อะไรที่ HR ควรลงทุน แต่กลับไม่ลงทุน

อะไรที่ HR ควรลงทุน แต่กลับไม่ลงทุน



การบริหารทรัพยากรบุคคลในองค์กรปัจจุบันนี้ มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย องค์กรขนาดใหญ่ ต่างพยายามที่จะพัฒนาระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลของตนเองให้มีประสิทธิภาพ ทัดเทียมกับองค์กรขนาดใหญ่อื่นๆ และเทียบกับองค์กรในต่างประเทศเลยก็มี องค์กรขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนทางด้านระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น ต่างก็คิดเหมือนกันว่า ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดที่จะผลักดันให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย ที่ต้องการก็คือ ทรัพยากรบุคคล เพราะคนสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านผลงานได้อยู่ตลอดเวลา

แต่สำหรับองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็ก กลับมองไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งบางครั้งมองตรงกันข้ามกับองค์กรขนาดใหญ่เลยก็มีสิ่งที่มักจะมองกันก็คือ คนเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการทำงานที่เราจ้างมา และเราก็จ่ายค่าตอบแทนให้ เพื่อให้เขาทำงานให้เรา แค่นั้นก็พอแล้ว ดังนั้นการลงทุนเรื่องอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องทำ เพราะเราก็จ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้ก็ถือเป็นสิ่งตอบแทนการทำงานให้กับพนักงานอยู่แล้ว ผลก็คือ พนักงานก็จะทำงานเหมือนกับที่นายจ้างต้องการก็คือ ทำงานแบบหุ่นยนต์ สั่งอะไรก็ทำแค่นั้น เวลามีอะไรผิดพลาด ก็ไม่คิดแก้ไข ด้วยเหตุผลว่า จ้างมาเพื่อทำงาน ไม่ได้จ้างมาเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เวลาที่องค์กรต้องการความร่วมมือจากพนักงานในการทำกิจกรรมต่างๆ พนักงานก็จะคิดเหมือนกับที่องค์กรคิดเช่นกัน ก็คือ ไม่ใช่หน้าที่ของเขา เพราะค่าจ้างที่เราได้มานั้นไม่ได้ให้เรามาเข้าร่วมกิจกรรมเหล่านี้สักหน่อย ฯลฯ

นี่คือสิ่งที่องค์กรมักจะได้จากพนักงาน ถ้าองค์กรนั้นมองไม่เห็นความสำคัญของทรัพยากรบุคคลอย่างจริงจัง และไม่มีการลงทุนเพื่อที่จะทำให้ทรัพยากรบุคคลเหล่านี้ มีความรู้ความสามารถมากขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พนักงานเองก็คงไม่อยากที่จะทำงานให้กับองค์กรที่มองคนว่าเป็นแค่เพียงหุ่นยนต์ที่จ้างมาเพื่อทำงาน

อะไรบ้างที่องค์กรส่วนใหญ่ควรจะลงทุนทางด้าน HR แต่กลับไม่ค่อยยอมลงทุน หรือต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะลงทุนดีหรือไม่ ลองมาดูกันนะครับ

• ลงทุนในการสรรหาคัดเลือกพนักงาน องค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง HR จะเริ่มลงทุนตั้งแต่การสรรหาพนักงาน ว่าจะสรรหาจากแหล่งไหนที่จะได้คนที่ตรงกับความต้องการของเรา แม้ว่าแหล่งการสรรหานั้นอาจจะมีต้นทุนที่สูง แต่องค์กรก็ยอมที่จะลงทุน เพื่อให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงาน และสร้างผลงานให้กับองค์กรได้ ผิดกับองค์กรที่ไม่ให้ความสำคัญในเรื่อง HR ก็จะคิดแค่เพียงว่า หาแหล่งสรรหาไหนก็ได้ที่ถูกๆ เอาแบบฟรีๆ ได้ยิ่งดี เพราะไม่อยากเสียเงินไปกับเรื่องที่ไม่สำคัญแบบนี้ ผลก็คือ องค์กรก็จะได้คนในแบบที่ไม่เหมาะสมกับองค์กรเลย จากนั้นผลเสียก็จะตามมาเรื่อยๆ ก็คือ คนเหล่านี้ เข้ามา ก็ไม่สามารถที่จะสร้างผลงานที่ดีได้ ไม่สามารถที่จะพัฒนา และต่อยอดอะไรได้มากนัก สุดท้ายองค์กรก็เล็กลงๆ เรื่อยๆ บางองค์กรผมเคยเห็นมาว่า เขาลงทุนให้ CEO ซึ่งเงินเดือนสูงมากๆ มาสัมภาษณ์พนักงานด้วยตนเองก็มี เพื่อให้ได้คนที่ตรงกับวัฒนธรรมขององค์กร นี่คือสิ่งที่องค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่อง HR ทำกัน

