ในการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น ส่วนใหญ่มักจะมีตัวชี้วัดอยู่ 1 ตัวที่เกือบทุกองค์กรจะต้องนำมาใช้ประเมินดูว่า องค์กรสามารถที่จะรักษาพนักงานไว้ได้ดีสักแค่ไหน ตัวชี้วัดตัวนั้นก็คือ “อัตราการลาออกของพนักงาน” บทความงานวิจัยต่างๆ ที่มีขึ้นมานั้น พยายามจะศึกษาว่า ทำไมพนักงานถึงลาออกจากองค์กร แล้วก็พยายามเอาสาเหตุต่างๆ ที่พนักงานบอกมาในการ Exit interview มาแก้ไขระบบงานต่างๆ ภายในองค์กรเพื่อทำให้อัตราการลาออกของพนักงานน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรส่วนใหญ่ทำกัน แต่ทำไมถึงไม่ค่อยมีงานวิจัยที่ศึกษาว่าทำไมพนักงานถึงอยู่ทำงานกับองค์กรนานๆ หรือเรากำลังไม่สนใจคนที่ทำงานอยู่กับเรานานๆ แต่ไปสนใจคนที่ลาออกจากองค์กรมากกว่า ซึ่งในการทำ Exit Interview โดยส่วนใหญ่ที่เคยทำมา ข้อมูลมักจะเป็นข้อมูลที่เชื่อไม่ค่อยได้สักเท่าไหร่ บางคนก็พูดตรงๆ บางคนก็เติมแต่งจนคนในองค์กรเป็นผู้ร้ายไปหมดทุกคน บางคนก็ใส่ร้ายป้ายสี และจัดเต็มก่อนลาออก เพราะไม่ต้องกลัวว่าจะเสียอะไรแล้ว ซึ่งทำให้ข้อมูลจากการทำ Exit Interview นั้นไม่ค่อยน่าเชื่อถือสักเท่าไหร่ ในทางตรงกันข้าม พนักงานที่อยู่ทำงานกับองค์กรนานๆ ทำงานดีๆ และไม่คิดจะลาออกไปไหนเรากลับไม่ค่อยสนใจ หรือใส่ใจไปสอบถามว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาอยู่ ทั้งนี้ก็เนื่องจากเราอาจจะเชื่อว่า ก็พนักงานยังอยู่ทำงานก็ดีแล้ว จะไปถามทำไมให้เสียเวลา แต่ผมกลับมองตรงกันข้ามนะครับ การที่เราทราบว่าพนักงานที่อยู่ทำงานกับองค์กร และไม่อยากจากไปไหนนั้น เป็นเพราะสาเหตุอะไรบ้าง เราจะได้เห็นว่า จุดแข็งขององค์กรเราที่ทำให้พนักงานอยากอยู่ทำงานกับเรานั้นมีอะไรบ้าง และเอาสาเหตุเหล่านี้มาเป็นแนวทางในการสร้างความผูกพัน และรักษาพนักงานในองค์กรได้ดีกว่า การไปเอาสาเหตุที่พนักงานลาออกมาใช้ โดยที่ข้อมูลก็เป็นข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือสักเท่าไหร่ นี่ก็คือสาเหตุที่ปัจจุบันนี้ องค์กรส่วนใหญ่เริ่มที่จะหันมาทำเรื่องของอัตราความพึงพอใจของพนักงาน หรือไม่ก็สำรวจอัตราความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรในเรื่องต่างๆ ซึ่งจะได้นำเอาข้อมูลในส่วนนี้มาใช้ในการพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่มีผลต่อความผูกพันของพนักงาน เพื่อสร้างความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กรให้สูงขึ้นนั่นเองครับ บทความโดย : คุณประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com |