ประกันสังคม ส่งมอบของขวัญปีใหม่ 2566 ให้ผู้ประกันตน

ประกันสังคม ส่งมอบของขวัญปีใหม่ 2566 ให้ผู้ประกันตน


สำนักงานประกันสังคม.พร้อมส่งมอบของขวัญปีใหม่ 2566  เร่งขับเคลื่อนนโยบายปี 66
 พัฒนางานประกันสังคมเพื่อผู้ประกันตนได้ประโยชน์สูงสุด

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้กล่าวถึงของขวัญปีใหม่ ที่นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้สำนักงานประกันสังคม พร้อมมอบของขวัญปีใหม่ 2566 เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้พี่น้อง ผู้ประกันตน ลูกจ้าง นายจ้าง มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น จำนวน 4 ชิ้น และได้เริ่มดำเนินการแล้วในขณะนี้ คือ

1. ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตนดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท วงเงิน 30,000 ล้านบาท สำนักงานประกันสังคม ได้จัดทำโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน โดยร่วมมือกับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถใช้สิทธิในการไถ่ถอนจำนองที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินอื่น และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่อาศัยในบัญชีเงินกู้ที่กู้อยู่กับธนาคารเดิม โดยมีวงเงินโครงการ 30,000 ล้านบาท และปล่อยกู้ให้ผู้ประกันตนไม่เกินรายละ 2 ล้านบาท และลดภาระดอกเบี้ยของผู้ประกันตนลดลงตลอดระยะเวลาการกู้ ดังนี้

- ปีที่ 1 - 5 อัตราดอกเบี้ย 1.99% ต่อปี คงที่ 5 ปี               

- ปีที่ 6 - 8 อัตราดอกเบี้ย MRR - 2.00% ต่อปี               

- ปีที่ 9 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR - 0.5% ต่อปี

ผู้ประกันตน สามารถยื่นขอสินเชื่อกับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2565 - 19 ธันวาคม 2566 หรือจนครบวงเงินที่ได้รับอนุมัติตามโครงการฯ สำหรับคุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ สถานะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายใน 12 เดือน ก่อนเดือนที่เข้าร่วมโครงการฯ 

ประกันสังคม

2. ให้เข้าถึงการรักษา 5 โรค ตามโรงพยาบาลที่กำหนด สำนักงานประกันสังคม มีแนวคิดการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการรักษา โดยการปรับแนวทางการเข้ารับบริการทางการแพทย์ ให้ ผู้ประกันตน ที่ป่วยและมีความจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือทำหัตถการ นำร่องในกลุ่มโรคที่มีผู้ประกันตน เข้ารับการรักษามากที่สุด เพื่อลดการรอคอยการผ่าตัด ลดระยะเวลาการพักฟื้นซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกันตน สามารถกลับไปทำงานได้อย่างรวดเร็วและดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเชิญชวนโรงพยาบาลที่มีศักยภาพ ตามมาตรฐานที่ สำนักงานประกันสังคม กำหนดทำบันทึกความตกลง เพื่อให้ผู้ประกันตนไม่ต้องรอคอยการผ่าตัด หรือการส่งตัวจากโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษา และ สำนักงานประกันสังคม จะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์โดยตรงกับสถานพยาบาลที่บันทึกความตกลง โดยผู้ประกันตนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับบริการ ถือเป็นแนวทางที่ส่งเสริมและดึงดูดให้สถานพยาบาลที่มีศักยภาพและได้มาตรฐานในการรักษาเข้าร่วมบริการผู้ประกันตน โดยมี การเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาด้วยการผ่าตัดหรือทำหัตถการนำร่องในกลุ่ม 5 โรค ได้แก่ 

- โรคมะเร็งเต้านม

- ก้อนเนื้อที่มดลูก

- โรคนิ่วในไตหรือ ถุงน้ำดี

- โรคหลอดเลือดสมอง

- โรคหัวใจและหลอดเลือด 

ประกันสังคม

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินโครงการแล้ว สำนักงานประกันสังคมจะต้องมีการติดตามและประเมินผล เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดการบริการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผู้ประกันตนต่อไป ซึ่งคาดว่า จะมีผู้ประกันตนมาใช้บริการ ทั้งสิ้นจำนวน 7,500 คน

3. ฟรี ค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจในสถานประกอบการนำร่อง ใน 7 จังหวัด โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนในสถานประกอบการ โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมและดูแลสุขภาพของผู้ประกันตนในเชิงรุก โดยร่วมมือกับสถานประกอบการที่ ผู้ประกันตน ทำงานอยู่ และสถานพยาบาลในพื้นที่ เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรค ค้นหาความเสี่ยง ด้านสุขภาวะเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันการเจ็บป่วย ลดอาการเจ็บป่วยที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงานและคุณภาพชีวิตของผู้ประกันตน เพื่อขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในสถานประกอบการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการนำร่องใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง พระนครศรีอยุธยา และสมุทรสาคร ได้รับการตรวจสุขภาพ โดยใช้โมเดลเชิงรุก ดังนี้