• ลงทุนในการพัฒนาพนักงานองค์กร ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ HR จริงๆ จะมีการวางงบประมาณการลงทุนเรื่องของการพัฒนาพนักงานไว้อย่างชัดเจน และมีการวางแผนการพัฒนาพนักงานแต่ละคนเพื่อให้มีความรู้ทักษะ และความสามารถที่เพิ่มสูงขึ้น เพื่อที่จะได้รับมือกับงานต่างๆ ที่ยากขึ้นในอนาคตได้ ผิดกับองค์กรที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็มักจะไม่มีการพัฒนาพนักงานอะไรเลย พนักงานเข้ามาทำงานอะไร ก็ทำงานนั้นไป ไม่มีการส่งไปฝึกอบรมต่อยอดความรู้อะไรทั้งนั้น อีกทั้งผู้บริหารบางที่ยังมีมุมมองว่า การฝึกอบรมนั้นเป็นเรื่องที่เสียเวลาทำงาน เสียเวลาทำมาหากินของบริษัท และเป็นเรื่องของการสิ้นเปลืองงบประมาณ สุดท้ายในระยะยาว พนักงานก็จะทำได้แค่ที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี่แหละครับ ผิดกับองค์กรที่มีการลงทุนเรื่องการพัฒนาพนักงาน จะมีการวางแผนการเติบโตตามสายอาชีพ ทำให้พนักงานรู้ว่า ทำงานที่นี่แล้วจะสามารถโตไปถึงไหนได้บ้าง และจะโตไปได้อย่างไร ต้องพัฒนาอะไร โตไปแล้วต้องรับผิดชอบอะไรบ้างที่สูงขึ้น และจะไปสอดคล้องกับระบบบริหารค่าตอบแทนได้อย่างไร ฯลฯ ผลก็คือ พนักงานอยากอยู่ อยากโตกับองค์กรเพราะมีความชัดเจนในสายอาชีพของตนเอง รู้ว่าทำงานที่นี่แล้วไม่แป๊กอยู่กับที่นั่นเองครับ

• ลงทุนกับระบบบริหารค่าตอบแทน ในที่นี้ก็คือองค์กรบริหารค่าจ้างเงินเดือนกันอย่างไร มีหลักการในการสร้างความเป็นธรรมได้อย่างไรบ้าง องค์กรส่วนใหญ่ มองว่าเรื่องของค่าจ้างค่าตอบแทนนั้นเป็นเรื่องนายจ้างว่าพอใจที่จะจ่ายเท่าไหร่ และคิดว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้เป็นต้นทุนที่สูงเกินไป ก็เลยกำหนดวิธีการจ่ายค่าตอบแทนตามใจฉัน โดยไม่สนใจว่า ตลาดจ่ายอยู่เท่าไหร่ นอกจากนั้นเวลาที่ HR เสนอให้ซื้อหรือเข้าร่วมการสำรวจค่าจ้างเงินเดือน ซึ่งตกปีละไม่เกิน 10,000 บาท แต่ผู้บริหารก็คิดว่าไม่ต้องเข้าร่วมอะไร บางแห่งก็คิดว่าแพงเกินไปกับการได้รายงานเงินเดือนมาใช้ ผลก็คือ ระบบค่าตอบแทนของบริษัท ก็ไม่สามารถที่จะดึงดูด และรักษาพนักงานที่เก่งๆ ได้เลย ได้คนเข้ามา อยู่ได้ไม่นาน ก็ออกหมด บางแห่ง สัมภาษณ์แล้ว จะรับแล้ว พอบอกตัวเลขเงินเดือนไป ผู้สมัครก็ตัดสินใจได้ทันทีว่าไม่ทำแน่นอน ตรงข้ามกับองค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่องของ HR จะมีการลงทุน เพื่อหาข้อมูลค่าตอบแทนในตลาด ก็โดยการเข้าร่วม หรือซื้อผลการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการ ซึ่งเงินเพียงปีละไม่เกิน 10,000 บาท แต่สามารถเอาข้อมูลมาใช้ในการวางระบบ ปรับปรุงตรวจสอบการจ่ายของบริษัทให้ทัดเทียมกับตลาด เพื่อที่จะทำให้เราสามารถดึงดูดและรักษาคนเก่งๆ ไว้ได้ บางบริษัทบอกผมว่า เขาเข้าร่วมสำรวจค่าจ้างทุกปี ปีละเป็นแสนๆ แต่ผลที่ได้กลับมานั้น ทำให้ระบบและอัตราการจ่ายของบริษัทแข่งขันได้ตลอด ซึ่งทำให้พนักงานพอใจ และยินดีที่จะทำงานกับบริษัท โดยที่ไม่มีปัญหาเรื่องของระบบค่าตอบแทนเลย เรียกว่าคุ้มมากกับเงินที่ลงทุนไป

