โดนลดเงินเดือน ในช่วงโควิด บริษัทสามารถลดเงินเดือนพนักงานได้หรือไม่?

โดนลดเงินเดือน ในช่วงโควิด บริษัทสามารถลดเงินเดือนพนักงานได้หรือไม่?


โดนลดเงินเดือน เป็นปัญหาที่ของคนทำงานหลายคนที่กำลังเผชิญอยู่ ด้วยสาเหตุที่เกิดจากผลกระทบของโควิด ส่งผลทำให้ธุรกิจของบริษัท หรือ ของนายจ้าง ได้รับผลกระทบในเรื่องของรายได้ เมื่อรายได้ ไม่ได้มาตามที่คาดหวัง บริษัทก็จำเป็นต้องบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ทางเลือกที่มักจะใช้เป็นอันดับแรกๆ ก็คือ การลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับเรื่องคน ซึ่ง การขอลดเงินเดือนก็เป็นหนึ่งในวิธีการลดภาระค่าใช้จ่ายของบริษัทในภาวะที่ต้องเจอกับปัญหาทางธุรกิจ

เพราะโควิดส่งผลกระทบมาอย่างยาวนานกว่า 2 ปีแล้ว ส่งผลกระทบแทบจะกับทุกธุรกิจ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะโดนมากหรือน้อยกว่ากัน หลายบริษัทสั่งให้พนักงานหยุดงานไป โดยให้ค่าจ้างบ้าง ไม่ให้ค่าจ้างบ้าง หรือ ให้ออกไป ก็มี

เรื่องของการ โดนลดเงินเดือน บริษัทสามารถทำได้หรือไม่?

เรื่องของการลดเงินเดือน หรือ ค่าจ้าง ขออ้างอิง พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน มาตรา 76 และมาตรา 144 บอกเอาไว้ว่า ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักเพื่อกรณีดังต่อนี้ 

(1) ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้

(2) ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน

(3) ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวโดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง

(4) เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง

(5) เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม

ดังนั้น ในเรื่องของการถูกลดเงินเดือน บริษัทไม่สามารถจะทำได้ (หากมีสาเหตุหรือเหตุผลนอกเหนือจาก 5 กรณีที่กล่าวเอาไว้ข้างต้น)

แต่ในอีกมุมนึง เราก็ต้องเห็นใจบริษัทเขาบ้าง เพราะผลกระทบจากเรื่องโควิด ทำให้หลายบริษัทที่ยืนระยะไม่ไหว หมดสภาพคล่องทางการเงินทำให้ต้องปิดกิจการกันไปหลายแห่ง ส่วนบริษัทที่ยังอยู่ (แต่ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ต่อไปได้นานสักแค่ไหน) ก็เริ่มมีการร้องขอความร่วมมือจากพนักงานให้ลดเงินเดือนลงเพื่อให้บริษัทอยู่รอด ซึ่งเรื่องของการขอความร่วมมือจากพนักงานให้ลดเงินเดือนลง ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ในยามที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

เรื่องของการ โดนลดเงินเดือน ลูกจ้างไม่ยินยอมได้หรือไม่?

ในกรณีนี้ นายจ้างจะลดค่าจ้างของลูกจ้างไม่ได้ ถ้าหากลูกจ้างไม่ยินยอม เพราะกรณีนี้ถือเป็นการเปลี่ยนสภาพการจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง

แต่ถ้าลูกจ้างคนใดก็ตามยินยอมโดยสมัครใจ เพราะอยากช่วยแบ่งเบาภาระของนายจ้างหรือบริษัทก็สามารถที่จะทำได้ โดยจะต้องมีใบสัญญาระบุชัดเจนที่ว่าลูกจ้างยินดีลดค่าจ้างของตัวเองลงเท่าไหร่ เช่น กี่บาท หรือ กี่เปอร์เซ็นต์ แล้วจะต้องให้ลูกจ้างเซ็นชื่อยินยอมเท่านั้น โดยการเซ็นชื่อยินยอมลดเงินเดือนของลูกจ้างต้องไม่ลดจนต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ

สำหรับใครก็ตามเซ็นสัญญานี้ ก็จะมีผลใช้บังคับกับคนที่เซ็นเท่านั้น ส่วนถ้าใครไม่ยินยอมเซ็นก็จะไม่มีผลบังคับกับคนๆ นั้น

หากมีลูกจ้างคนไหนก็ตาม ที่ไม่ยอมเซ็นลดเงินเดือน นายจ้าง หรือ บริษัทจะดำเนินการอย่างไร?

