"ลูกจ้างประสบอุบัติเหตุและลาป่วยโดยมีใบรับรองแพทย์ซึ่งปัจจุบันมาทำงานไม่ได้กว่า 30 วันแล้ว บริษัทจะสามารถเลิกจ้างได้หรือไม่ เพราะบริษัทเองก็ไม่สามารถ แบกรับค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน?"
1.ตามกฎหมายแล้วลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง ตามมาตรา 32 และมีสิทธิได้รับค่าจ้างตลอดเวลาที่ลาป่วยปีหนึ่งไม่เกิน 30 วันทำงาน ตามมาตรา 57
2.หากลูกจ้างลาป่วยมากไปกว่านั้น จะไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันที่ลาป่วยเกิน 30 วัน รวมถึงลูกจ้างย่อมไม่มีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดตามประเพณีภายหลังจากวันลาป่วยพ้นระยะเวลา 30 วันทำงานดังกล่าว โดยอาจถือได้ว่าสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดตามประเพณีภายหลังวันลาป่วย 30 วันทำงาน ได้เกลื่อนกลืนกันไปในวันลาป่วยของลูกจ้าง ที่ลาป่วยโดยไม่มีสิทธิ์รับค่าจ้างแต่อย่างใด ทั้งนี้ เว้นแต่ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างกำหนดให้จ่าย (อ้างอิง หนังสือข้อหารือกฎหมายแรงาน ที่ รง 0504/0876 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2548)
สรุป ความเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น การที่ลูกจ้างมาทำงานไม่ได้เป็นเวลา กว่า 30 วันใน 30 วันแรกนายจ้างยังคงต้องจ่ายค่าจ้างอยู่ หลังจากนั้นลูกจ้างก็ยังมีสิทธิ์ในการลาป่วยเพียงแต่ไม่รับค่าจ้าง
และกรณีหากไปเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวถือว่าลูกจ้างไม่มีความผิดนายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชย และรวมถึงค่าตกใจอีกด้วย อย่างไรก็ตามหากการเจ็บป่วยนั้น ทำให้ลูกหย่อนสมรรถภาพในการทำงาน การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุการหย่อนสมรรถภาพในการทำงานดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม(ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป)
ที่มา เพจ คลินิกกฎหมายแรงงาน