ความสำเร็จของงาน HR

ความสำเร็จของงาน HR



       ณ ปัจจุบัน ท่านที่ทำงานทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล เคยมีคำถาม กับตัวเองไหมครับว่า ความสำเร็จของงาน HR คืออะไร? วันนี้ผมมีเคล็ดลับ ความสำเร็จของงาน HR มาฝากสำหรับนักบริหารงานบุคคลพันธุ์แท้ดังนี้ครับ

       1. มีความเป็นนักพยากรณ์ ( Predictor ) พนักงานในองค์กรทุกคนต่างก็มีความคาดหวังกับนักบริหารงานบุคคล มาทุกยุคทุกสมัย ในเรื่องของการให้บริการที่รวดเร็วฉับไว โดยท่านสามารถ พยากรณ์ได้จากความรู้สึกขั้นพื้นฐานในจิตใจของตัวท่านเอง หมายความว่า พนักงานก็มิได้รู้สึกอะไรที่ผิดแผกแตกต่างไปจากตัวท่านแต่ประการใด เช่น เมื่อพนักงานมาเบิกค่ารักษาพยาบาล ท่านก็แจ้งระยะเวลาในการดำเนินการใน เบื้องต้นก่อน ไม่นิ่งเฉยหรือเพียงแค่รับเอกสารการเบิกค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น และจากนั้น ท่านก็แจ้งพนักงานก่อนที่พนักงานจะสอบถามว่ารับเงินได้เมื่อใด ก็แปลว่าท่านได้สร้างความประทับใจให้กับพนักงานท่านนั้นไปโดยปริยายครับ

       2. เป็นนักศึกษา ( Educator ) หากท่านได้อ่านและศึกษาประวัติบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต การทำงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบอาชีพในสาขาใดหรือวุฒิการศึกษาใดก็ตาม จะสังเกตได้ว่า เขาเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่ใฝ่รู้ หมั่นศึกษาและติดตามวิวัฒนาการ ความก้าวหน้าของวิทยาการต่างๆ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้เขา ผู้นั้นเป็นคนที่ทันสมัย ทันเหตุการณ์ แถมยังเป็นผู้ให้คำปรึกษากับผู้อื่นได้เป็น อย่างดีอีกด้วย การมีคุณสมบัติของนักศึกษาจะทำให้ตัวเราเป็นที่น่าศรัทธา น่าเชื่อถือ เปรียบเสมือนดั่งเราเป็นครูอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้กับ ลูกศิษย์ พนักงานก็จะให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวเราครับ 

       3. เป็นผู้สร้างความสนุกสนาน ( Entertainer ) ผมคิดว่า คนไทยส่วนใหญ่ ไม่ว่าลูกเด็กเล็กแดงหรือวัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ก็ตาม คงไม่มีใครไม่รู้จัก พี่เบิร์ดหรือป๋าเบิร์ด ( คุณธงไชย แมคอินไตย์ ) ศิลปินอมตะ ในดวงใจของใครหลายๆคน ด้วยความที่พี่เบิร์ดเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยที่ดี สนุกสนานและมี มธุรสวาจากับแฟนคลับของเขา ทำให้พี่เบิร์ดสามารถรักษาเข็มขัดแชมป์และครองใจ ประชาชนมาได้ทุกยุคทุกสมัย เรียกว่ากระแสไม่เคยตกเลย ทุกครั้งที่มีการจัด คอนเสิรท บัตรก็จะจำหน่ายหมดภายในไม่เกิน 1 ชั่วโมง แถมบางครั้งต้องเพิ่มรอบการ จัดคอนเสิรทด้วยซ้ำไป ซึ่งนักบริหารงานบุคคลท่านใดที่สามารถสร้างความสุข ความสนุกสานให้กับพนักงานในองค์กรของท่านได้แล้วไซร้ การจะขอความร่วมมือ จากพนักงานให้เข้าร่วมโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ของบริษัทฯ ก็จะไม่เป็นเรื่องยาก แต่ประการใด เพราะพนักงานรู้สึกว่า HR ท่านนั้น เป็นกันเอง สัมผัสได้ไม่สูงเกินเอื้อม พูดคุยได้อย่างสบายอกสบายใจ 

