แบบไหนที่เรียกว่าทุ่มเททำงานให้กับองค์กร

แบบไหนที่เรียกว่าทุ่มเททำงานให้กับองค์กร



วันนี้จะขอคุยเรื่องของประเด็นสมรรถนะ หรือ Competency ที่หลายๆ องค์กรมีการนำเอาไปใช้เพื่อที่จะสรรหาคัดเลือกพนักงาน พัฒนาพนักงาน รวมถึงการประเมินผลงานงานพนักงานด้วย มี competency อยู่ตัวหนึ่งซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก ว่าจะพิจารณาอย่างไร ก็คือเรื่องของ ความทุ่มเททำงานให้กับองค์กร

มีข้อถกเถียงกันมากมายในเรื่องของความทุ่มเท ว่าพฤติกรรมแบบไหนของพนักงานที่เรียกว่ามีความทุ่มเททำงานให้กับองค์กร หลายองค์กรที่กำหนดพฤติกรรมหลักในการทำงานว่า พนักงานจะต้องมีความทุ่มเททำงาน แล้วเราจะประเมินอย่างไรว่าพนักงานมีความทุ่มเทสักแค่ไหน

ลองมาดูมุมมองของผู้บริหารส่วนใหญ่ ที่ผมเคยได้ทำ workshop ในเรื่องของ ความทุ่มเทของพนักงานดูว่ามีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไรกันบ้าง

• พฤติกรรมของพนักงานที่มีความทุ่มเทก็คือ พนักงานที่มาทำงานก่อนเวลาเข้างาน และอยู่ทำงานจนดึกดื่น เพื่อให้งานสำเร็จ ต้องทำงานหนัก ไม่มีการหยุดพักใดๆ เชื่อมั้ยครับว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่มองพนักงานที่มีความทุ่มเท โดยดูจากเวลาการมาทำงาน และเวลาการกลับบ้านของพนักงาน

คำถามก็คือ เวลาการทำงานของพนักงานเอามาวัดพฤติกรรมเรื่องของความทุ่มเททำงานได้จริงหรือ??

คำตอบที่ผมได้รับมาก็แบ่งออกเป็น 2 ด้านใหญ่ๆ ก็คือ

• วัดได้ โดยผู้บริหารที่ เชื่อแนวทางนี้ให้เหตุผลว่า เวลาการทำงานเป็นสิ่งที่บอกเราได้อย่างชัดเจนว่า พนักงานมีความตั้งใจ และทุ่มเททำงานมากน้อยเพียงใด คนที่มาทำงานก่อนเวลา มาถึงบริษัทแต่เช้า แสดงว่าเขามีความตั้งใจมากที่จะมาทำงาน และนอกจากนั้นยังอยู่ทำงานจนดึกดื่น เพื่อให้งานเสร็จ นี่ก็ยิ่งแสดงให้เราเห็นได้ว่า เขามีความตั้งใจ และทุ่มเทแรงกายแรงใจในการทำงานอย่างมากมาย เมื่อเทียบกับพนักงานที่มาทำงานแบบตรงเวลาเป๊ะๆ และพอถึงเวลาเลิกงานก็เดินออกจากบริษัทแบบตรงเวลาอีกเช่นกัน แสดงว่าพนักงานกลุ่มนี้ไม่มีความตั้งใจมากพอ และไม่มีความทุ่มเทมากพอเมื่อเทียบกับพนักงานกลุ่มแรกที่กล่าวไป

