คดีนี้ลูกจ้างยื่นหนังสือลาออกในวันที่ ๒๘ ธค ๔๓ แต่ให้มีผลวันรับเงินเดือนๆ หน้า คือวันที่ ๓๑ มค ๔๔
นายจ้างอนุมัติในวันที่ ๒๘ ธค ๔๓ (อนุมัติวันยื่นหนังสือลาออก) มีผลเท่ากับสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงวันที่ ๓๑ มค ๔๔
ช่วงเวลาจากยื่นหนังสือลาออก จนถึงวันที่ออกจากงานจริงเท่ากับว่ายังเป็นนายจ้างลูกจ้างกันอยู่ ระหว่างนี้ต้องปฎิบัติตามระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับ และอยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน
ต่อมาลูกจ้างแกคงเปลี่ยนใจไม่อยากลาออกแล้ว เลยขอดูหนังสือลาออกแล้ว "ฉีกทำลาย" หนังสือลาออก เท่ากับผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ นายจ้างจึงเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตาม ม. ๑๑๙(๑) เพราะทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
ข้อสังเกต
๑) หนังสือลาออกฉบับนี้เมื่อยื่นให้นายจ้างแล้วย่อมกลายเป็นทรัพย์สินของนายจ้าง การฉีกทำลายจึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
๒) ถ้าฉีกหนังสือลาออกก่อนยื่นให้นายจ้างไม่มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เพราะหนังสือเลิกจ้างยังเป็นทรัพย์สินของลูกจ้าง
๓) หลายคนอาจสงสัยว่า "ลาออก" ไปแล้ว ทำไม "เลิกจ้างได้" ต้องเข้าใจว่าแม้หนังสือลาออกจะมีผลเลิกสัญญาแล้ว แต่การขาดจากการเป็นนายจ้าง ลูกจ้างจะมีผลวันที่ ๓๑ มค ๔๔ ดังนั้น ก่อนลาออกยังคงเป็นลูกจ้างอยู่ เมื่อลูกจ้างทำผิดนายจ้างจึงเลิกจ้างได้
๔) เรื่องนี้ลูกจ้างออกโดย "ลาออก" หรือ "ถูกเลิกจ้าง" คำตอบคือ ถูกเลิกจ้าง โดยไม่ได้ค่าชดเชย (แถมได้คดีอาญาฐานทำให้เสียทรัพย์มาเป็นที่ระลึกอีก)
ที่มา: ฎีกาที่ ๑๙๑๙/๒๕๔๖
https://www.facebook.com/265489857320459/posts/755793158290124/?d=n