กรณีแบบนี้ ก็ขึ้นอยู่กับทางนายจ้าง หรือ บริษัทว่าจะมีมาตรการจัดการเรื่องนี้อย่างไร? ตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นแบบหนักสุด บริษัทก็อาจจะแจ้งเลิกจ้างลูกจ้างที่ไม่เซ็นชื่อยินยอมลดเงินเดือน และ ทางบริษัทก็จ่ายค่าชดเชย และ ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายที่กำหนดให้ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ถูกเลิกจ้าง และ ให้ออกจากงานแบบกระทันหัน ต้องทำอย่างไรดี?

สำหรับตัวลูกจ้างก็คงต้องเลือกเอาว่า จะเลือกทางไหน? จะอยู่ช่วยเหลือบริษัทต่อไปกับเงินเดือนที่ลดลงไป หรือ จะเลือกเดินออกมา หรือ ให้เขาเลิกจ้างเรา (แต่นายจ้าง หรือ บริษัทจะมีเงินเลิกจ้างให้เราหรือเปล่า เรื่องนี้ต้องลุ้นเช่นกัน)

นายจ้างหรือบริษัท หากเลือกที่จะขอความร่วมมือให้ลูกจ้างลดเงินเดือน ควรต้องทำอย่างไรบ้าง?

เพราะเรื่องนี้เป็นการขอความร่วมมือ ผู้บริหารเองก็ต้องแสดงความจริงใจ สื่อสารให้ลูกจ้าง หรือ พนักงานทุกคนเข้าใจถึงปัญหา สถานการณ์ เหตุผล ว่าเพราะอะไร ทำไม ถึงต้องการให้ทุกคนให้ความร่วมมือในการลดเงินเดือน อธิบายให้ชัดเจนว่า จะลดกันกี่เปอร์เซ็นต์ หรือ กี่บาท มีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ กี่วัน กี่เดือน หรือ กี่ปี และมาตรการในอนาคตจะเป็นอย่างไร หากสถานการณ์ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ

ถ้าเรายินยอมลดเงินเดือนแล้ว อีก 3-4 เดือนต่อมา นายจ้างแจ้งเลิกจ้างเรา เราจะได้ค่าชดเชยหรือไม่?

ถ้าเราได้เซ็นชื่อยินยอมลดเงินเดือนลงไปแล้ว ปรากฏว่า 4 เดือนต่อมา ทางบริษัทแจ้งเลิกจ้างเรา เราก็จะได้รับค่าชดเชย แต่ในกรณีนี้ อ้างอิงตามกฎหมายแรงงาน ก็ต้องใช้ “ค่าจ้างอัตราสุดท้าย” เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชย และบริษัทต้องบอกกล่าวล่วงหน้า

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเคยมีเงินเดือน 30,000 บาท แล้วเราเซ็นยินยอมลดเงินเดือนไป 20% เหลือเงินเดือน 24,000 บาท ต่อมาอีก 4 เดือนบริษัทแจ้งเลิกจ้างเรา บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าชดเชยให้เราโดยใช้ฐานค่าจ้างอัตราสุดท้าย นั่นก็คือ 24,000 บาท ในการคำนวณค่าชดเชยจ่ายตามมาตรา 118 นั่นเอง

ถามว่ายุติธรรมไหม? หากนายจ้าง หรือ บริษัทเลือกทำแบบนี้ นั่นก็หมายความว่าทำให้ลูกจ้างหรือพนักงานเสียผลประโยชน์ เพราะจะได้รับค่าชดเชยน้อยกว่าที่พวกเขาควรจะได้รับ และ บริษัทก็ได้ประโยชน์จากการลดค่าใช้จ่ายในการเลิกจ้างพนักงานลงนั่นเอง

นายจ้างหรือบริษัทแบบนี้ หากมีวัตถุประสงค์ที่จ้องจะเอาเปรียบลูกจ้างหรือพนักงาน ก็ทำไม่ถูกต้อง ดังนั้นลูกจ้างหรือพนักงานก่อนจะเซ็นอะไรก็ตาม ก็ต้องคิดดีๆ คิดถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วย ควรดูพฤติกรรมของฝ่ายบริหารจากผลงานในที่อดีตที่ผ่านมาว่าเขาจะมีความน่าเชื่อถือ และมีแนวโน้มเลิกจ้างเราหลังจากเราเซ็นยินยอมลดเงินเดือนหรือไม่ เขามีความจริงใจและมีเจตนาดีจริงๆ ที่จะให้ช่วยกันเพื่อให้บริษัทอยู่รอดจริงหรือไม่? หรือ ที่ทำไปก็เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

ถ้าถูกเลิกจ้างแล้วลูกจ้างเห็นว่าการเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรม จะทำอย่างไร?