       4. เป็นนักสังเกตการณ์ ( Observer ) เวลาที่ท่านเจ็บป่วยและต้องไปโรงพยาบาลเพื่อรักษาพยาบาลตัวท่านเอง มีบางครั้งที่คุณหมอต้องให้ท่านเข้าพักอยู่ในห้องสังเกตอาการ เพื่อติดตามอาการของ โรคนั้น ๆ นักบริหารงานบุคคลก็ไม่แตกต่างกับคุณหมอครับ ต้องหมั่นคอยสังเกต อาการของพนักงานทุกคนในองค์กร ว่าคิดอย่างไรกับบริษัท วิพากษ์วิจารณ์เพื่อน ร่วมงานหัวหน้างานอย่างไร HR จะได้จ่ายยาได้ตรงกับอาการนั้นๆ การสังเกตการณ์ ในเชิงพฤติกรรมศาสตร์ผสมผสานกับหลักจิตวิทยา HR จะต้องแสดงพฤติกรรมในเชิง การเลียนแบบ ( Simulator ) ยกตัวอย่างเช่น ต้องแสดงพฤติกรรมเป็นนักบัญชี ซึ่ง หมายถึง ความละเอียดรอบคอบในการทำงาน,การจ่ายเงินเดือนพนักงานหรือการตรวจ สอบเอกสารต่างๆ บางครั้งต้องแสดงพฤติกรรมเป็นนักกฎหมาย ซึ่งหมายถึง ความ เที่ยงตรงแม่นยำและการเคารพในกฎกติกามารยาทขององค์กร หรือบางครั้ง ก็ต้อง แสดงพฤติกรรมเป็นนักจัดซื้อ ซึ่งหมายถึง การเจรจาต่อรอง การสรรหาคัดเลือก ซึ่งหาก HR ท่านใดสามารถผสมผสานความเป็นนักสังเกตการณ์บวกกับพฤติกรรม ในการเลียนแบบได้อย่างกลมกลืนแล้ว รับประกันความสำเร็จได้เลยครับ 

       5. เป็นผู้ให้กำลังใจ ( Encourager ) การดำรงชีวิตของพนักงานในองค์กร ย่อมจะพบกับอุปสรรคนานัปการซึ่งโดย ส่วนใหญ่พนักงานมักจะไม่พบหนทางในการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกวิธี มิหนำซ้ำยังดูถูก ตนเอง ว่าเกิดมามีกรรม นามสกุลไม่ใหญ่โต ไม่มีมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นความคิดที่บั่นทอนสุขภาพกายและสุขภาพใจของตัวพนักงานเอง ทั้งสิ้น ดังนั้น นักบริหารงานบุคคลจะต้องเข้าใจถึงธรรมชาติความคิดของพนักงาน และเป็นผู้ให้กำลังใจ สร้างขวัญกำลังใจและปรับเปลี่ยนทัศนคติของพนักงาน ให้เกิด ความภาคภูมิใจในตัวเอง ศรัทธาและเชื่อมั่นในตนเองและเป็นที่พึ่งของตนเองได้ ดั่งคำพระที่ว่า " อัตตาหิ อัตตโนนาโถ " หรือ " ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน " รวมทั้ง HR มือฉมังก็จะต้องประสบพบเจอกับความกดดันต่างๆ หลายประการในการบริหาร งานบุคคล ก็จะต้องมี " อุเบกขา " หรือ ความอดทนอดกลั้น วางเฉยต่อสิ่งที่มากระทบ ต่อจิตใจ เป็นหลักยึดมั่น ก็จะทำให้ HR มีวัคซีนในตัวเองที่จะสร้างความเข้มแข็งและ ความพร้อมที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ให้กับพนักงานและตนเองได้อย่างดีเยี่ยม 

       6. เป็นผู้กล้าหาญ ( Braver ) หากเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ในการทำศึกหรือที่เรียกว่า การทำยุทธหัตถี ซึ่งตำนานที่เลื่องลือมาจนถึงยุคปัจจุบันนั่นคือ ความกล้าหาญของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงรบชนะศึกกับพม่า นักบริหารงานบุคคลก็เช่นเดียวกัน ต่างก็ต้องสู้รบกับความคิดของพนักงานแต่ละตำแหน่งแต่ละประสบการณ์ และต้องสวม วิญญาณความกล้าหาญที่พร้อมจะนำเสนอความคิดที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ และ พร้อมที่จะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมความคิดของ พนักงานในองค์กร ซึ่งภาระกิจดังกล่าวนี้ ในหลายๆ หน่วยงานมีวัฒนธรรมองค์กรและ วัฒนธรรมความคิดของพนักงานที่ฝังรากลึกมาเป็นเวลานานนับสิบปี และมักจะ ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงหรือสนับสนุนความคิดใหม่ๆ เพราะกลัวว่าจะกระทบกับ ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาโดยรวม ดังนั้น HR จะต้องรวบรวมความกล้าหาญและ ยึดมั่นในจรรยาบรรณในวิชาชีพ พร้อมทั้งพิสูจน์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจใน เจตนารมณ์ที่ดีที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรและวัฒนธรรมความคิดของพนักงาน ให้มีทัศนคติที่ถูกต้องเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจในยุคที่มีการแข่งขันอย่างสูงใน ทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งนับวันจะเป็นดัชนีชี้วัด ความสำเร็จของทุกๆองค์กรในโลกแห่งยุคโลกาภิวัฒน์ครับ

