5 เทรนด์ พฤติกรรม Candidate ที่ HR ต้องจับตามอง

5 เทรนด์ พฤติกรรม Candidate ที่ HR ต้องจับตามอง


ปี 2020 เป็นปีที่โลกการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่ส่งผลต่ออุปสงค์และอุปทานของตลาดแรงงาน และโควิด-19 ที่ส่งผลต่อรูปแบบการทำงานให้มีการปรับตัวมาทำงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์และยืดหยุ่นให้มีการ work from home ได้มากขึ้น สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการสมัครงานของผู้สมัคร 


ทำผลสำรวจจาก Adecco  Candidate Experience Journey สำรวจพฤติกรรมการสมัครงานของพนักงานออฟฟิศจำนวน 997 คน แบ่งเป็น Gen Y จำนวน 490 คน(49.2%) Gen X จำนวน 377 คน (37.8%) Gen Z จำนวน 111 คน (11.1%) และ Baby Boomer จำนวน 19 คน (1.9%)   โดยสรุปเป็นเทรนด์พฤติกรรมการหางานของผู้สมัครได้ดังนี้

1.ผู้สมัครเน้นหางานผ่านออนไลน์ 
Gen Y สมัครผ่านเว็บไซต์หางาน / Gen X ใช้บริการเอเจนซี่

เราพบว่าผู้สมัครนิยมส่วนใหญ่สมัครงานผ่านออนไลน์เป็นหลักโดยช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ “เว็บไซต์หางาน” (Job Portal) คิดเป็น 68.2% ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่ผู้สมัคร Gen Y 

ส่วนช่องทางที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองได้แก่ “Recruitment Agency” โดยมีผู้สมัครไว้ใจหางานผ่านช่องทางนี้กว่า 10% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพนักงาน Gen X ที่มีตำแหน่งงานระดับหัวหน้างาน ผู้จัดการ และผู้บริหาร  

อันดับสาม ได้แก่ “LinkedIn” อีกหนึ่งแพลตฟอร์มหางานออนไลน์ที่ได้รับคะแนนโหวตจากผู้สมัคร 8% โดยผู้สมัครที่นิยมหางานจาก LinkedIn ส่วนใหญ่เป็นผู้สมัครที่มีตำแหน่งงานระดับ specialist และมีความเชี่ยวชาญในงานเฉพาะทาง 

สำหรับ Baby Boomer จากการสำรวจพบว่าพวกเขานิยมใช้วิธีการแนะนำผ่านคนรู้จักในการหางานมากที่สุด

2.ผู้สมัครใส่ใจ Job Description เงินเดือน และ “สถานที่ทำงาน” ในประกาศรับสมัครงานมากที่สุด

ในขั้นตอนการประกาศรับสมัครงาน เราพบว่าสิ่งที่ผู้สมัครสนใจต้องการทราบมากที่สุด ได้แก่ “หน้าที่และลักษณะงาน” หรือ “Job Description” มากถึง 89% รองลงมาคือ “เงินเดือน” อยู่ที่ 81% สองสิ่งนี้ถือเป็นปัจจัยหลักที่ผู้สมัครตัดสินใจเลือกสมัครงาน HR จึงควรให้ความสำคัญในการเขียน Job Description ให้มากยิ่งขึ้น เพื่ออธิบายลักษณะงานให้ชัดเจนและน่าดึงดูดสำหรับผู้สมัคร รวมถึงระบุช่วงเงินเดือนให้ผู้สมัครทราบเพื่อให้ผู้สมัครสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ “สถานที่ทำงาน” ที่ตามมาเป็นอันดับสาม อยู่ที่ 47% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการเดินทางและปัญหารถติดของคนกรุงเทพและปริมณฑล ทำให้ผู้สมัครนำสถานที่ทำงานมาเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการพิจารณาสมัครงาน สอดคล้องกับผลสำรวจ Resetting Normal ของ Adecco ที่พบว่าพนักงานกว่า 80% ต้องการให้องค์กรมีนโยบาย work from home เพื่อลดเวลาการเดินทาง เพิ่มเวลาใช้ชีวิตให้มากขึ้น ดังนั้นหากองค์กรมีที่ตั้งสำนักงานในทำเลที่สามารถเดินทางได้สะดวก หรือมีนโยบาย work from home ที่ยืดหยุ่นให้พนักงาน ก็จะสามารถช่วยดึงดูดผู้สมัครให้มาร่วมงานกับองค์กรได้มากยิ่งขึ้น 

