ในการทำงานในองค์กรนั้น โดยปกติจะมีการแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจนในแต่ละหน่วยงาน โดยจะมีการกำหนดขอบเขต ขั้นตอนการทำงาน ไว้อย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของการทำงาน โดยหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานต่างก็จะถูกกำหนดเป็นภารกิจหลักของหน่วยงาน นั้นๆ เช่น ฝ่ายการตลาด ฝ่ายขาย ฝ่ายการเงิน ฝ่ายบัญชี ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายบุคคล ฯลฯ ต่างฝ่ายก็ต่างมีหน้าที่ที่ตนจะต้องรับผิดชอบอย่างชัดเจน แต่ในการบริหารงานในองค์กร กลับกลายเป็นว่ามีบางหน้าที่ และบางงานที่คนในองค์กรก็ยังสับสนอยู่มาก ว่าจริงๆ แล้วเป็นหน้าที่ของใครกันแน่ ลองมาดูกันนะครับว่างานเหล่านี้ ตกลงควรจะเป็นหน้าที่ของใคร • การดูแลพนักงานให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับในการทำงานของบริษัท เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมากว่า จริงๆ แล้วใครกันแน่ที่ต้องทำหน้าที่ดูแลพนักงานให้อยู่ในกฎระเบียบของบริษัท ทางพนักงานและผู้จัดการก็มักจะมองว่า งานนี้เป็นงานของฝ่ายบุคคลที่ต้องทำให้พนักงานอยู่ในกฎระเบียบ ทางฝ่ายบุคคลเองก็มองว่า งานนี้ต้องเป็นหน้าที่ของหัวหน้างาน และผู้จัดการโดยตรงในสายงานต่างๆ ที่จะต้องดูแลให้พนักงานของตนเองปฏิบัติตามกฎระเบียบของบริษัทอย่างเคร่งครัด พอตกลงกันไม่ได้ สุดท้ายก็เลยไม่มีใครมาดูแล เพราะต่างฝ่ายต่างก็โยนให้กัน • การลงโทษพนักงานที่ทำผิดกฎ ประเด็นนี้ ก็มีความสับสนเกิดขึ้นมากระหว่าง ผู้จัดการสายงาน กับฝ่ายบุคคลอีกเช่นกัน ว่าถ้าพนักงานทำความผิดขึ้นมาจริงๆ แล้ว ใครกันแน่ที่จะต้องทำหน้าที่ว่ากล่าวตักเตือน รวมถึงลงโทษตามระเบียบที่กำหนดไว้ ผู้จัดการสายงานก็มองว่า นี่เป็นงานของฝ่ายบุคคล เวลาที่ลูกน้องของตนเองทำผิด ก็โยนมาให้ฝ่ายบุคคลตักเตือน และลงโทษ แต่ฝ่ายบุคคลก็บอกว่า ลูกน้องใคร ใครก็ว่ากล่าวตักเตือนและลงโทษกันเอง โดยใช้กฎระเบียบที่ฝ่ายบุคคลได้เขียนไว้ และผู้บริหารระดับสูงอนุมัติไว้แล้วเป็นพื้นฐาน ไม่ต้องส่งมาให้ฝ่ายบุคคลลงโทษ เพราะจริงๆ แล้วอำนาจไม่ได้อยู่ทีฝ่ายบุคคล แล้วตกลงเป็นหน้าที่ของใครกันแน่ • การสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ในปัจจุบันนี้มีการพูดคุยกันมากว่า การทำให้พนักงานรู้สึกรัก และผูกพันกับองค์กรนั้น เป็นหน้าที่ของใครกันแน่ ทางผู้จัดการสายงาน ก็บอกว่า เรื่องของการพนักงานทั้งหมด ก็ต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายบุคคล จะต้องทำให้พนักงานรู้สึกรักองค์กรให้ได้ เพราะฝ่ายบุคคลเป็นฝ่ายที่ดูแลเรื่องของพนักงานทั้งหมด แต่ฝ่ายบุคคลก็บอกว่า การที่พนักงานจะรักหรือไม่รัก