วิธีรู้ทัศนคติของผู้สมัครงานนั้นทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่นิยมมากสุดมักเกิดขึ้นในห้องสัมภาษณ์พนักงานใหม่ หาก HR เลือกคำถามที่ถูกต้อง จะสามารถวัดทัศนคติของว่าที่พนักงานคนนั้นได้ทันที ที่สำคัญ ไม่จำเป็นต้องใช้คำถามยาก ๆ แต่อย่างใด เพราะการถามคำถามง่าย ๆ ว่า ทำไมถึงลาออกจากที่ทำงานเก่า ? หรือ ทำไมถึงอยากออกจากที่ทำงานเก่า ? ก็ช่วยคัดกรองทัศนคติเบื้องต้นได้ดีแล้ว ทำไมคำถามสั้น ๆ ง่าย ๆ แบบนี้ ถึงเป็นกับดักชั้นดีที่ HR ชอบใช้ มีเหตุผลดังต่อไปนี้
สัจธรรมของโลกการทำงานก็คือ ไม่ใช่ทุกคนจะจากลากับองค์กรเก่าด้วยดี แต่ในขั้นตอนการสัมภาษณ์งาน การบอกเหตุผลโต้ง ๆ ว่า ลาออกเพราะหัวหน้างี่เง่า ที่ทำงานเก่าห่วยแตก สังคมภายในหน้าไหว้หลังหลอก ฯลฯ อาจไม่ใช่การสร้างความประทับใจแรกต่อ HR ที่ดีเสียเท่าไหร่
กลับกัน หากผู้สมัครงานตอบคำถามอย่างมีไหวพริบปฏิภาณ ทำให้เรื่องที่อาจดูมีปัญหาใหญ่โต กลายเป็นเรื่องจิ๊บ ๆ ได้ จะช่วยสร้างความประทับใจให้ HR ไม่น้อย แม้ในอีกด้านหนึ่งมองได้ว่ามันคือการโกหก แต่ HR จะถือว่าผู้สมัครงานคนนั้นมีกึ๋นในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีวาทศิลป์ในการพูดและโน้มน้าวใจ
คล้ายกับการถามว่า ‘อะไรคือข้อเสียในตัวเรา’ นั่นเอง คงไม่มีใครที่เล่าข้อเสียด้านลบของตัวเองเป็นวรรคเป็นเวร เพื่อให้เสียคะแนนในสายตา HR เช่นกัน
การทำงานกับผู้อื่น ก็เหมือนลิ้นกับฟัน อาจมีเรื่องกระทบกระทั่ง มีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันบ้าง แต่คนที่มืออาชีพ จะรู้ว่าเรื่องแบบไหนควรปล่อยวาง เรื่องแบบไหนควรจบในห้องประชุม เรื่องแบบไหนไม่เอามาเผยแพร่ต่อภายนอก และเรื่องแบบไหนไม่ควรเก็บเอามาคิดเป็นเรื่องส่วนตัว
ซึ่งคำถามสัมภาษณ์งานข้อดังกล่าวจะช่วยวัดได้ชัดเจนว่า ผู้สมัครงานมีความเป็นมืออาชีพมากเพียงใด
หากผู้สมัครงานเอาเรื่องไม่ดีของที่ทำงานเก่ามาเล่าตอนสัมภาษณ์งาน HR จะมั่นใจได้อย่างไรว่า หากรับเข้ามาทำงานแล้ว จะไม่เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นที่นี่
หากจากกันกับที่ทำงานเก่าแบบไม่ค่อยดี เป็นเรื่องปกติหากจะทำให้อารมณ์และความรู้สึกของผู้สมัครงานขุ่นมัว และอัดอั้นตันใจอยากระบายออกมาให้ทุกคนฟัง แต่หากเอามาเล่าในห้องสัมภาษณ์งาน นอกจากจะไม่เป็นมืออาชีพ HR จะมองด้วยว่าผู้สมัครงานคนนั้นควบคุมอารมณ์ไม่เป็น
ถึงแม้เรื่องที่เขาเจอจะเป็นเรื่องจริง แต่การเอามาบ่นในที่แห่งนี้ ก็จะสร้างความสงสัยให้ HR คิดว่า เอามาบ่นแบบนี้มันจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างไร ตอนอยู่ที่เก่าทำไมไม่พูดหรือแก้ไขตั้งแต่ทีแรก ?
ขอบคุณที่มา : th.hrnote.asia