กรณีที่ถูกเลิกจ้าง แล้วลูกจ้างเห็นว่าการเลิกจ้างนั้นไม่เป็นธรรม ลูกจ้างยังสามารถมีสิทธิไปฟ้องศาลแรงงานเพื่อให้ศาลท่านวินิจฉัยว่าการเลิกจ้างนั้นเป็นธรรมหรือไม่ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ โดยสามารถติดต่อ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทร 02 245 4310-4. สายด่วน 1506 กด 3 และ 1546. หรือ ที่ https://www.labour.go.th.


บทความโดย : Link

 22281
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การพาพนักงานไป Outing ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการหลัก ๆ ที่หลายองค์กรมี เพื่อดึงดูดพนักงานทั้งภายในและภายนอกให้อยากมาร่วมงานกันด้วย โดยวัตถุประสงค์หลักของการไป Outing ก็เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และเพื่อตอบแทนพนักงาน ให้ได้ผ่อนคลายจากการทำงานประจำวันอันตึงเครียดมายาวนาน โดยที่บริษัทจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมด
ระบบลงเวลาเข้า-ออกของพนักงาน คือ ระบบที่ช่วยในการบันทึกเวลาการทำงานของพนักงาน ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ (Finger Scanner), สมาร์ทโฟน (Smart Phone), แท็บเล็ต (Tablet), ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน ปลอดภัย และเชื่อมต่อสู่ระบบข้อมูลกลางอย่างระบบคลาวด์ (Cloud System) ได้ โดยจะระบุเวลาที่พนักงานเข้ามาทำงานและออกจากงานในแต่ละวัน ดูสถิติ ขาด ลา มาสาย ระบบนี้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเวลาและการทำงานของพนักงาน ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) และฝ่ายบริหารสามารถติดตามการทำงานของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ข้อมูลที่บันทึกเพื่อคำนวณเงินเดือน สวัสดิการ ค่าล่วงเวลา และการจัดทำรายงานการเข้างานได้อย่างแม่นยำ ตอบโจทย์การทำงานในธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกร้อง ค่าชดเชยจากนายจ้าง อันนี้เป็นสิทธิ์ของเรานะ พี่ทุยบอกเลยว่า เงินค่าชดเชย เป็นสิ่งที่นายจ้าง ต้องจ่าย ให้กับพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือในกรณีให้ออกจากงาน ซึ่งไม่ได้มาจากทำความผิดของพนักงานหรือลูกจ้าง แต่อาจจะด้วยเหตุผลบางอย่างที่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง
ในแต่ละเดือนที่เราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนั้น ก็จะมีเงินส่วนหนึ่งที่จัดเก็บเข้าเป็นเงินสะสมประกันสังคม ซึ่งเงินส่วนนี้เองเราสามารถเช็คเงินสะสมประกันสังคมได้เองผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย มาดูกันครับว่าทำยังไง แล้วยอดเงินประกันสังคมนี้ทำอะไรได้บ้าง

Employee Referral Program หรือ โครงการแนะนำพนักงาน คือระบบที่องค์กรใช้เพื่อกระตุ้นให้พนักงานที่ทำงานอยู่แนะนำบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับ โดยทั่วไปโครงการนี้มักมีการมอบรางวัลหรือโบนัสให้กับพนักงานที่แนะนำคนที่ถูกคัดเลือกและรับเข้าทำงานในองค์กรสำเร็จ โครงการแนะนำพนักงานนี้มีข้อดีหลายประการ เช่น การลดต้นทุนในการจ้างงาน เพิ่มคุณภาพของผู้สมัคร และสร้างความผูกพันให้กับพนักงานในองค์กร
การจัดกะพนักงาน คือ กระบวนการวางแผนและจัดระเบียบเวลาทำงานของพนักงานให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กรในแต่ละช่วงเวลา โดยแบ่งเวลาทำงานออกเป็นหลายช่วง (หรือหลายกะ) เพื่อให้มีพนักงานเพียงพอในการปฏิบัติงานตลอดเวลา เช่น ในกรณีขององค์กรที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงหรือมีความต้องการกำลังคนที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์