• ไม่น่าจะใช้วัดได้ ผู้บริหารอีกกลุ่มหนึ่งมองว่า การเอาเวลาการทำงานมาวัดความทุ่มเทในการทำงานของพนักงานนั้น ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะก็มีพนักงานหลายคนที่มาถึงบริษัทแต่เช้า แต่ก็ไม่ได้เริ่มทำงาน แค่เพียงมาตอกบัตรและลงไปเดินเล่น กว่าจะเริ่มลงมือทำงานบางครั้งยังเริ่มลงมือทำงานช้ากว่าพนักงานที่มาทำงาน ตรงเวลาเสียอีก ยิ่งไปกว่านั้น ตอนเย็นก็อยู่ทำงานต่อ ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่า เขาทุ่มเท เพราะที่เขาต้องอยู่ทำงานจนดึกดื่นก็เพราะ พนักงานคนนั้นทำงานไม่ได้ หรืออาจจะไม่มีทักษะมากพอ ก็เลยต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่นที่เขาทำได้เก่งแล้ว หรือพนักงานบางคนที่อยู่บริษัทจนดึกดื่น จริงๆ แล้วก็ไม่ได้นั่งทำงานเลย นั่งทำอย่างอื่นมากกว่า ซึ่งก็เป็นการสิ้นเปลืองไฟฟ้าของบริษัทมากขึ้นอีกด้วย ผิดกับพนักงานที่ทำงานอย่างชาญฉลาด ใช้สมองทำงาน มีการวางแผนการทำงานอย่างดี มาทำงานตรงเวลา แล้วก็ลุยทำงานไปเรื่อย จนกระทั่งงานเสร็จก่อนเวลา พอถึงเวลาเลิกงานก็กลับบ้านได้อย่างสบายใจ

แล้วแบบไหนล่ะครับ ที่เรียกว่าพนักงานมีความทุ่มเทจริงๆ

จริงๆ แล้วการที่พนักงานอยู่ทำงานมืดค่ำ นั้นมีอยู่หลายลักษณะครับ 

• อยู่ทำงานจริงๆ เนื่องจากปริมาณงานเยอะมาก ทำยังไงก็ไม่เสร็จในแปดชั่วโมง ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ จนเสร็จ ถ้าเป็นลักษณะนี้ ปัญหาคงไม่ได้อยู่ที่ทุ่มเทหรือไม่ทุ่มเทแล้วล่ะครับ แต่อยู่ที่บริษัทอาจจะมีกำลังคนไม่เพียงพอในการทำงานจนทำให้พนักงานต้องนั่ง ทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ ทำแบบนี้ไปนานๆ เข้า ก็มีแต่เสียนะครับ สุขภาพก็จะเสีย ผลงานก็จะเริ่มแย่ลง เพราะสุขภาพไม่เอื้ออำนวย

• อยู่ทำงาน เพราะทำไม่เป็น อีกสาเหตุที่ทำให้พนักงานอยู่ทำงานแบบไม่เลิกเลย ก็อาจจะเป็นว่า พนักงานคนนั้นยังขาดทักษะในการทำงาน ก็เลยทำให้เวลาแปดชั่วโมงที่มีอยู่นั้น ไม่สามารถจัดการงานให้สำเร็จลงได้ ก็เลยต้องนั่งคลำและหาวิธีการทำงานแบบค่อยๆ ไป

• อยู่ดึก แต่ไม่ได้ทำงาน อีก ประเภทก็คืออยู่ดึกจริงๆ แต่ไม่ได้ทำงานอะไรเลย อยู่นั่งเล่น นั่งทำงานรายงานของตัวเองส่งเพราะกำลังเรียนต่อ หรืออยู่เพราะไม่อยากกลับบ้าน หรือรอรถหายติด บางคนเวลาทำงานก็ไม่ยอมทำ ปล่อยเวลาให้เสียเปล่าไป แต่พอใกล้ๆ เลิกงานก็เริ่มมานั่งทำงาน พนักงานกลุ่มนี้โดยมากจะมีสิทธิได้ค่าล่วงเวลา ก็เลยเอาเปรียบบริษัทตรงจุดนี้

ด้วยสาเหตุที่เขียนไปทั้งหมด ในมุมมองของผมเอง เรื่องของความทุ่มเท หรือไม่ทุ่มเทนั้น ผมคิดว่า เราสามารถพิจารณาจากผลงานที่ออกมาของพนักงานได้เช่นกัน ก็คือ ถ้าพนักงานทำงานสำเร็จตามระยะเวลาที่กำหนด โดยได้ตามปริมาณงานที่ตั้งเป้าหมายไว้ และคุณภาพงานที่ออกมาก็ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น นี่ก็น่าจะพออนุโลมได้ว่าพนักงานคนนั้นมีความตั้งใจ

นอกนั้นก็คงต้องดูจากพฤติกรรมจริงๆ ที่พนักงานแสดงออกในการทำงานว่าที่เขาทำงานนั้น เป็นเนื้องานสักเท่าไหร่ หรือจริงๆ แล้วใช้เวลางานไปกับการทำอย่างอื่นมากกว่า