- เน้นการค้นหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดและหัวใจ

- แบ่งกลุ่มตามความเสี่ยง เสี่ยงสูง ปานกลาง และน้อย

- โรงพยาบาลนัดหมายประเมินเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรายบุคคลระยะเวลา 6 เดือน

- ติดตามผลระบบ Telemedicine และดำเนินการปรับพฤติกรรม

เป้าหมาย ผู้ประกันตน 300,000 คน ได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาความเสี่ยงด้านสุขภาวะ นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันการเจ็บป่วย เกิดต้นแบบด้านการบริการและป้องกันโรคในสถานประกอบการ โดยสามารถลดค่าใช้จ่าย ของ ผู้ประกันตน ต่อหัวเฉลี่ย รายละ 910 บาท (กลุ่มเสี่ยง) 340 บาท (กลุ่มไม่เสี่ยง) วงเงิน 187.50 ล้านบาท 

ประกันสังคม

ประกันสังคม

ชิ้นที่ 4 ลดเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามค่าประสบการณ์ของนายจ้าง สำนักงานประกันสังคมได้แก้ไขประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณอัตราส่วนการสูญเสีย ลงวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้มีเพดานขั้นสูงของอัตราส่วนการสูญเสียอยู่ที่ 200 ส่งผลให้นายจ้างที่ถูกเรียกเก็บเงินสมทบตามอัตราค่าประสบการณ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากอัตราเงินสมทบ ในปีที่ผ่านมา จ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลาเพียงไม่เกิน 3 ปี จากเดิมที่ไม่มีการกำหนดเพดานขั้นสูงของอัตราส่วนการสูญเสีย และการเรียกเก็บเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ดังกล่าวมีระยะเวลาสูงสุดถึง 22 ปี เพื่อเป็นการช่วยเหลือนายจ้างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว (การแก้ไขหลักเกณฑ์ส่งผลให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบลดลง และทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 229.22 ล้านบาท)

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้กล่าวถึงนโยบายในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของสำนักงานประกันสังคมที่จะเกิดขึ้นในปี 2566          

การพัฒนางานประกันสังคมเพื่อผู้ประกันตน

สร้างการรับรู้ โดยการประชาสัมพันธ์เชิงรุก  โดยดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข่าวสาร สาระความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันสังคมและสิทธิประโยชน์เพื่อเข้าถึงนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน ซึ่งปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้นำ Social Media เข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับสำนักงานประกันสังคมได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้รับบริการ เน้นการปรับเปลี่ยนราชการสู่ความเป็นดิจิทัล โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนและผู้ใช้แรงงาน อย่างโปร่งใส เข้าถึงง่าย รวดเร็ว แม่นยำ ลดความซ้ำซ้อน และสามารถเชื่อมโยงการบริการของหน่วยงานรัฐได้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อพี่น้องประชาชน การเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรให้มีความทันสมัย คล่องตัว โปร่งใส มีธรรมาภิบาล ซึ่งในปี 2565 สำนักงานประกันสังคมได้ผ่านผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ได้คะแนน 90.24 อยู่ในระดับ A สร้างองค์กรที่เป็นสุขต้องสร้างความสมดุลให้ชีวิตทั้งการงาน ครอบครัว และสุขภาพ โดยการรักษาสมดุลในการบริหารงานและชีวิต Work Life Balance เปลี่ยนจากการทำงานหนัก บริหารชีวิตให้เหมาะสม รวมทั้งการปรับภาพลักษณ์องค์กรให้มีความทันสมัย และรักษามาตรฐานการให้บริการตามมาตรฐานการให้บริการของศูนย์ราชการสะดวก (GECC) และให้บริการกับนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน และประชาชน ให้ได้รับความสะดวกสูงสุด โดยยึดหลักพี่น้องประชาชน และผู้ใช้แรงงานเป็นศูนย์กลาง

