คนรุ่นใหม่ (Gen X และ Y) ถูกมองอย่างไร

คนรุ่นใหม่ (Gen X และ Y) ถูกมองอย่างไร



เมื่อวานได้เขียนถึงเรื่องของความเชื่อของคนเราเกี่ยวกับคนรุ่นเก่าในองค์กรไปแล้ว วันนี้ก็ถึงคิวความเชื่อของคนทำงานในองค์กรที่มีต่อคนรุ่นใหม่ ซึ่งโดยปกติก็คือ กลุ่มที่เป็น Gen X และ Gen Y นั่นเอง คนรุ่นเก่าๆ ก็มักจะมีมุมมองต่อคนรุ่นใหม่ไปอีกแบบ ลองมาดูกันว่า เขาเชื่อ และมองกันอย่างไรกันบ้าง

• ความเชื่อที่ 1 เชื่อว่าคนรุ่นใหม่ไม่รักองค์กร คนรุ่นเก่าในองค์กรมักจะมองว่าตนเองนั้นรักองค์กรมากมาย ทุ่มเททำงานหามรุ่งหามค่ำ ก็เพื่อองค์กรของเรา แต่พอเขามาเห็นพฤติกรรมในการทำงานของคนรุ่นใหม่ ก็เลยมองว่า คนรุ่นนี้ไม่มีความรักต่อองค์กรเลย คิดจะเปลี่ยนงานก็เปลี่ยนทันที คิดจะไปก็ไปเลย

• ข้อโต้แย้ง เป็นข้อโต้แย้งมาจากการสอบถามกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ ว่าเขาไม่รักองค์กรจริงหรือ ซึ่งคำตอบที่ออกมาก็คือ เขาจะรักองค์กร ก็ต่อเมื่อองค์กรรักเขา ที่คนรุ่นนี้เชื่อแบบนี้ ก็เพราะเขาโตขึ้นมาในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เขาเห็นพ่อแม่ต้องตกงาน ถูกปลดจากงาน เห็นคนมากมายที่ต้องว่างงาน และต้องพยายามดิ้นรนเพื่อหางานทำให้มีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้ ก็เลยทำให้เด็กรุ่นใหม่ ไม่ค่อยเชื่อในระบบการบริหารงานขององค์กร เพราะเขามองว่า ถ้าองค์กรต้องการเขา เขาก็อยู่ต่อได้เรื่อยๆ แต่เมื่อไหร่ที่องค์กรมีปัญหา พนักงานก็จะถูกปลดออกได้ทันที ด้วยเหตุผลนี้เองก็เลยทำให้เขาไม่ค่อยรู้สึกรักองค์กรเท่าไหร่ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าองค์กรปฏิบัติต่อเขาด้วยความรัก และเอาใจใส่ เด็กรุ่นใหม่นี้ ก็จะมีความรู้สึกรักและผูกพันกับองค์กรอย่างมาก เรียกว่าทำงานถวายหัวกันเลยทีเดียว

จากงานวิจัยเรื่อง Gen X กับ Gen Y เรื่องของ Loyalty นั้น อันดับหนึ่งที่คนรุ่นใหม่มอบให้ก็คือ ครอบครัว ถัดมาก็คือ ตนเอง ถัดมาคือกลุ่มเพื่อนฝูงของตน ถัดมาก็เป็นเพื่อนร่วมงาน และสุดท้ายก็คือองค์กรนั่นเอง ซึ่งก็เหมือนกับว่าความเชื่อที่ว่าข้างต้นนั้นเป็นความจริง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะอย่างที่บอกไว้ว่า ถ้าองค์กร Loyalty ต่อตัวพนักงานรุ่นใหม่ เขาก็จะมี Loyalty ต่อองค์กรด้วยเช่นกัน และคนที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นกับพนักงานกลุ่มนี้ได้ก็คือ บรรดาหัวหน้า และผู้จัดการทุกระดับ ที่มีลูกน้องอยู่ใน Gen นี้นั่นเอง

• ความเชื่อที่ 2 คนรุ่นใหม่ไม่มีวินัยในการทำงาน ความเชื่อที่สองนี้ เรามักจะได้ยินผู้จัดการรุ่นก่อนๆ พูดว่า “เด็กรุ่นใหม่นี้ ไม่มีวินัยในการทำงานเอาซะเลย สู้คนรุ่นก่อนๆ ก็ไม่ได้” ก่อนอื่นก็คงต้องมานิยามคำว่าวินัยในการทำงานกันก่อนเหมือนกันนะครับว่า จริงๆ แล้วแปลว่าอะไร วินัยในมุมมองของคนรุ่นก่อน กับวินัยในมุมมองของคนรุ่นใหม่นั้นแตกต่างกันสักแค่ไหน คนรุ่นเดิม มักจะมองเรื่องของการทำงานเป็นลักษณะของกระบวนการทำงาน จะต้องมาเริ่มงาน และทำงานที่บริษัท เวลาการทำงานต้องทำงานจริงๆ ห้ามเอางานอื่นที่ไม่ใช่งานขึ้นมาทำเด็ดขาด นี่คือวินัยของคนรุ่นเดิมที่มองกัน ก็เลยทำให้คนรุ่นเดิมมองเด็กรุ่นใหม่ว่าไม่มีวินัยเลย คิดจะมาทำงานกี่โมงก็มา คิดจะไปไหนก็ไป ฯลฯ