ผูกพันหรือไม่ผูกพันนั้น ไม่ใช่เกิดจากฝ่ายบุคคลเลย แต่เกิดจากหัวหน้างาน และผู้จัดการตามสายงานมากกว่า เพราะพนักงานทำงานอยู่กับหัวหน้างานของตนทุกวัน ดังนั้นการสร้างความรู้เหล่านี้ ก็จะทำได้ง่ายกว่ามาก ดังนั้นการที่จะทำให้พนักงานรู้สึกรักชอบงาน และองค์กร ก็ควรจะเป็นหน้าที่ของผู้จัดการตามสายงานมากกว่า แล้วตกลงเป็นหน้าที่ของใครกันแน่ • การพัฒนาพนักงาน อีกเรื่อง ที่ยังคงมีการถกเถียงกันอย่างมาก ทั้งๆ ที่ไม่น่าจะเถียงกันแล้วว่าเป็นหน้าที่ของใครกันแน่ ก็คือ เรื่องของการพัฒนาพนักงาน ผู้จัดการตามสายงาน ก็มองว่า การพัฒนาพนักงานนั้นเป็นหน้าที่ของฝ่ายบุคคลที่จะต้องวางแผนการพัฒนาให้กับพนักงานแต่ละคนในองค์กร และทำหน้าที่ในการส่งพนักงานไปฝึกอบรมตามแผนนั้นๆ แต่ฝ่ายบุคคลก็บอกว่า มันคงเป็นไปไม่ได้ เพราะฝ่ายบุคคลไม่ได้รู้จักข้อดี ข้อเสีย ของพนักงานแต่ละคนเลย ไม่รู้ว่าใครเก่งอะไร และต้องเติมความรู้ในเรื่องอะไรบ้าง คนที่รู้จักพนักงานดีที่สุดก็คือ หัวหน้าโดยตรงของพนักงาน ดังนั้น หัวหน้างานจึงควรจะทำหน้าที่ในการวางแผนพัฒนาพนักงานแต่ละคนที่ตนดูแลอยู่ โดยฝ่ายบุคคลจะทำหน้าที่ประสานงาน และจัดหาวิทยากรที่เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ มาให้มากกว่า แต่ไม่ใช่คนที่จะทำหน้าที่วางแผนการพัฒนาให้กับพนักงานโดยตรง • การเลิกจ้างพนักงาน อีกเรื่องที่ตกลงกันไม่ค่อยได้ ก็คือ เรื่องของการเลิกจ้างพนักงาน ใครกันแน่ที่จะต้องทำหน้าที่เลิกจ้างพนักงาน หัวหน้างาน และผู้จัดการสายงาน ก็บอกว่า ต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายบุคคลที่จะต้องทำหน้าที่เรียกพนักงานมาบอกว่า จะเลิกจ้างแล้วจะ ผู้จัดการไม่น่าจะเกี่ยวอะไรด้วย ส่วนฝ่ายบุคคลก็บอกว่า คนที่จะเลิกจ้างพนักงานจริงๆ นั้น มาจากหัวหน้างานและผู้จัดการมากกว่า ที่มองว่าพนักงานไม่สามารถทำงานได้ หรือได้ทำความผิดร้ายแรงจนถึงขั้นเลิกจ้าง ดังนั้น คนที่จะเป็นคนเลิกจ้างพนักงานควรจะเป็นหัวหน้างานโดยตรงไม่ใช่ฝ่ายบุคคล เพราะฝ่ายบุคคลไม่รู้ว่าผลงานและพฤติกรรมของพนักงานคนนั้นเป็นอย่างไรในราย ละเอียด แล้วตกลงเป็นหน้าที่ของใครกันแน่ สรุปแล้วหน้าที่ต่างๆ ข้างต้น ควรจะเป็นหน้าที่ของใครครับ ท่านผู้อ่านมีคำตอบบ้างหรือไม่ครับ คำตอบที่ควรจะเป็นก็คือ จะต้องทำร่วมกันระหว่างหัวหน้างานโดยตรง กับฝ่ายบุคคลนั่นเองครับ หัวหน้างานจะรู้จักลูกน้องของตนดีที่สุด ส่วนฝ่ายบุคคลก็จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ว่าในแต่ละเรื่องจะต้องทำอย่างไร แต่อำนาจในการบริหารพนักงานจริงๆ แล้วอยู่ที่หัวหน้างานมากกว่าฝ่ายบุคคลครับ บทความโดย : คุณประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com |