ในยุคคนหวั่นโควิด บริหารธุรกิจยังไงให้รอดMain Ideaด้วยพิษเศรษฐกิจซบที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก อีกทั้งยังโดนวิกฤตของ COVID-19 เข้ามากระหน่ำซ้ำเติม ทำให้สภาพของกิจการหลายธุรกิจในวันนี้ส่อแววแย่ลงไปตามๆ กัน แต่ในวิกฤต ย่อมมีโอกาสเสมอ และครั้งนี้ก็เช่นกัน ลองมาหาโอกาสที่เกิดขึ้นในวิกฤต และปรับตัวอยู่รอดไปพร้อมๆ กัน
การทำธุรกิจตอนนี้ อาจเรียกได้ว่า เป็นช่วงที่หินสุดๆ ของผู้ประกอบการทุกคนเลยก็ว่าได้ เพราะต้องรับมือกับปัญหาหลายด้านที่เกิดขึ้น ไหนจะสภาพเศรษฐกิจทั้งของไทยและโลกที่ยังคงทรงๆ ทรุดๆ โดยไม่รู้ว่าจะมีวี่แววกระเตื้องขึ้นเมื่อไหร่ ซ้ำยังต้องมาเจอกับผลกระทบจากโรคระบาด COVID-19 ที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะสงบลงได้ง่ายๆ ผู้ประกอบการไทยจะทำยังไงในสถานการณ์เช่นนี้
ทว่าในวิกฤตยังมีโอกาสเสมอ เราลองมาดูวิธีการปรับตัว เพื่อรับมือและสู้กับวิกฤตครั้งนี้ให้ผ่านพ้นไปด้วยกัน
สำรวจรายรับ – รายจ่ายเหมือนวันแรกที่เริ่มต้นทำธุรกิจอันดับแรกถ้ายังคิดอะไรไม่ออก ไม่รู้จะเริ่มต้นจากจุดไหนดี ให้ผู้ประกอบการลองกลับไปพิจารณาถึงบัญชีรายรับ – รายจ่ายของธุรกิจเสมือนหนึ่งวันแรกที่เริ่มต้นทำธุรกิจ ว่าในแต่ละเดือนทุกวันนี้เรามีรายรับเข้ามาเท่าไหร่ ขณะเดียวกันรายจ่ายที่ต้องจ่ายออกไปมีอยู่จำนวนเท่าไหร่ ลองเปรียบเทียบสัดส่วนออกมาให้เห็นภาพ
จากนั้นให้ลองลงลึกไปอีกว่าในส่วนของรายได้ที่รับเข้ามาในทุกวันนี้นั้น ผ่านมาจากช่องทางใดบ้าง และช่องทางนั้นยังมีประสิทธิภาพเหมือนเดิมอยู่หรือไม่ หากช่องทางดังกล่าวไม่สามารถสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นได้เหมือนเก่าหรือระบายสินค้าได้ดีดังเดิม ก็อาจต้องแสวงหาช่องทางใหม่เพิ่มเติม ในด้านของรายจ่ายก็เช่นกัน ให้ลองสำรวจว่า จากรายจ่ายประจำที่ต้องจ่ายทุกเดือน สามารถมีอะไรทำให้ช่วยลดลงได้บ้าง ถือเป็นโอกาสในการ Lean ธุรกิจไปในตัว
โอกาสปรับปรุงกิจการและเครื่องจักรราคาถูกในเวลาที่เศรษฐกิจแย่เช่นนี้ หากมองในแง่ดีก็ถือเป็นโอกาสทองของกิจการต่างๆ ที่จะได้ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรนำเข้าในราคาที่ถูกลง ด้วยค่าเงินบาทที่แข็งตัวของไทยทำให้อาจสามารถซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศได้ถูกลงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว จึงนับเป็นโอกาสหากคิดจะเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ ในช่วงนี้ ซึ่งนอกจากช่วยลดรายจ่ายระยะยาวแล้ว ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในกระบวนการผลิตได้อีกด้วย
ดอกเบี้ยลดลง โอกาสเคลียร์ชำระหนี้สินในสภาพเศรษฐกิจที่แย่แบบนี้ มีหลายหน่วยงานของภาครัฐได้ออกมาให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการมากมาย โดยเฉพาะสถาบันการเงินต่างๆ มีการออกมาตรการช่วยผ่อนปรนหนี้สินได้อย่างน่าสนใจ ทั้งการยืดภาระหนี้ต่อเดือนให้น้อยลง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลง ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาและใช้โอกาสดังกล่าวในการแบ่งเบาภาระหนี้สิน เพื่อจะได้แนวทางบริหารจัดการเงินและทำธุรกิจของตนให้สามารถผ่านพ้นไปได้ในช่วงนี้
มีเวลาคิดทบทวนธุรกิจมากขึ้นจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เป็นลบเช่นนี้ นอกจากการประคองธุรกิจให้อยู่รอดผ่านพ้นไปได้แล้ว ที่ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ ผู้ประกอบการควรใช้ช่วงเวลานี้ในการคิดทบทวนถึงธุรกิจที่ทำอยู่ด้วย ว่าแท้จริงแล้วเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดรายได้ และคุ้มค่ากับการที่จะลงทุนดำเนินการต่อไปหรือไม่ หรือหากยังมีความน่าสนใจอยู่จะพัฒนาและดำเนินการต่อไปในทิศทางไหนดี แต่หากลองคิดทบทวนแล้วไม่คุ้มกับที่จะไปต่อ เราอาจจะใช้โอกาสนี้ในการที่จะปรับเปลี่ยนกิจการได้ ซึ่งคนละความหมายกับปิดกิจการ โดยถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่จะได้ฝึกวิชาใหม่ แสวงหาความรู้ให้กับตัวเองเพิ่มเติม
และนี่คือแนวทางเบื้องต้นที่เราคิดว่าจะพอช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้บ้างไม่มากก็น้อย ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จงอย่าลืมว่าในวิกฤตทุกครั้ง ย่อมมีโอกาสอยู่เสมอ จงอย่าท้อ และสู้ไปด้วยกัน
แหล่งที่มา : www.smethailandclub.com/trick-5527-id.htmlProsoftHRMIโปรแกรมบริหารทรัพยากรมนุษย์โปรแกรมเงินเดือน