มัดใจพนักงานให้อยู่ยาว ต้องสร้าง Employee Engagement

มัดใจพนักงานให้อยู่ยาว ต้องสร้าง Employee Engagement

       
ความรู้สึกจงรักภักดีต่อองค์กรอาจไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าพูดถึงคนยุคก่อน ที่สามารถทำงานบริษัทเดิมได้เป็น 20-30 ปี แต่สำหรับคนรุ่นใหม่แล้ว ค่อนข้างเป็นเรื่องที่ท้าทาย HR เป็นอย่างมากที่จะทำให้พนักงานคุณภาพซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของบริษัทไม่เปลี่ยนใจไปทำงานที่อื่น การสร้าง Employee engagement จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยทำให้รักษาพนักงานคุณภาพขององค์กรไว้ ผ่านการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับพนักงาน (Employee experience) จากงานวิจัยของ MIT พบว่า องค์กรที่มี Employee engagement ที่ดีจะสร้างความพึงพอใจของลูกค้าให้เพิ่มขึ้น 2 เท่า พนักงานพร้อมสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นมากกว่าเดิม 2 เท่า และที่สำคัญ สามารถทำให้ผลกำไรของบริษัทโตขึ้นถึง 25% หากไม่อยากพลาดความสำเร็จเหล่านี้ ต้องมาทำความรู้จัก Employee engagement ให้ดีกว่าเดิม

Employee engagement หมายถึงอะไร

           คือ การมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กร ทั้งในแง่ความรู้สึกอยากมีส่วนร่วม มีความผูกพันกับองค์กร ไปจนถึงการพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับองค์กรในทุก ๆ ด้านอย่างเต็มใจ เปรียบเหมือนการรักองค์กรเหมือนบ้านหรือครอบครัวของตัวเอง เป็นความรู้สึกของการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอย่างแท้จริง รู้สึกถึงความเป็นเจ้าขององค์กรร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความจงรักภักดีและสร้างความสำเร็จให้กับองค์กรตามมานั่นเอง

ปัจจัยช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กร

  • เป้าหมายและวิสัยทัศน์ขององค์กร (Goal & Vision)

           องค์กรที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล ย่อมทำให้พนักงานรู้ว่าแก่นของการทำงานที่นี่ทำไปเพื่ออะไร ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมอยากเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่มีคุณภาพ สร้างความประทับใจที่อยากเป็นร่วมทำฝันขององค์กรให้สำเร็จไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งความฝันและความสำเร็จเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ

  • ผลตอบแทนและสวัสดิการ (Income & Benefit)

           ถ้าความฝันกินไม่ได้คนรุ่นใหม่ก็อาจจะถอยได้ องค์กรจึงควรจะให้ผลตอบแทนหรือเงินเดือน เงินโบนัสต่าง ๆ ในจำนวนที่สมน้ำสมเนื้อ พร้อมสวัสดิการจัดเต็มที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าทำงานที่นี่ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี คุ้มค่ากับการทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับองค์กร ไม่รู้สึกโดนเอาเปรียบ แต่กลับรู้สึกได้รับการดูแลอย่างดีจนไม่อยากย้ายหนีไปไหน 

  • หัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน (Supervisor & Colleague)

           หลายครั้งที่งานหนักไม่ได้ทำให้พนักงานลาออก แต่กลับเป็นเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้างานต่างหากที่สร้างความอึดอัดใจจนทนไม่ไหว ตามสำนวนที่ว่า “คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” ดังนั้นถ้าอยากรักษาพนักงานที่ดีมีคุณภาพไว้นาน ๆ คุณก็จำเป็นต้องสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อม (ในแง่ของคน) ที่ดีให้กับออฟฟิศของคุณด้วย แบบที่หัวหน้ามีความยุติธรรม ไม่มีการเอาเปรียบกัน ไม่ต้องชิงดีชิงเด่น เล่นดราม่าในที่ทำงาน แต่เป็นการทำงานเป็นทีมที่ทุกคนพร้อมจะเข้าใจ เห็นใจ ช่วยเหลือ และมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน 

  • งานที่ทำกับความรับผิดชอบต่องานนั้น (Work & Responsible)

           งานและความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่า รู้สึกประสบความสำเร็จเมื่อทำงานสำเร็จ สร้างความสุขและทำให้รู้สึกว่าตัวเองก็มีส่วนทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงไม่ควรละเลยที่จะมอบหมายงานที่มีคุณค่า ตรงกับความสามารถ อาจจะตั้งเป้าไว้สูงขึ้นมาอีกนิดให้พนักงานรู้สึกท้าทายและได้พัฒนาตัวเอง และไม่ลืมที่จะให้กำลังใจระหว่างทำงาน ไปจนถึงชื่นชมหรือให้รางวัลเมื่อทำงาน 

  • ภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร (Brand Image)

           ใคร ๆ ก็อยากทำงานในบริษัทที่พูดชื่อไปแล้วมีแต่คนชื่นชม เช่น บริษัทนี้ประสบความสำเร็จมาก ใครทำงานที่นี่ต้องเก่งและดีเท่านั้น หรือบริษัทนี้เป็นบริษัทแห่งอนาคต คนทำงานที่นี่ต้องมีวิสัยทัศน์และทันสมัยถึงจะร่วมงานได้ ดังนั้นภาพลักษณ์ที่ดีจึงช่วยเสริมสร้างความรู้สึกภูมิใจให้กับพนักงานและอยากมีส่วนร่วมในการทำให้บริษัทเจริญก้าวหน้าจนมีภาพลักษณ์ที่ดีกว่าเดิม

  • ผลงานที่ประสบความสำเร็จ (Successful Product)

           ผลงานหรือสินค้าที่ประสบความสำเร็จจะช่วยสร้างภาพจำที่ดีและดึงดูดคนให้อยากเข้ามาร่วมงานด้วยได้ และถ้าประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในวงกว้าง ก็ช่วยให้พนักงานไม่อยากลาออก เพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จนั้นด้วย เช่น Apple Google หรือ Tesla ที่มีผลงานและผลิตภัณฑ์ที่สร้างความสำเร็จไปทั่วโลก

  • การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development)

           หมั่นให้ความรู้และสนับสนุนให้พนักงานพัฒนาความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้พนักงานรู้สึกถึงความใส่ใจ รู้สึกว่าบริษัทก็อยากให้ตัวพนักงานเองโตไปพร้อม ๆ กัน และการทำงานที่นี่ไม่ใช่มาเพื่อทำงานอย่างเดียว แต่ยังได้เรียนรู้พร้อมพัฒนาความสามารถใหม่ ๆ ที่สามารถทำให้ตัวพนักงานเองเติบโตและเจริญก้าวหน้าไปได้อีก

  • การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล (Human Relationship Management)

           หากบริษัทมีระบบ HR ที่ดี จัดการเรื่องพื้นฐานได้ดี อย่างการจัดการเงินเดือน สวัสดิการ เบิกค่ารักษาพยาบาล เงินพิเศษต่าง ๆ ทำให้พนักงานรู้สึกสะดวกสบายไม่ว่าจะติดต่อเรื่องอะไร แถมยังมีกิจกรรมช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ให้กับคนในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการจัด Outing งานเลี้ยงบริษัท กิจกรรมพิเศษในช่วงวันสำคัญ หรือจะเป็นการประกวดการแต่งกายดีเด่นในวันฮาโลวีน หรือแลกของขวัญในวันคริสต์มาส ก็ล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่สามารถคลายความเครียด สร้างสีสันให้กับชีวิตพนักงานออฟฟิศ และช่วยสร้างความสัมพันธ์ให้กับพนักงานด้วยกันเองอีกด้วย

