงเกินไปทำอะไรก็ต้องเป็นระบบ

       - เป็นคนที่หัวสี่เหลี่ยมหนึ่งบวกหนึ่งต้องได้เท่ากับหนึ่งวันๆคิดแต่ศูนย์หนึ่งศูนย์หนึ่งๆๆ ฯลฯ

       ด้วยมุมมองเหล่านี้ทำให้คนทำงานด้าน HR มองว่าคนไอทีบริหารยากกว่าคนในอาชีพอื่นในองค์กร ในขณะเดียวกันคนทำงานด้านไอทีมักจะรู้สึกกับคนทำงานด้าน HR ว่า เป็นคนที่ทำงานด้วยสัญชาติญาณและอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล เป็นคนที่แก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่เป็น เวลาเจอปัญหาก็ชอบหาคนมาช่วยทั้งๆที่บางเรื่องคิดเองได้ทำเองได้ (มีตัวช่วยในโปรแกรมก็ไม่ใช้ ชอบให้คนไอทีช่วย) เป็นคนที่ไม่รู้จักขนขวายหาความรู้ด้วยตัวเองชอบถามคนอื่น เป็นคนที่สอนแล้วไม่ค่อยจำ ผิดซ้ำผิดซาก เป็นคนที่ทำงานไม่เป็นระบบชอบมั่ว ชอบใช้ความรู้สึกในการทำงาน ฯลฯ ด้วยมุมมองเหล่านี้ทำให้คนไอทีไม่ค่อยศรัทธาคนทำงานด้าน HR มากเท่าไหร่

       การที่คนทั้งสองกลุ่มนี้มีมุมมองแตกต่างกันก็คงไม่มีปัญหาอะไร ถ้าต่างคนกันอยู่คนละองค์กร ต่างคนต่างทำงานไม่มีอะไรต้องสัมพันธ์ แต่...ในชีวิตการทำงานจริงคนทำงานด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารคนไอทีเหมือนกับการบริหารคนในสายอาชีพอื่นๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

       ดังนั้น เพื่อให้คนทำงานด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์เข้าใจ เข้าถึง และสามารถบริหารบุคลากรด้านไอทีได้อย่างมืออาชีพ จึงอยากจะแนะนำกลยุทธ์ในการบริหารคนไอทีดังนี้

       1. เข้าใจ…คนไอทีแบบที่เขาเป็นไม่ใช่แบบที่เราเห็นสิ่งแรกที่คนทำงานด้าน HR ต้องทำคือ การเข้าใจคนที่ทำงานด้านไอทีแบบที่เขาเป็นไม่ใช่แบบที่เราเห็น เช่น การที่เราเห็นพฤติกรรมที่เขาเถียงกับเราไม่ยอมทำงานด่วนให้กับเรานั้น ไม่ใช่เขาดื้อไม่ใช่เขารั้น แต่เราต้องเข้าใจว่าเขาเป็นคนทำงานอย่างมีระบบทำอะไรต้องมีหลักการไม่มั่วเขาทำงานตามลำดับตามคิว เราจะเห็นว่า

       “เมื่อไหร่ก็ตามที่เรายิ่งใช้อารมณ์ในการทำงานกับคนไอทีมากเท่าไหร่ เขาจะใช้เหตุผลเถียงกับเรามากขึ้นเท่านั้น แต่ในทางกลับกันเมื่อไหร่ที่เราลดการใช้อารมณ์แล้วมาใช้เหตุผลมากขึ้น คนไอทีก็จะมีอารมณ์ฟังเรามากขึ้น และเขาจะใช้เหตุผลในการเถียงกับเราน้อยลง”

       พูดง่ายๆคือถ้าเราใช้อารมณ์กับเขา เขาจะแสดงให้เห็นว่าเขาเป็นคนไอทีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อไหร่เราใช้เหตุผลมากขึ้น คนไอทีก็จะลดความเป็นไอทีลงกลายเป็นคนธรรมดาที่น่าพูดคุยมากคนหนึ่ง