• ลงทุนในการปรับปรุงระบบบริหารผลงาน อีกเรื่องที่มักมีปัญหาในองค์กรก็คือ เรื่องของระบบประเมินผลงาน หรือระบบบริหารผลงานขององค์กร ระบบนี้มักเป็นระบบที่ทำให้พนักงานในองค์กรเกิดความรู้สึกที่แย่ บางที่ทำให้พนักงานหมดแรงจูงใจในการทำงานกันเลยก็มีนะครับ เรียกได้ว่า บริษัทมีการประเมินผลงานกันทุกปี แต่ประเมินทีไร พนักงานรู้สึกแย่ทุกครั้ง ทำไมถึงเกิดปัญหานี้ขึ้นได้ สาเหตุ ก็คือ ผู้ประเมินไม่เข้าใจวิธีการประเมิน ระบบประเมินผลงานไม่ได้มาตรฐาน และผู้ถูกประเมินไม่เข้าใจแนวทางการประเมินผลงาน บริษัทที่ให้ความสำคัญในเรื่อง HR จะมองว่า เรื่องการประเมินผลงานเป็นเรื่องสำคัญมาก และจะพยายามวางระบบให้ชัดเจน และฝึกอบรมหัวหน้างานให้เข้าใจระบบ และสามารถประเมินผลงานได้อย่างเป็นธรรมมากที่สุด เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาตามมา ผลการประเมินที่ดี ก็ยังสามารถเอาไปใช้ต่อยอดในเรื่องของการพัฒนาพนักงานได้อีกมากมาย และเอาไปใช้ในการให้รางวัลผลงานแก่พนักงานได้อีกด้วย ผิดกับบริษัทที่ไม่สนใจเรื่อง HR ก็จะปล่อยให้การประเมินผลงานเป็นไปตามยถากรรม ถึงเวลาประเมินผลงานทีไรก็จะเกิดปัญหาทุกที พนักงานเองก็รู้สึกอึดอัด ไม่อยากประเมิน และไม่อยากถูกประเมิน หัวหน้างานก็จะประเมินไปอย่างนั้น ไม่ได้คิดอะไรมากมาย บางคนก็ประเมินเพื่อเอาใจลูกน้องก็มี สุดท้ายพนักงานแต่ละคนก็ไม่ต้องทำผลงานอะไร เพราะถูกประเมินดีอยู่ตลอดเวลา แต่ผลงานขององค์กรกลับถอยหลังเข้าคลองไปเรื่อยๆ

การลงทุนในเรื่องของการพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลนั้น อาจจะเกิดผลช้า ถึงช้ามาก ซึ่งอาจจะทำให้ผู้บริหารมองว่า ไม่มีประโยชน์อะไรเลย เอาเงินตรงนี้ไปลงทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจดีกว่า แต่อย่าลืมนะครับ ธุรกิจที่ทำมีคนเป็นทรัพยากรที่คอยขับเคลื่อนหรือเปล่า ถ้าใช่ แต่เราไม่เคยพัฒนาสิ่งเหล่านี้เลย แล้วธุรกิจที่เราอยากให้เติบโตนั้น ใครจะเป็นคนทำให้โต ถ้าไม่ใช่พนักงานของเราเอง