ก็คงต้องเอาทั้งพฤติกรรมที่เห็น และผลลัพธ์ของงานที่ออกมา มาเป็นตัววัดว่าพนักงานมีความทุ่มเทสักแค่ไหน คงไม่ใช่มองแค่เรื่องของเวลาการมาทำงานแต่เช้าตรู่ และกลับบ้านดึกๆ ดื่นๆ มาเป็นตัวบอกว่าพนักงานทุ่มเท



บทความโดย : คุณประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 5484
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การพาพนักงานไป Outing ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการหลัก ๆ ที่หลายองค์กรมี เพื่อดึงดูดพนักงานทั้งภายในและภายนอกให้อยากมาร่วมงานกันด้วย โดยวัตถุประสงค์หลักของการไป Outing ก็เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และเพื่อตอบแทนพนักงาน ให้ได้ผ่อนคลายจากการทำงานประจำวันอันตึงเครียดมายาวนาน โดยที่บริษัทจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมด
ระบบลงเวลาเข้า-ออกของพนักงาน คือ ระบบที่ช่วยในการบันทึกเวลาการทำงานของพนักงาน ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ (Finger Scanner), สมาร์ทโฟน (Smart Phone), แท็บเล็ต (Tablet), ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน ปลอดภัย และเชื่อมต่อสู่ระบบข้อมูลกลางอย่างระบบคลาวด์ (Cloud System) ได้ โดยจะระบุเวลาที่พนักงานเข้ามาทำงานและออกจากงานในแต่ละวัน ดูสถิติ ขาด ลา มาสาย ระบบนี้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเวลาและการทำงานของพนักงาน ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) และฝ่ายบริหารสามารถติดตามการทำงานของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ข้อมูลที่บันทึกเพื่อคำนวณเงินเดือน สวัสดิการ ค่าล่วงเวลา และการจัดทำรายงานการเข้างานได้อย่างแม่นยำ ตอบโจทย์การทำงานในธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกร้อง ค่าชดเชยจากนายจ้าง อันนี้เป็นสิทธิ์ของเรานะ พี่ทุยบอกเลยว่า เงินค่าชดเชย เป็นสิ่งที่นายจ้าง ต้องจ่าย ให้กับพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือในกรณีให้ออกจากงาน ซึ่งไม่ได้มาจากทำความผิดของพนักงานหรือลูกจ้าง แต่อาจจะด้วยเหตุผลบางอย่างที่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง
ในแต่ละเดือนที่เราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนั้น ก็จะมีเงินส่วนหนึ่งที่จัดเก็บเข้าเป็นเงินสะสมประกันสังคม ซึ่งเงินส่วนนี้เองเราสามารถเช็คเงินสะสมประกันสังคมได้เองผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย มาดูกันครับว่าทำยังไง แล้วยอดเงินประกันสังคมนี้ทำอะไรได้บ้าง

Employee Referral Program หรือ โครงการแนะนำพนักงาน คือระบบที่องค์กรใช้เพื่อกระตุ้นให้พนักงานที่ทำงานอยู่แนะนำบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับ โดยทั่วไปโครงการนี้มักมีการมอบรางวัลหรือโบนัสให้กับพนักงานที่แนะนำคนที่ถูกคัดเลือกและรับเข้าทำงานในองค์กรสำเร็จ โครงการแนะนำพนักงานนี้มีข้อดีหลายประการ เช่น การลดต้นทุนในการจ้างงาน เพิ่มคุณภาพของผู้สมัคร และสร้างความผูกพันให้กับพนักงานในองค์กร
การจัดกะพนักงาน คือ กระบวนการวางแผนและจัดระเบียบเวลาทำงานของพนักงานให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กรในแต่ละช่วงเวลา โดยแบ่งเวลาทำงานออกเป็นหลายช่วง (หรือหลายกะ) เพื่อให้มีพนักงานเพียงพอในการปฏิบัติงานตลอดเวลา เช่น ในกรณีขององค์กรที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงหรือมีความต้องการกำลังคนที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์