       2. เข้าถึง…คนไอทีด้วยวิธีคิดเหมือนเขา เมื่อเราเข้าใจคนไอทีแบบที่เขาเป็นแล้ว ต้องเข้าไปสนิทสนมกับเขาให้มากขึ้นโดยการปรับเปลี่ยนบุคลิกลักษณะวิธิคิด วิธีพูด วิธีทำงานของเราให้ใกล้เคียงกับคนไอที เช่น เวลาจะไปพูดคุยอะไรกับคนไอทีต้องมีข้อมูลพร้อม ต้องซ้อมถามตอบให้ดีก่อน ไม่รู้ก็ต้องตอบว่าไม่รู้อย่ามั่วอย่าเดา เวลาจะติดต่อกับคนไอทีควรติดต่อผ่านเทคโนโลยีเช่นอีเมล เพราะคนไอทีมองว่าการสื่อสารบางอย่างไม่จำเป็นต้องประชุม เดินมาคุย เพราะจะทำให้เสียเวลา เสียจังหวะในการทำงานที่ต้องใช้สมาธิสูง   เวลาจะขอความช่วยเหลือจากคนไอทีให้มาแก้ปัญหาให้ ต้องแสดงให้เห็นว่าเราได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยตัวเราเองแล้วแต่ไม่สามารถทำได้เพื่อให้เขายอมรับว่าเรามีความพยายามมาระดับหนึ่งแล้วแต่ทำไม่ได้ อย่างนี้เขายินดีช่วยและรู้สึกชื่นชมเราอยู่ในใจว่าเป็นคนแบบเดียวกันกับเขา

       3. เข้าไปนั่ง…อยู่ในใจคนไอทีด้วยการปิดจุดอ่อนของคนไอที จริงๆแล้วคนทำงานด้าน HR น่าจะเป็นคนที่จะช่วยคนไอทีให้ดูดีและได้รับการยอมรับจากคนในองค์กรได้เยอะมาก ด้วยเหตุที่คนไอทีมีจุดอ่อนเรื่องการติดต่อสัมพันธ์กับคนอื่นๆในองค์กร เช่น ทำอย่างไรให้คนไอทีพูดจาน่าฟังมากขึ้น ทำอย่างไรให้คนไอทีใช้จุดเด่นของตัวเองเพื่อกำจัดจุดอ่อนของตัวเอง ทำอย่างไรให้คนไอทีใช้ความรู้ความสามารถที่มีในการเป็นผู้นำในงานต่างๆขององค์กร ทำอย่างไรให้คนไอทีได้มีโอกาสแสดงความสามารถให้คนอื่นเห็น ไม่ใช่ปิดทองหลังพระเหมือนที่ผ่านๆมา ทำอย่างไรให้คนไอทีเข้าใจคนอื่นและคนอื่นเข้าใจคนไอทีมากยิ่งขึ้น ถ้าคนทำงานด้าน HR เล่นบทตรงนี้ได้ จะได้รับการยอมรับจากคนไอทีอย่างแน่นอน

       4. เข้าไปมีบทบาท…ในการกำหนด HR Solutions เพื่อการบริหารคนไอที เนื่องจากคนทำงานด้านไอทีมีความแตกต่างที่เป็นเอกลักษณ์ของอาชีพนี้อยู่หลายอย่าง เช่น ได้คนทำงานไอทีหาง่ายแต่คนเก่งจริงรักอาชีพนี้จริงหายากมาก คนไอทีมีทั้งประเภทที่ชอบพัฒนาระบบ กับชอบดูแลระบบ คนไอทีมีความคิดที่เน้นความถูกผิดยุติธรรมไม่ยุติธรรมสูง ยอมรับไม่ได้ที่จะเห็นสิ่งที่ผิดๆหรือไม่ถูกต้อง ตลาดไอทีแย่งตัวกันสูง คนทำงานด้านไอทีโอกาสเป็นผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์กรน้อยมาก ฯลฯ ดังนั้น คนทำงานด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ควรจะเข้าไปมีบทบาทในการกำหนดระบบการบริหารคนให้เหมาะสมกับแต่ละลักษณะวิชาชีพ ไม่ใช่ใช้ระบบเดียวกันทั้งองค์กร คงต้องถึงเวลาแล้วที่จะออกแบบระบบ HR ในการบริหารคนกลุ่มย่อยในองค์กรตามวิชาชีพ เช่น คนไอทีควรจ่ายผลตอบแทนแบบไหน คนไอทีควรมีเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพแบบไหน คนไอทีควรมีระบบการฝึกอบรมแบบไหน คนไอทีควรได้รับการดูแลต่างจากคนกลุ่มอื่นอย่างไร  ฯลฯ ถ้า HR สามารถสร้างระบบการบริหารคนให้เหมาะสมกับคนไอทีได้รับรองได้ว่าช่องว่างระหว่างคน HR กับคนไอทีจะหายไป คนไอทีเห็นความสำคัญของงาน HR มากขึ้น และคน HR ก็จะสะดวกสบายในการบริหารคนไอทีมากขึ้นเช่นกัน