การขับเคลื่อนงานตามภารกิจสำคัญ

การขยายความคุ้มครองให้กับผู้ประกันตนในทุกมาตรา โดยเฉพาะผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ออกหน่วยเคลื่อนที่บริการเบ็ดเสร็จ (Service Delivery Unit) การรักษาอัตราการจ่ายเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ผ่านกลไกเครือข่าย บวร และ “ครอบครัวประกันสังคม” ทั่วประเทศให้ตระหนักถึงความสำคัญ และความจำเป็นในการเข้าสู่ระบบประกันสังคม และจ่ายเงินสมทบอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มสิทธิประโยชน์ เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยแต่ไม่ได้นอนโรงพยาบาล (ไป-กลับ) เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีทุพพลภาพสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 จ่ายประโยชน์ทดแทนเป็นเงินทดแทนการขาดรายได้กรณีติดเชื้อโควิด 19 แก่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ กรณีบำนาญชราภาพของผู้ประกันตน ขยายอายุการรับสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตรของผู้ประกันตน การติดตามเร่งรัดหนี้ เช่น เร่งรัดหนี้เงินสมทบ (ติดตามนายจ้าง) ปรับปรุงแนวปฏิบัติ และกระบวนการติดตามเร่งรัดหนี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ การจ่ายประโยชน์ทดแทนเกินสิทธิ (ติดตามผู้ประกันตน) กำหนดตัวชี้วัดรายจังหวัด การพัฒนาระบบสารสนเทศ ติดตั้งระบบเบิกจ่ายประโยชน์ทดแทนด้วยตนเอง พัฒนาระบบการจัดการข้อมูลให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 พัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ พร้อมการประชาสัมพันธ์เชิงรุก พัฒนาการสื่อสาร สร้างการรับรู้ เรื่องการประกันสังคม และภาพลักษณ์องค์กรที่ตรงใจ กระชับ ฉับไว เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งภายในและภายนอกองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า ผม ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม พร้อมที่จะดำเนินการขับเคลื่อนงานประกันสังคมภายใต้แผนปฏิบัติราชการสำนักงานประกันสังคมในระยะ 5 ปี (2566-2570) เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกันตน ลูกจ้าง นายจ้าง รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ให้ได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว และได้รับการคุ้มครองอย่างครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรแห่งความเชื่อมั่น ด้านการให้บริการประกันสังคมที่ทันสมัย” สามารถสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับคนทุกช่วงวัย ทุกเพศภาวะ และทุกกลุ่มนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศต่อไป



ที่มา : ประกันสังคม

 3030
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การพาพนักงานไป Outing ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการหลัก ๆ ที่หลายองค์กรมี เพื่อดึงดูดพนักงานทั้งภายในและภายนอกให้อยากมาร่วมงานกันด้วย โดยวัตถุประสงค์หลักของการไป Outing ก็เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และเพื่อตอบแทนพนักงาน ให้ได้ผ่อนคลายจากการทำงานประจำวันอันตึงเครียดมายาวนาน โดยที่บริษัทจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมด
ระบบลงเวลาเข้า-ออกของพนักงาน คือ ระบบที่ช่วยในการบันทึกเวลาการทำงานของพนักงาน ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ (Finger Scanner), สมาร์ทโฟน (Smart Phone), แท็บเล็ต (Tablet), ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน ปลอดภัย และเชื่อมต่อสู่ระบบข้อมูลกลางอย่างระบบคลาวด์ (Cloud System) ได้ โดยจะระบุเวลาที่พนักงานเข้ามาทำงานและออกจากงานในแต่ละวัน ดูสถิติ ขาด ลา มาสาย ระบบนี้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเวลาและการทำงานของพนักงาน ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) และฝ่ายบริหารสามารถติดตามการทำงานของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ข้อมูลที่บันทึกเพื่อคำนวณเงินเดือน สวัสดิการ ค่าล่วงเวลา และการจัดทำรายงานการเข้างานได้อย่างแม่นยำ ตอบโจทย์การทำงานในธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกร้อง ค่าชดเชยจากนายจ้าง อันนี้เป็นสิทธิ์ของเรานะ พี่ทุยบอกเลยว่า เงินค่าชดเชย เป็นสิ่งที่นายจ้าง ต้องจ่าย ให้กับพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือในกรณีให้ออกจากงาน ซึ่งไม่ได้มาจากทำความผิดของพนักงานหรือลูกจ้าง แต่อาจจะด้วยเหตุผลบางอย่างที่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง
ในแต่ละเดือนที่เราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนั้น ก็จะมีเงินส่วนหนึ่งที่จัดเก็บเข้าเป็นเงินสะสมประกันสังคม ซึ่งเงินส่วนนี้เองเราสามารถเช็คเงินสะสมประกันสังคมได้เองผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย มาดูกันครับว่าทำยังไง แล้วยอดเงินประกันสังคมนี้ทำอะไรได้บ้าง

Employee Referral Program หรือ โครงการแนะนำพนักงาน คือระบบที่องค์กรใช้เพื่อกระตุ้นให้พนักงานที่ทำงานอยู่แนะนำบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับ โดยทั่วไปโครงการนี้มักมีการมอบรางวัลหรือโบนัสให้กับพนักงานที่แนะนำคนที่ถูกคัดเลือกและรับเข้าทำงานในองค์กรสำเร็จ โครงการแนะนำพนักงานนี้มีข้อดีหลายประการ เช่น การลดต้นทุนในการจ้างงาน เพิ่มคุณภาพของผู้สมัคร และสร้างความผูกพันให้กับพนักงานในองค์กร
การจัดกะพนักงาน คือ กระบวนการวางแผนและจัดระเบียบเวลาทำงานของพนักงานให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กรในแต่ละช่วงเวลา โดยแบ่งเวลาทำงานออกเป็นหลายช่วง (หรือหลายกะ) เพื่อให้มีพนักงานเพียงพอในการปฏิบัติงานตลอดเวลา เช่น ในกรณีขององค์กรที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงหรือมีความต้องการกำลังคนที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์