ข้อควรระวังในการสัมภาษณ์ผู้สมัครเข้าทำงาน

ข้อควรระวังในการสัมภาษณ์ผู้สมัครเข้าทำงาน



เรื่องของการสรรหาคัดเลือกพนักงานใหม่ ก็ยังคงเป็นงานหลักของฝ่ายบุคคลในทุกวันนี้ เพราะนี่คืองานในขั้นตอนแรกๆ ของกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคลเลยก็ว่าได้ เรื่องของการหาคนเข้าทำงานนั้น ถ้ามองกันให้ลึกแล้ว เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากต่อองค์กร ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับการสรรหาและคัดเลือกพนักงานแล้ว องค์กรก็จะได้พนักงานที่ไม่เหมาะสม มีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่ต้องการบ้าง หรือได้มาแบบงงๆ ว่าเข้ามาได้อย่างไร ผลก็คือ ทำงานไม่ได้ ผลงานไม่ออก หัวหน้าก็เหนื่อยเหมือนเดิม แถมองค์กรเองก็ไม่กล้าที่จะให้พนักงานกลุ่มนี้ออกจากบริษัทอีก

เมื่อการสรรหาและคัดเลือกพนักงานมีความสำคัญแบบนี้ ทำไมองค์กรหลายแห่งถึงไม่เคยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย กลับปล่อยปละละเลย ไม่มีการกำหนดมาตรฐานของการคัดเลือกพนักงานไว้เลย โดยเฉพาะเรื่องของการสัมภาษณ์ผู้สมัคร พูดได้เลยว่า บางองค์กรนั้น มีผู้จัดการคนไหนว่าง ก็เรียกมาช่วยสัมภาษณ์หน่อย และการสัมภาษณ์แต่ละครั้ง ก็ไม่มีการวางมาตรฐานไว้เลย สุดท้าย ก็เลยมั่วครับ ได้คนแบบไม่ค่อยตรงกับที่บริษัทต้องการ

ข้อควรระวังในเรื่องของการสัมภาษณ์ผู้สมัครมีอะไรบ้าง ลองมาดูกันทีละประเด็น

• ตัดสินใจเร็วไปหน่อย ว่าชอบหรือไม่ชอบ ผู้สัมภาษณ์ไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตาม หัวหน้างาน ผู้จัดการ หรือผู้อำนวยการ ฯลฯ ต่างก็เป็นมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง ซึ่งมี รัก โลภ โกรธ หลง อยู่ในตัวเอง การที่ผู้จัดการสัมภาษณ์พนักงาน บางครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ แค่เพียงเห็นหน้าตา และท่าทางของผู้สมัคร ก็ด่วนตัดสินในไปแล้วว่า ไม่ชอบ ไม่ดี ไม่เหมาะสม ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้เริ่มคุยเลยด้วยซ้ำไป และเมื่อไหร่ที่ผู้สัมภาษณ์คิดแบบนี้ การสัมภาษณ์ก็จะกร่อยๆ ถามไปงั้นๆ ให้เป็นพิธี เพราะในใจคิดไว้แล้วว่า ไม่ชอบ และไม่อยากได้ ซึ่งหารู้ไม่ว่า ผู้สมัครบางคน อาจจะไม่มีหน้ากากอะไรมาปิดบัง ซึ่งทำให้เราเห็นว่า ดูไม่ค่อยดีนัก แต่เอาเข้าจริง กลับเป็นคนที่เก่งมาก ผมก็เคยพบกับผู้สมัครลักษณะนี้มาก่อน ก็คือ เข้ามาในห้องสัมภาษณ์แล้วดูไม่น่าประทับใจเลย เรียกได้ว่าไม่เกิดความประทับใจแรกพบเลย แต่เราก็สัมภาษณ์กันต่อ โดยไม่ได้คิดอะไร สุดท้ายผู้สมัครท่านนี้ กลับกลายเป็นคนที่มีความคิดที่ดี มีประสบการณ์ในการทำงานที่เหมาะสมกับงานของบริษัท และสุดท้ายผู้สมัครท่านนี้ก็กลายเป็น star ขององค์กรจนทุกวันนี้ ดังนั้นจงระวังเรื่องของการด่วนตัดสินใจบนพื้นฐานของความชอบ ไม่ชอบส่วนตัว เพราะจะทำให้เราเสียโอกาสที่จะได้พนักงานมือดีเข้ามาทำงานในองค์กรได้