• ข้อโตแย้ง คำว่าวินัยในการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่เขามองนั้น ไม่ใช่เรื่องของเวลาในการทำงานในองค์กรเลย แต่เขามองว่า วินัยในการทำงานก็คือ การที่เขาสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ และได้ตามกำหนดเวลามากกว่า ที่จะต้องมานั่งทำงานตามเวลาทำงานเข้างานออกงาน พนักงานรุ่นใหม่คิดว่า เขาสามารถนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ และจะใช้เวลาในการทำงานแบบไหนก็ได้ แต่สิ่งที่เขามอบให้องค์กรได้ก็คือ ความสำเร็จของงานเช่นเดียวกันคนรุ่นเดิม

• ความเชื่อที่ 3 คนรุ่นใหม่ไม่มีความอดทน คำพูดนี้ผมเชื่อว่าหลายท่านน่าจะเคยได้ยินมาบ้าง เนื่องจากคนรุ่นเก่ามองว่า เด็กรุ่นใหม่เวลาทำอะไร ก็ทำเร็วๆ ไม่ค่อยๆ ทำ บางครั้งก็ใจร้อน รอคอยไม่ค่อยจะได้ นอกจากนั้น ยังทำงานไปเล่นไป เปลี่ยนไปมาระหว่างงาน กับเรื่องอื่นๆ บางคนก็ใจร้อนมากอยากจะเป็นผู้จัดการตั้งแต่อายุน้อยๆ ทั้งๆ ที่คนรุ่นเก่านั้นต้องทำงานกว่า 10 ปีถึงจะได้มีโอกาสเลื่อนขึ้นไปไปผู้จัดการ ก็เลยถูกมองว่า เด็กรุ่นใหม่ไม่มีความอดทนพอ

• ข้อโต้แย้ง เนื่องจากเด็กรุ่นใหม่โตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โลกอินเตอร์เน็ตที่สามารถจะหาข้อมูลทุกอย่างได้ในพริบตา ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ทักษะ ข้อมูลข่าวสารต่างๆ อยากรู้อะไร อยากได้อะไร ก็หาเอาได้เลยจากอินเตอร์เน็ต ก็เลยทำให้ทุกอย่างมันรวดเร็วไปหมด การพัฒนาตนเองในสมัยนี้ก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็วกว่าสมัยก่อนหลายเท่า ปัจจุบันอยากเรียนอะไร อยากพัฒนาเรื่องอะไร เราก็สามารถหาได้ในทันที แถมมีให้เลือกเยอะด้วย ด้วยเหตุผลนี้เอง ที่ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องการที่จะเติบโตและก้าวหน้าในหน้าที่การงานอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังรออะไรนานๆ ก็ไม่ค่อยจะได้ เพราะชีวิตที่โตมานั้นโตมาพร้อมกับคำตอบที่รวดเร็ว ดังนั้นเด็กรุ่นใหม่เองก็มองว่าเขาก็มีความอดทนเช่นกัน แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่แตกต่างไป ก็เลยทำให้เรื่องของเวลามันเร็วขึ้นกว่าในอดีต

นี่ก็เป็นอีกมุมมองและความเชื่อที่มีต่อคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่า คนเราทุกคนไม่ว่าจะเกิดในรุ่นไหนก็ตาม ต่างก็ต้องการสิ่งที่เป็นพื้นฐานในการมีชีวิตอยู่เหมือนๆ กัน ต้องการเงิน ต้องการความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ต้องการความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ต้องการประสบความสำเร็จกันทั้งนั้น

แต่สิ่งที่ทำให้คนแต่ละรุ่นมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ก็เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เติบโตขึ้นมาของคนแต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันมาก ทำให้ความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมของคนแสดงออกแตกต่างกันไป

การที่องค์กรจะทำให้คนทุกรุ่นที่ทำงานในองค์กรสามารถที่จะทำงานร่วมกัน อยู่ร่วมกัน และสร้างความสำเร็จร่วมกันได้นั้น คำตอบอยู่แค่เพียงคำว่า “ความเข้าใจกัน” แค่นั้นเองครับ

ไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหน จะเก่าแค่ไหน หรือใหม่แค่ไหน ต่างคนต่างก็ต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน คนรุ่นเดิม ก็ต้องเรียนรู้ว่า Gen X Gen Y คิดอย่างไร (ซึ่งผมเชื่อว่าไปฟังมาเยอะแล้ว) ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ต้องเรียนรู้เช่นกันว่า คนรุ่นเดิมนั้นคิดอย่างไร และต้องการอะไร ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วผมไม่ค่อยเห็นองค์กรไหนมีการฝึกอบรมคนรุ่นใหม่ให้เข้าใจคนรุ่นเก่าเลย มีแต่เอาคนรุ่นเก่ามาเรียนรู้ถึงอุปนิสัยของคนรุ่นใหม่มากกว่า ผลก็คือ ยังไม่เข้าใจกันอยู่ดี

ดังนั้นไม่ว่าจะรุ่นไหนก็ตาม ต่างก็ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และต้องปรับตัวเข้าหากันให้ได้ เพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกัน สร้างผลงานให้กับองค์กรให้ได้ตามเป้าหมาย



บทความโดย : คุณประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 8614
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การทำงาน เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิต ซึ่งรูปแบบของการจ้างงานไม่ได้มีเพียงงานประจำและรอเวลาเกษียณอายุเพียงเท่านั้น แต่ยังมีลักษณะการจ้างงานอีกหลายประเภท ที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไปได้ ในบทความนี้จะมาสรุปสั้น ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าการจ้างงานมีกี่ประเภท และแต่ละประเภทมีข้อดีแตกต่างกันอย่างไร
การพาพนักงานไป Outing ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการหลัก ๆ ที่หลายองค์กรมี เพื่อดึงดูดพนักงานทั้งภายในและภายนอกให้อยากมาร่วมงานกันด้วย โดยวัตถุประสงค์หลักของการไป Outing ก็เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และเพื่อตอบแทนพนักงาน ให้ได้ผ่อนคลายจากการทำงานประจำวันอันตึงเครียดมายาวนาน โดยที่บริษัทจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมด
ระบบลงเวลาเข้า-ออกของพนักงาน คือ ระบบที่ช่วยในการบันทึกเวลาการทำงานของพนักงาน ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ (Finger Scanner), สมาร์ทโฟน (Smart Phone), แท็บเล็ต (Tablet), ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน ปลอดภัย และเชื่อมต่อสู่ระบบข้อมูลกลางอย่างระบบคลาวด์ (Cloud System) ได้ โดยจะระบุเวลาที่พนักงานเข้ามาทำงานและออกจากงานในแต่ละวัน ดูสถิติ ขาด ลา มาสาย ระบบนี้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเวลาและการทำงานของพนักงาน ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) และฝ่ายบริหารสามารถติดตามการทำงานของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ข้อมูลที่บันทึกเพื่อคำนวณเงินเดือน สวัสดิการ ค่าล่วงเวลา และการจัดทำรายงานการเข้างานได้อย่างแม่นยำ ตอบโจทย์การทำงานในธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกร้อง ค่าชดเชยจากนายจ้าง อันนี้เป็นสิทธิ์ของเรานะ พี่ทุยบอกเลยว่า เงินค่าชดเชย เป็นสิ่งที่นายจ้าง ต้องจ่าย ให้กับพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือในกรณีให้ออกจากงาน ซึ่งไม่ได้มาจากทำความผิดของพนักงานหรือลูกจ้าง แต่อาจจะด้วยเหตุผลบางอย่างที่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง
ในแต่ละเดือนที่เราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนั้น ก็จะมีเงินส่วนหนึ่งที่จัดเก็บเข้าเป็นเงินสะสมประกันสังคม ซึ่งเงินส่วนนี้เองเราสามารถเช็คเงินสะสมประกันสังคมได้เองผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย มาดูกันครับว่าทำยังไง แล้วยอดเงินประกันสังคมนี้ทำอะไรได้บ้าง

Employee Referral Program หรือ โครงการแนะนำพนักงาน คือระบบที่องค์กรใช้เพื่อกระตุ้นให้พนักงานที่ทำงานอยู่แนะนำบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับ โดยทั่วไปโครงการนี้มักมีการมอบรางวัลหรือโบนัสให้กับพนักงานที่แนะนำคนที่ถูกคัดเลือกและรับเข้าทำงานในองค์กรสำเร็จ โครงการแนะนำพนักงานนี้มีข้อดีหลายประการ เช่น การลดต้นทุนในการจ้างงาน เพิ่มคุณภาพของผู้สมัคร และสร้างความผูกพันให้กับพนักงานในองค์กร
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์