       หากนักบริหารงานบุคคลนำเคล็ดลับทั้ง 6 ประการข้างต้น มาใช้เป็นกลยุทธ์ใน การปฏิบัติงานอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ความสำเร็จของงาน HR ก็จะอยู่ไม่ไกล เกินเอื้อมอย่างแน่นอน เป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ



บทความโดย : สมชาย หลักคงคา
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com

 4876
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การทำงาน เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิต ซึ่งรูปแบบของการจ้างงานไม่ได้มีเพียงงานประจำและรอเวลาเกษียณอายุเพียงเท่านั้น แต่ยังมีลักษณะการจ้างงานอีกหลายประเภท ที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไปได้ ในบทความนี้จะมาสรุปสั้น ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าการจ้างงานมีกี่ประเภท และแต่ละประเภทมีข้อดีแตกต่างกันอย่างไร
การพาพนักงานไป Outing ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการหลัก ๆ ที่หลายองค์กรมี เพื่อดึงดูดพนักงานทั้งภายในและภายนอกให้อยากมาร่วมงานกันด้วย โดยวัตถุประสงค์หลักของการไป Outing ก็เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และเพื่อตอบแทนพนักงาน ให้ได้ผ่อนคลายจากการทำงานประจำวันอันตึงเครียดมายาวนาน โดยที่บริษัทจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมด
ระบบลงเวลาเข้า-ออกของพนักงาน คือ ระบบที่ช่วยในการบันทึกเวลาการทำงานของพนักงาน ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ (Finger Scanner), สมาร์ทโฟน (Smart Phone), แท็บเล็ต (Tablet), ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน ปลอดภัย และเชื่อมต่อสู่ระบบข้อมูลกลางอย่างระบบคลาวด์ (Cloud System) ได้ โดยจะระบุเวลาที่พนักงานเข้ามาทำงานและออกจากงานในแต่ละวัน ดูสถิติ ขาด ลา มาสาย ระบบนี้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเวลาและการทำงานของพนักงาน ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) และฝ่ายบริหารสามารถติดตามการทำงานของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ข้อมูลที่บันทึกเพื่อคำนวณเงินเดือน สวัสดิการ ค่าล่วงเวลา และการจัดทำรายงานการเข้างานได้อย่างแม่นยำ ตอบโจทย์การทำงานในธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกร้อง ค่าชดเชยจากนายจ้าง อันนี้เป็นสิทธิ์ของเรานะ พี่ทุยบอกเลยว่า เงินค่าชดเชย เป็นสิ่งที่นายจ้าง ต้องจ่าย ให้กับพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือในกรณีให้ออกจากงาน ซึ่งไม่ได้มาจากทำความผิดของพนักงานหรือลูกจ้าง แต่อาจจะด้วยเหตุผลบางอย่างที่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง
ในแต่ละเดือนที่เราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนั้น ก็จะมีเงินส่วนหนึ่งที่จัดเก็บเข้าเป็นเงินสะสมประกันสังคม ซึ่งเงินส่วนนี้เองเราสามารถเช็คเงินสะสมประกันสังคมได้เองผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย มาดูกันครับว่าทำยังไง แล้วยอดเงินประกันสังคมนี้ทำอะไรได้บ้าง

Employee Referral Program หรือ โครงการแนะนำพนักงาน คือระบบที่องค์กรใช้เพื่อกระตุ้นให้พนักงานที่ทำงานอยู่แนะนำบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับ โดยทั่วไปโครงการนี้มักมีการมอบรางวัลหรือโบนัสให้กับพนักงานที่แนะนำคนที่ถูกคัดเลือกและรับเข้าทำงานในองค์กรสำเร็จ โครงการแนะนำพนักงานนี้มีข้อดีหลายประการ เช่น การลดต้นทุนในการจ้างงาน เพิ่มคุณภาพของผู้สมัคร และสร้างความผูกพันให้กับพนักงานในองค์กร
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์