• ปล่อยการสัมภาษณ์ให้เป็นไปตามยถากรรม อีกประเด็นที่ต้องระวังก็คือ การสัมภาษณ์พนักงานนั้น เราทำขึ้นเพื่อที่จะได้รู้จักผู้สมัครงานมากขึ้น ดังนั้น เราควรจะใช้เวลาในช่วงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการไม่ปล่อยให้การพูดคุยกันนั้นเป็นไปแบบไม่มีทิศทางอะไร ใครอยากถามอะไร ก็ถาม ใครอยากรู้เรื่องอะไรจากผู้สมัคร ก็ถามกันไป โดยไม่มีการตั้งเป้าหมายไว้ว่า เราจะสัมภาษณ์เพื่อที่จะได้คำตอบอะไรบ้าง ดังนั้นการสัมภาษณ์ที่ดี และได้ผล ก็คือ ต้องมีการกำหนดและหาพฤติกรรมบางอย่างของตำแหน่งงานนั้นที่ผู้สมัครจะต้องมี และแสดงออกให้เห็นในระหว่าสัมภาษณ์ จากนั้นก็ต้องนั่งกำหนดแนวคำถามที่จะใช้ เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่เราต้องการทราบ ส่วนในการสัมภาษณ์จริงนั้น ก็อาจจะมีการพูดคุยเรื่องอื่นๆ บ้าง นอกเรื่องบ้าง ก็ให้เป็นไปตามธรรมชาติ และต้องไม่ลืมที่จะแทรกคำถามต่างๆ ที่เราเตรียมไว้ ให้เป็นธรรมชาติ และพยายามใช้คำถามเหล่านี้กับผู้สมัครทุกคน จะได้เปรียบเทียบกันได้ว่าใครเหมาะสมที่สุด

• จงเตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์เสมอ ในการสัมภาษณ์ผู้สมัครเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถตัดสินใจเลือกได้นั้นจะต้องมีการเตรียมตัวก่อนล่วงหน้าทุกครั้งที่จะมีการสัมภาษณ์ พยายามวางแผนการสัมภาษณ์กันเลยว่าใน 1-2 ชั่วโมงที่เราจะคุยกับผู้สมัครนั้น จะคุยอะไรบ้าง แบ่งเป็นกี่ช่วง เช่น ช่วงเริ่มต้น จะคุยอะไร ช่วงเนื้อหาจริงๆ จะต้องถามอะไรคุยอะไร และช่วงสรุป จะต้องปิดประเด็นอะไรให้ได้บ้าง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถ้ามีการเตรียมพร้อมกันก่อนล่วงหน้า ก็จะทำให้เวลาที่เราใช้ในการสัมภาษณ์ผู้สมัคร เป็นเวลาที่คุ้มค่า และได้ข้อมูลที่ครบถ้วน พร้อมในการตัดสินใจว่าจะเลือกใครดี

อย่าคิดว่าการสัมภาษณ์ผู้สมัครนั้นเป็นเพียงพิธีการอย่างหนึ่ง ก็เลยคิดว่า ใครก็ได้ที่ว่างก็มาสัมภาษณ์ได้หมด และจะถามอะไรก็ถามไปให้หมดเวลาไป ถ้าคนไหนไม่ชอบ ก็ถามน้อยหน่อย คนไหนชอบ ก็ถามเยอะหน่อย เพราะถ้าองค์กรใดสัมภาษณ์ผู้สมัครด้วยวิธีนี้ รับรองได้เลยครับว่า จะไม่มีทางที่จะได้พนักงานที่ตรงและเหมาะสมกับองค์กรได้เลย ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผลงานขององค์กรในระยะยาวอีกด้วย เพราะถ้าพนักงานที่เราหามานั้นไม่เหมาะกับเราจริงๆ เขาอาจจะส่งต่อความไม่เหมาะนั้นให้กับคนอื่น ซึ่งจะมีผลต่อผลงานขององค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย



บทความโดย : คุณประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 4304
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การพาพนักงานไป Outing ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการหลัก ๆ ที่หลายองค์กรมี เพื่อดึงดูดพนักงานทั้งภายในและภายนอกให้อยากมาร่วมงานกันด้วย โดยวัตถุประสงค์หลักของการไป Outing ก็เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และเพื่อตอบแทนพนักงาน ให้ได้ผ่อนคลายจากการทำงานประจำวันอันตึงเครียดมายาวนาน โดยที่บริษัทจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมด
ระบบลงเวลาเข้า-ออกของพนักงาน คือ ระบบที่ช่วยในการบันทึกเวลาการทำงานของพนักงาน ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ (Finger Scanner), สมาร์ทโฟน (Smart Phone), แท็บเล็ต (Tablet), ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน ปลอดภัย และเชื่อมต่อสู่ระบบข้อมูลกลางอย่างระบบคลาวด์ (Cloud System) ได้ โดยจะระบุเวลาที่พนักงานเข้ามาทำงานและออกจากงานในแต่ละวัน ดูสถิติ ขาด ลา มาสาย ระบบนี้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเวลาและการทำงานของพนักงาน ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) และฝ่ายบริหารสามารถติดตามการทำงานของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ข้อมูลที่บันทึกเพื่อคำนวณเงินเดือน สวัสดิการ ค่าล่วงเวลา และการจัดทำรายงานการเข้างานได้อย่างแม่นยำ ตอบโจทย์การทำงานในธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกร้อง ค่าชดเชยจากนายจ้าง อันนี้เป็นสิทธิ์ของเรานะ พี่ทุยบอกเลยว่า เงินค่าชดเชย เป็นสิ่งที่นายจ้าง ต้องจ่าย ให้กับพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือในกรณีให้ออกจากงาน ซึ่งไม่ได้มาจากทำความผิดของพนักงานหรือลูกจ้าง แต่อาจจะด้วยเหตุผลบางอย่างที่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง
ในแต่ละเดือนที่เราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนั้น ก็จะมีเงินส่วนหนึ่งที่จัดเก็บเข้าเป็นเงินสะสมประกันสังคม ซึ่งเงินส่วนนี้เองเราสามารถเช็คเงินสะสมประกันสังคมได้เองผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย มาดูกันครับว่าทำยังไง แล้วยอดเงินประกันสังคมนี้ทำอะไรได้บ้าง

Employee Referral Program หรือ โครงการแนะนำพนักงาน คือระบบที่องค์กรใช้เพื่อกระตุ้นให้พนักงานที่ทำงานอยู่แนะนำบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับ โดยทั่วไปโครงการนี้มักมีการมอบรางวัลหรือโบนัสให้กับพนักงานที่แนะนำคนที่ถูกคัดเลือกและรับเข้าทำงานในองค์กรสำเร็จ โครงการแนะนำพนักงานนี้มีข้อดีหลายประการ เช่น การลดต้นทุนในการจ้างงาน เพิ่มคุณภาพของผู้สมัคร และสร้างความผูกพันให้กับพนักงานในองค์กร
การจัดกะพนักงาน คือ กระบวนการวางแผนและจัดระเบียบเวลาทำงานของพนักงานให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กรในแต่ละช่วงเวลา โดยแบ่งเวลาทำงานออกเป็นหลายช่วง (หรือหลายกะ) เพื่อให้มีพนักงานเพียงพอในการปฏิบัติงานตลอดเวลา เช่น ในกรณีขององค์กรที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงหรือมีความต้องการกำลังคนที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์