           แม้การสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กรจะต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง และหลายปัจจัยยังต้องใช้ระยะเวลาในการสร้างนานพอสมควร แต่ก็จัดว่าเป็นเรื่องคุ้มค่าที่องค์กร โดยเฉพาะแผนก HR จะลงทุนลงแรง เพราะสมัยนี้การจะหาพนักงานที่ดีสักคนว่ายากแล้ว แต่การจะทำให้พนักงานรักองค์กรจะอยู่ทนอยู่นาน พร้อมฝ่าทุกปัญหาไปด้วยกัน เป็นเรื่องยากยิ่งกว่า หากบริษัทสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กรได้แล้วก็เชื่อได้ว่าจะให้ผลดีในระยะยาว ทำให้พร้อมร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับองค์กร มากกว่าที่จะลาออก เพราะได้ข้อเสนอใหม่ ๆ ที่บริษัทอื่นยื่นให้ เพราะยังไงบริษัทที่ทำอยู่ก็เงินดี เพื่อร่วมงานก็ดี แถมมีโอกาสพัฒนาเติบโตไปพร้อม ๆ กับบริษัท แบบที่มั่นใจได้ว่าบริษัทจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแน่นอน



บทความโดย : Link
 762
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การทำงานโดยที่คนทำงานไม่มีความสุขนั้นส่งผลกระทบทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นผลงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ องค์กรไม่มีความก้าวหน้า ลองมาดูกันว่า อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้พนักงานไม่มีความสุขกับการทำงาน
1. สัญญาจ้างทำด้วยวาจาก็ได้ 2. นายจ้างไม่มีสิทธิเรียกรับหลักประกันการทำงาน เว้นทำงานเกี่ยวข้องกับเงิน หรือทรัพย์สินของนายจ้าง 3. เมื่อการประกันสิ้นสุดลง นายจ้างต้องคืนหลักประกันให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วัน 4. นายจ้างไม่มีสิทธิหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานวันหยุด เว้นแต่เป็นการหักตามที่กฎหมายกำหนด 5. ลูกจ้างลาออกไม่ต้องรอการอนุมัติก็มีผล 6. นายจ้างไล่ออกไม่ต้องเป็นหนังสือไล่ออกก็มีผล
การทำงาน เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิต ซึ่งรูปแบบของการจ้างงานไม่ได้มีเพียงงานประจำและรอเวลาเกษียณอายุเพียงเท่านั้น แต่ยังมีลักษณะการจ้างงานอีกหลายประเภท ที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไปได้ ในบทความนี้จะมาสรุปสั้น ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าการจ้างงานมีกี่ประเภท และแต่ละประเภทมีข้อดีแตกต่างกันอย่างไร
การพาพนักงานไป Outing ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการหลัก ๆ ที่หลายองค์กรมี เพื่อดึงดูดพนักงานทั้งภายในและภายนอกให้อยากมาร่วมงานกันด้วย โดยวัตถุประสงค์หลักของการไป Outing ก็เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และเพื่อตอบแทนพนักงาน ให้ได้ผ่อนคลายจากการทำงานประจำวันอันตึงเครียดมายาวนาน โดยที่บริษัทจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมด
ระบบลงเวลาเข้า-ออกของพนักงาน คือ ระบบที่ช่วยในการบันทึกเวลาการทำงานของพนักงาน ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ (Finger Scanner), สมาร์ทโฟน (Smart Phone), แท็บเล็ต (Tablet), ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน ปลอดภัย และเชื่อมต่อสู่ระบบข้อมูลกลางอย่างระบบคลาวด์ (Cloud System) ได้ โดยจะระบุเวลาที่พนักงานเข้ามาทำงานและออกจากงานในแต่ละวัน ดูสถิติ ขาด ลา มาสาย ระบบนี้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเวลาและการทำงานของพนักงาน ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) และฝ่ายบริหารสามารถติดตามการทำงานของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ข้อมูลที่บันทึกเพื่อคำนวณเงินเดือน สวัสดิการ ค่าล่วงเวลา และการจัดทำรายงานการเข้างานได้อย่างแม่นยำ ตอบโจทย์การทำงานในธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกร้อง ค่าชดเชยจากนายจ้าง อันนี้เป็นสิทธิ์ของเรานะ พี่ทุยบอกเลยว่า เงินค่าชดเชย เป็นสิ่งที่นายจ้าง ต้องจ่าย ให้กับพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือในกรณีให้ออกจากงาน ซึ่งไม่ได้มาจากทำความผิดของพนักงานหรือลูกจ้าง แต่อาจจะด้วยเหตุผลบางอย่างที่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์