       สรุป การบริหารคนทำงานด้านไอทีที่คนทำงานด้าน HR หลายคนมองว่ายากนั้น สามารถทำให้ง่ายได้ด้วยแนวทางดังกล่าวข้างต้น และผมเชื่อว่าแนวทางเหล่านี้ไม่เกินความสามารถของคนทำงาน HR อย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับว่า HR พร้อมที่จะบริหารคนไอทีแล้วหรือยัง พร้อมที่เปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนแปลงผู้อื่น และเปลี่ยนองค์กรแล้วหรือยัง โดยส่วนตัวผมยังเชื่อว่าการบริหารคนไอทีง่ายกว่าการบริหารคนในสายอาชีพอื่นมาก เพราะด้วยคุณสมบัติทางวิชาชีพของเขาหลายอย่างดังที่ได้กล่าวมาไม่ว่าเรื่องวิธีคิด วีธีการทำงาน การพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เป็นคนมองปัญหาในเชิงบวก ย่อมเอื้อต่อการบริหารงานของ HR เป็นอย่างมาก สุดท้ายนี้ ก็ขอเป็นกำลังใจให้คนทำงานด้าน HR ประสบความสำเร็จในการบริหารคนไอทีและหวังว่าคนไอทีในองค์กรจะได้มีโอกาสก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงานมากยิ่งขึ้นนะครับ



บทความโดย : ณรงค์วิทย์ แสนทอง
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 5892
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การพาพนักงานไป Outing ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการหลัก ๆ ที่หลายองค์กรมี เพื่อดึงดูดพนักงานทั้งภายในและภายนอกให้อยากมาร่วมงานกันด้วย โดยวัตถุประสงค์หลักของการไป Outing ก็เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และเพื่อตอบแทนพนักงาน ให้ได้ผ่อนคลายจากการทำงานประจำวันอันตึงเครียดมายาวนาน โดยที่บริษัทจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมด
ระบบลงเวลาเข้า-ออกของพนักงาน คือ ระบบที่ช่วยในการบันทึกเวลาการทำงานของพนักงาน ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ (Finger Scanner), สมาร์ทโฟน (Smart Phone), แท็บเล็ต (Tablet), ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน ปลอดภัย และเชื่อมต่อสู่ระบบข้อมูลกลางอย่างระบบคลาวด์ (Cloud System) ได้ โดยจะระบุเวลาที่พนักงานเข้ามาทำงานและออกจากงานในแต่ละวัน ดูสถิติ ขาด ลา มาสาย ระบบนี้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเวลาและการทำงานของพนักงาน ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) และฝ่ายบริหารสามารถติดตามการทำงานของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ข้อมูลที่บันทึกเพื่อคำนวณเงินเดือน สวัสดิการ ค่าล่วงเวลา และการจัดทำรายงานการเข้างานได้อย่างแม่นยำ ตอบโจทย์การทำงานในธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกร้อง ค่าชดเชยจากนายจ้าง อันนี้เป็นสิทธิ์ของเรานะ พี่ทุยบอกเลยว่า เงินค่าชดเชย เป็นสิ่งที่นายจ้าง ต้องจ่าย ให้กับพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือในกรณีให้ออกจากงาน ซึ่งไม่ได้มาจากทำความผิดของพนักงานหรือลูกจ้าง แต่อาจจะด้วยเหตุผลบางอย่างที่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง
ในแต่ละเดือนที่เราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนั้น ก็จะมีเงินส่วนหนึ่งที่จัดเก็บเข้าเป็นเงินสะสมประกันสังคม ซึ่งเงินส่วนนี้เองเราสามารถเช็คเงินสะสมประกันสังคมได้เองผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย มาดูกันครับว่าทำยังไง แล้วยอดเงินประกันสังคมนี้ทำอะไรได้บ้าง

Employee Referral Program หรือ โครงการแนะนำพนักงาน คือระบบที่องค์กรใช้เพื่อกระตุ้นให้พนักงานที่ทำงานอยู่แนะนำบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับ โดยทั่วไปโครงการนี้มักมีการมอบรางวัลหรือโบนัสให้กับพนักงานที่แนะนำคนที่ถูกคัดเลือกและรับเข้าทำงานในองค์กรสำเร็จ โครงการแนะนำพนักงานนี้มีข้อดีหลายประการ เช่น การลดต้นทุนในการจ้างงาน เพิ่มคุณภาพของผู้สมัคร และสร้างความผูกพันให้กับพนักงานในองค์กร
การจัดกะพนักงาน คือ กระบวนการวางแผนและจัดระเบียบเวลาทำงานของพนักงานให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กรในแต่ละช่วงเวลา โดยแบ่งเวลาทำงานออกเป็นหลายช่วง (หรือหลายกะ) เพื่อให้มีพนักงานเพียงพอในการปฏิบัติงานตลอดเวลา เช่น ในกรณีขององค์กรที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงหรือมีความต้องการกำลังคนที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์