ผลตอบแทนจากการลงทุนเรื่องของบุคลากรนั้น อาจจะช้า แต่ถ้าเริ่มได้ผลแล้ว มันจะออกดอกออกผลอย่างทวีคูณ โดยที่เราอาจจะนึกไม่ถึงมาก่อนเลยก็เป็นได้ ซึ่งกรณีแบบนี้ องค์กรหลายแห่ง ก็เกิดขึ้นมาแล้วมากมาย



บทความโดย : คุณประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 3862
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การทำงาน เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิต ซึ่งรูปแบบของการจ้างงานไม่ได้มีเพียงงานประจำและรอเวลาเกษียณอายุเพียงเท่านั้น แต่ยังมีลักษณะการจ้างงานอีกหลายประเภท ที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไปได้ ในบทความนี้จะมาสรุปสั้น ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าการจ้างงานมีกี่ประเภท และแต่ละประเภทมีข้อดีแตกต่างกันอย่างไร
การพาพนักงานไป Outing ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการหลัก ๆ ที่หลายองค์กรมี เพื่อดึงดูดพนักงานทั้งภายในและภายนอกให้อยากมาร่วมงานกันด้วย โดยวัตถุประสงค์หลักของการไป Outing ก็เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และเพื่อตอบแทนพนักงาน ให้ได้ผ่อนคลายจากการทำงานประจำวันอันตึงเครียดมายาวนาน โดยที่บริษัทจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมด
ระบบลงเวลาเข้า-ออกของพนักงาน คือ ระบบที่ช่วยในการบันทึกเวลาการทำงานของพนักงาน ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ (Finger Scanner), สมาร์ทโฟน (Smart Phone), แท็บเล็ต (Tablet), ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน ปลอดภัย และเชื่อมต่อสู่ระบบข้อมูลกลางอย่างระบบคลาวด์ (Cloud System) ได้ โดยจะระบุเวลาที่พนักงานเข้ามาทำงานและออกจากงานในแต่ละวัน ดูสถิติ ขาด ลา มาสาย ระบบนี้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเวลาและการทำงานของพนักงาน ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) และฝ่ายบริหารสามารถติดตามการทำงานของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ข้อมูลที่บันทึกเพื่อคำนวณเงินเดือน สวัสดิการ ค่าล่วงเวลา และการจัดทำรายงานการเข้างานได้อย่างแม่นยำ ตอบโจทย์การทำงานในธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกร้อง ค่าชดเชยจากนายจ้าง อันนี้เป็นสิทธิ์ของเรานะ พี่ทุยบอกเลยว่า เงินค่าชดเชย เป็นสิ่งที่นายจ้าง ต้องจ่าย ให้กับพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือในกรณีให้ออกจากงาน ซึ่งไม่ได้มาจากทำความผิดของพนักงานหรือลูกจ้าง แต่อาจจะด้วยเหตุผลบางอย่างที่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง
ในแต่ละเดือนที่เราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนั้น ก็จะมีเงินส่วนหนึ่งที่จัดเก็บเข้าเป็นเงินสะสมประกันสังคม ซึ่งเงินส่วนนี้เองเราสามารถเช็คเงินสะสมประกันสังคมได้เองผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย มาดูกันครับว่าทำยังไง แล้วยอดเงินประกันสังคมนี้ทำอะไรได้บ้าง

Employee Referral Program หรือ โครงการแนะนำพนักงาน คือระบบที่องค์กรใช้เพื่อกระตุ้นให้พนักงานที่ทำงานอยู่แนะนำบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับ โดยทั่วไปโครงการนี้มักมีการมอบรางวัลหรือโบนัสให้กับพนักงานที่แนะนำคนที่ถูกคัดเลือกและรับเข้าทำงานในองค์กรสำเร็จ โครงการแนะนำพนักงานนี้มีข้อดีหลายประการ เช่น การลดต้นทุนในการจ้างงาน เพิ่มคุณภาพของผู้สมัคร และสร้างความผูกพันให้กับพนักงานในองค์กร
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์