3.ผู้สมัครเลือกงานจาก “เงินเดือน" - 89%  ใช้เงินเดือนเป็นเหตุผลหลักในการตัดสินใจ

เมื่อถามว่าผู้สมัครพิจารณาปัจจัยอะไรในการเลือกงานบ้าง ผู้สมัคร 89% ตอบว่า “เงินเดือน” คือสิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญมากที่สุด ซึ่งตรงกันในทุก generation  แต่ผู้สมัครก็ยังพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย จากการสำรวจเราจะพบว่า Gen Z - ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นทำงานจะมองเรื่องความก้าวหน้าและโอกาสเรียนรู้งาน ขณะที่ Gen Y ซึ่งทำงานมาได้สักระยะแล้วจะเริ่มมองหาองค์กรที่มีความมั่นคง ด้าน Gen X ที่เริ่มเข้าสู่วัยกลางคนจะให้ความสำคัญกับสมดุลการใช้ชีวิตมากขึ้น โดยมองเรื่องความสะดวกสบายและระยะเวลาในการเดินทางเป็นปัจจัยประกอบในการพิจารณาเลือกงาน ส่วน Baby Boomer ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดจะให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงขององค์กรมากที่สุด ดังนั้นในการเขียน Job Description หรือ คอนเทนต์ต่างๆ HR อาจพิจารณานำประเด็นเหล่านี้มาหาวิธีเล่าให้น่าสนใจเพื่อสร้างจุดจูงใจให้ผู้สมัครอยากเข้ามาร่วมงานกับองค์กร

4.ผู้สมัครต้องการความรวดเร็ว  

สมัครงานไม่เกิน 15 นาที แจ้งผลภายใน 1-สัปดาห์

ผู้สมัครในยุคดิจิทัลย่อมคาดหวังความรวดเร็วและการตอบสนองที่ทันใจ โดยจากการสำรวจของ Adecco พบว่า ผู้สมัครคาดหวังให้ระยะเวลาการกรอกข้อมูลและสมัครงานที่หน้าเว็บไซต์ลดลง จากเดิมที่ใช้เวลาราว 15 - 30 นาที ต่อการสมัครงานแต่ละครั้ง โดยผู้สมัคร 29% มองว่าการสมัครงานไม่ควรใช้เวลาเกิน 15 นาที  ขณะที่อีก 23%  มองว่าไม่ควรเกิน 10 นาที และอีก 8% มองว่าไม่ควรเกิน 5 นาที  

นอกจากนี้ผู้สมัครส่วนใหญ่ราว 58% ยังคาดหวังให้มี auto-reply mail เพื่อแจ้งสถานะการสมัครแต่ละขั้นตอน รวมถึงคาดหวังให้มีการแจ้งผลการสมัครภายใน 1-2 สัปดาห์ โดย 23% ต้องการให้แจ้งผลภายใน 7 วัน และ 16% ต้องการให้แจ้งผลภายใน 15 วัน 

HR จึงควรลดการกรอกข้อมูลหรือเอกสารที่ไม่จำเป็น ปรับปรุงระบบการสรรหาให้ agile ยิ้งขึ้น นำเทคโนโลยีมาช่วยลดขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้การสรรหาเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

5.ผู้สมัครจะไม่ร่วมงาน ไม่สนับสนุนสินค้าและบริการขององค์กร หากมีประสบการณ์การสมัครและสัมภาษณ์งานที่ไม่ดี

เมื่อถามถึงรูปแบบการสัมภาษณ์ที่ผู้สมัครคาดหวัง ผู้สมัครชอบการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวมากที่สุด (79%) โดยต้องการให้ผู้สัมภาษณ์ถามคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องงาน (44%) โดยไม่ถามเรื่องที่เป็นส่วนตัวมากจนเกินไป และแสดงออกถึงความตั้งใจฟังคำตอบ (18%) และคาดหวังให้บรรยากาศสัมภาษณ์มีความเป็นมิตร (17%)  

HR และหัวหน้างาน อาจต้องกลับมาทบทวนคำถามสัมภาษณ์ใหม่อีกครั้งว่ามีเนื้อหาที่เป็นส่วนตัวมากจนเกินไปหรือไม่ และให้ความสำคัญกับประเด็นคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องงานเป็นหลัก รวมถึงเลิกใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบกดดันเพื่อทดสอบความสามารถในการับมือกับความกดดันของผู้สมัคร เพราะจะเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดีให้กับผู้สมัครและส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์องค์กร โดย 93% ระบุว่าประสบการณ์การสมัครงานและสัมภาษณ์งานที่ไม่ดี มีผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วมงาน และอีก 75% ระบุว่ามีผลต่อการตัดสินใจไม่สนับสนุนสินค้าและบริการขององค์กรในอนาคตอีกด้วย 

ทั้งนี้ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เชื่อว่า การพฤติกรรมและความต้องการของผู้สมัครอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เช่น หลายคนอาจจะเลือกและเริ่มชำนาญในการสัมภาษณ์งานทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยจากความเสี่ยงในการติดเชื้อ  

ขณะที่เกณฑ์การพิจารณาเลือกองค์กรที่จะสมัครงานหรือร่วมงานด้วย ก็จะเริ่มให้น้ำหนักกับความมั่นคงมากยิ่งขึ้น โดยนิยามของความมั่นคงอาจต่างไปจากเมื่อก่อนที่วัดจากขนาดและชื่อเสียงขององค์กรเป็นหลัก แต่ปัจจุบันอาจะเปลี่ยนเป็นโอกาสการเติบโตขององค์กรในอนาคตโดยดูจากประเภทธุรกิจและอุตสาหกรรมขององค์กร รวมถึงโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองเพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพ และโอกาสการทำอาชีพที่สองเพื่อรองรับความไม่แน่นอนและสร้างความมั่นคงทางรายได้  

แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ผู้สมัครงานทุก Gen ก็ยังคงให้ความสำคัญกับความชัดเจนของข้อมูล ความรวดเร็วในขั้นตอนการสมัคร และประสบการณ์ที่ได้รับจากองค์กรตลอดขั้นตอนของการสรรหา ซึ่งผู้ที่มีส่วนในกระบวนการนี้ทุกฝ่ายจำเป็นที่จะต้องใส่ใจ ปรับปรุง และพัฒนากลยุทธ์ candidate experience journey เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน 

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิก!!


ที่มา : adecco.co.th/th 

 1830
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

สัญญาจ้างงาน คือ ข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่ระบุเงื่อนไขการจ้างงาน โดยทั่วไปจะกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบ ค่าตอบแทน และเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนระหว่างทั้งสองฝ่าย และช่วยลดข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
แน่นอนว่าปัจจุบันเทคโนโลยีกลายเป็นทักษะที่มีความสำคัญอย่างมากที่ทุกสาขาอาชีพต้องมีความเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย หากได้ทำงานร่วมกับมนุษย์ก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพงานให้ดียิ่งขึ้น โดยทาง jobthai ได้รวบรวมทักษะสำคัญของคนที่ทำงานในปี 2025 ที่ต้องมีติดตัวไว้
AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ คือเทคโนโลยีที่ช่วยให้เครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์มีความสามารถในการคิดและทำงานในลักษณะที่คล้ายกับมนุษย์ โดยการนำข้อมูลจำนวนมากมาประมวลผลและตัดสินใจผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) หรือ การเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) แล้ว AI จะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนางาน HR อย่างไร
หลายๆ คนอาจจะกำลังลังเลกับเส้นทางชีวิตในการเลือกงานที่เหมาะสมกับตนเอง เพราะปัจจุบันมีหลากหลายอาชีพให้เลือก มีหลายสายงานให้ได้ลองทำ หากใครชอบความเป็นอิสระอาจจะเริ่มจากการทำงานฟรีแลนซ์ หรืออีกหนึ่งรูปแบบที่คนส่วนใหญ่เลือกทำงานกันคือ การทำงานในออฟฟิศ หรือที่เราเรียกกันว่า "มนุษย์เงินเดือน" แน่นอนว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป แต่บทความนี้เราจะมาบอกข้อดีของการทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน ที่มีข้อดีอยู่มากมายจนบางทีคุณอาจจะคาดไม่ถึงด้วยซ้ำ งั้นเรามาดูกันสิว่าการที่เราเป็นมนุษย์เงินเดือนนั้นมีข้อดีอะไรบ้าง

เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจัดการบริหารงานบุคคล และพัฒนาบุคลากรในองค์กร โดยใช้ในการประเมินพนักงานตามสองเกณฑ์หลัก ได้แก่ ศักยภาพ (Potential) และผลงาน (Performance) เครื่องมือนี้ช่วยให้ผู้บริหารสามารถระบุพนักงานที่มีศักยภาพสูงและผลงานดี เพื่อพัฒนาและเตรียมพวกเขาให้รับบทบาทที่สำคัญในอนาคต ได้รับการนำเสนอครั้งแรกในปี 1970 โดยบริษัท McKinsey & Company โดยเป็นเครื่องมือสำหรับประเมินศักยภาพและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน และนับตั้งแต่นั้นมา เครื่องมือนี้ก็ได้รับความนิยมและถูกใช้กันอย่างแพร่หลายโดยองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก
เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการจัดการบริหารงานบุคคล และพัฒนาบุคลากรในองค์กร โดยใช้ในการประเมินพนักงานตามสองเกณฑ์หลัก ได้แก่ ศักยภาพ (Potential) และผลงาน (Performance) เครื่องมือนี้ช่วยให้ผู้บริหารสามารถระบุพนักงานที่มีศักยภาพสูงและผลงานดี เพื่อพัฒนาและเตรียมพวกเขาให้รับบทบาทที่สำคัญในอนาคต ได้รับการนำเสนอครั้งแรกในปี 1970 โดยบริษัท McKinsey & Company โดยเป็นเครื่องมือสำหรับประเมินศักยภาพและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน และนับตั้งแต่นั้นมา เครื่องมือนี้ก็ได้รับความนิยมและถูกใช้กันอย่างแพร่หลายโดยองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก
Background Checks คือการตรวจสอบประวัติอย่างละเอียด ครอบคลุมทั้งด้านข้อมูลส่วนตัว, ประวัติอาชญากรรม, ภาวะทางการเงิน, การศึกษา ตลอดจนบริบทอื่น ๆ ที่ส่งผลกับตำแหน่งที่สมัครเข้ามา
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์