หากถามเด็ก ๆ หรือนักเรียน ว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร เราคงได้คำตอบว่า อยากเป็นหมอ วิศวกร ศิลปิน นักดนตรี สถาปนิก ครู นักเขียน นักกฎหมาย นักบัญชี นักการตลาด ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ คงจะยากมาก ๆ กว่าจะพบเด็กสักคนตอบว่า โตขึ้นผมหรือหนู อยากเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล หรือ HR ผมเชื่อว่าคงมีอัตราส่วนไม่ถึงร้อยละหนึ่งเป็นแน่ เพราะว่าอะไรหรือ แม้ว่าองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีตำแหน่งงาน หรือหน้าที่นี้กันเกือบทุกแห่ง แต่ก็ยังไม่เป็นที่น่าสนใจเท่าที่ควร มหาวิทยาลัยในประเทศก็เปิดสอนระดับปริญญาตรีในสาขาวิชานี้กันมากขึ้น คือ สาขาการบริหาร หรือการการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ปริญญาโท ก็มีสาขานี้หลายแห่ง ทั้ง จุฬา ธรรมศาสตร์ นิด้า ศศินทร์ หรือมหาวิทยาลัยเอกชน ก็เปิดหลักสูตรนี้เช่นกัน (ปริญญาเอกก็มีแล้ว) เราจะพบว่าในอดีตคนที่ทำงานด้านนี้ จบรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์เป็นส่วนใหญ่ อาจเป็นเพราะว่าการจัดการเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เกี่ยวข้องกับคน ซึ่งต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ ถึงลูกถึงคนบางครั้งบางคราวในการทำงานให้บรรลุผล คนที่จบสองสาขาวิชานี้ จึงเข้าสู่อาชีพ HR กันเป็นส่วนใหญ่ และมักจะเป็นผู้ชายด้วย ซึ่งจะแตกต่างจากปัจจุบันที่ผู้หญิง เข้ามามีบทบาททุกสาขาอาชีพไม่เว้นแม้แต่อาชีพ HR จะพบว่าผู้หญิงเป็นผู้บริหารระดับสูงของสายงานทรัพยากรมนุษย์จำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และได้รับการยอมรับเช่นเดียวกันกับฝ่ายชายทั้งบริษัทของคนไทยและต่างชาติ อีกตัวอย่างหนึ่งที่สังเกตได้คือเมื่อมีการจัดการสัมมนา ฝึกอบรม การประชุมใหญ่ ๆ จะพบผู้หญิงเป็นจำนวนมากเช่นกัน ปัจจุบันคนที่ทำงานในสายอาชีพนี้ นอกจากเรื่องชาย หรือหญิงแล้ว ผู้จบการศึกษาที่มีพื้นฐานในสาขาต่าง ๆ ทั้ง การตลาด แพทย์ วิศวกร บัญชี การเงิน การตลาด ประวัติศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ (พวก IT ผมไม่ค่อยพบเท่าไหร่) เขาและเธอเหล่านี้ อาจจะไม่ได้เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการทำงานด้าน HR มาก่อน ส่วนใหญ่ทำงานตามสาขาที่จบมา พอทำไปเรื่อย ๆ จะด้วยนโยบายของแต่ละองค์กรที่ต้องการให้ผู้จะเป็นผู้บริหารระดับสูง ต้องหมุนเวียนเปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบ มีความรู้ ความเข้าใจและทักษะในการบริหารอย่างรอบด้าน งานด้าน HR ก็ต้องรู้ หรือจะเพราะความชอบ อยากเรียนรู้ของแต่ละบุคคลที่อยากทำงานด้านนี้ ทำให้เข้ามาสู่อาชีพนี้ หรือบางคนไม่รู้จะทำอะไร มาทำ HRเพราะถูกบังคับ (ถูกคำสั่งแต่งตั้ง โอนย้าย) ผมว่าก็มีอยู่เหมือนกัน ทายาทเจ้าของกิจการ เถ้าแก่ หรือผู้ประกอบการก็เริ่มต้นจากอาชีพนี้หลายคนเช่นกัน เพราะต้องเรียนรู้งานในทุกด้าน เพื่อให้รู้จักคน หรือลูกน้องของตนเองในอนาคต จึงมักถูกผู้ปกครองส่งให้มาทำงานฝ่ายบุคคล รับคน สัมภาษณ์งาน ทำเงินเดือน จัดนำเที่ยว ปีใหม่ กีฬา และเรียนรู้กฎหมายแรงงานซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการก้าวขึ้นไปทดแทนตำแหน่งของพ่อ แม่ ในอนาคต (รู้จักคน รู้จักงาน เป็นพื้นฐานของผู้บริหารในอนาคต) ถ้าเปรียบเทียบให้ง่ายที่สุดว่าคนที่ทำงานในสายอาชีพนี้มีจำนวนมากน้อยเท่าไหร่ บอกได้จากจำนวนบริษัทซึ่งจดทะเบียนไว้กับกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก รวมทั้งหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจทั้งหมด คนทำงานตั้งแต่ระดับพนักงาน เจ้าหน้าที่ ผู้บริหารระดับต้น ระดับกลาง จนถึงผู้บริหารระดับสูงสุดของสายงาน HR รวมกับคนที่ทำงานบริษัทที่ปรึกษาทั้งบริษัทของคนไทย และต่างประเทศน่าจะมีจำนวนมากเป็นหลักหมื่นอาจจะถึงแสนคนเมื่อรวมทุกระดับ ที่ผ่านมามีความพยายามของคนที่ทำงานในสายอาชีพนี้ ทั้งชมรม สมาคมการบริหารทรัพยากรมนุษย์ อาจารย์มหาวิทยาลัย ต่างพยายามที่จะผลักดันให้งาน HR เป็นงานลักษณะของวิชาชีพ และเป็นมืออาชีพมากขึ้น เป็นงานที่ต้องผ่านการอบรม ทดสอบ และได้รับใบอนุญาตการทำงาน ลักษณะเช่นเดียวกับ นักกฎหมาย นักบัญชี วิศวกร หรือนักการตลาด ที่เป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ หรือนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ แต่ความพยายามดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่เป็นผลเท่าไหร่นัก ผมยังไม่เห็นความคืบหน้าของเรื่องนี้มากนัก ความสำเร็จของเรื่องนี้ก็ยังอยู่อีกไกลพอสมควร ทำไมอาชีพ งานบริหารและงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และสนใจของเด็กไทยมากนัก คนที่อยู่ในวงการบริหารทรัพยากรมนุษย์ จะทราบข้อมูลว่า ในการสำรวจการจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการของชมรม สมาคม บริษัทที่ปรึกษาต่าง ๆ ประจำปี จะพบว่าผู้บริหารระดับสูงของ HR รายได้จะอยู่ในอัตราที่สูงมาก จะทัดเทียมกับผู้ที่ทำงานในสายการตลาด การเงิน หรือวิศวกร ไม่นับรวมกับสวัสดิการอื่น ๆ ที่ได้ตามตำแหน่งอยู่แล้ว ทำให้เชื่อได้ว่าเจ้าของกิจการหรือนักลงทุนทำธุรกิจ ให้ความสำคัญกับอาชีพนี้มาก เพราะกล้าจ่ายกล้าจ้างให้ถึงขนาดนี้ ซึ่งหนีไม่พ้นที่ต้องคาดหวังผลงานมากตามไปด้วย เมื่อเทียบกับต้นทุนที่พวกเขาเหล่านั้นลงทุนไป แล้วผมเข้าสู่อาชีพนี้ได้อย่างไร ?ผมจบรัฐศาสตร์ คิดว่าจบแล้วไม่เป็นปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ฝ่ายสินเชื่อของธนาคาร (ไม่รู้เหตุผลว่าทำไม่จบรัฐศาสตร์เขาถึงรับ) เป็นตำรวจ ซึ่งรับคนจบรัฐศาสตร์แต่ต้องมีการเรียนกฎหมายในบางวิชา อาชีพ HR ผมไม่ค่อยรู้จักนักแม้ว่าจะได้เรียนมาบ้างบางวิชาในระดับปริญญาตรีแต่ก็ยังไม่สนใจ หรืออาจเป็นเพราะว่าอาจารย์แนะแนวในระดับมัธยมจะไม่รู้จักอาชีพนี้มากนัก จึงไม่ได้แนะนำอะไรเท่าไหร่ ว่านี่ก็เป็นอาชีพ ทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเองได้เหมือนกัน หรือเป็นเพราะว่าสื่อต่าง ๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์บ้านเราไม่นำเสนอคนทำงานที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพนี้ มองว่าเป็นงานเล็ก ๆ เป็นงานสนับสนุนให้ฝ่ายการขาย การตลาด การผลิต การเงินบัญชี มากกว่า อย่างไรก็ตามเมื่อหางานที่อยากทำตามความตั้งใจไม่ได้ การทำงานเป็นฝ่ายบุคคล ก็คือทางเลือกของผมเพื่อหาเลี้ยงชีพมาตลอดจนถึงปัจจุบัน มุมมองและเหตุการณ์ในอดีตที่ผมกล่าวมาข้างต้นนั้น ปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อย่างต่อเนื่อง วงการ HR ได้รับการยอมรับมากขึ้น เพราะว่าการบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทรัพยากรมนุษย์เป็นมากกว่าปัจจัยการผลิต เป็นทุนหรือสินทรัพย์ที่สามารถเพิ่มมูลค่า สร้างความสามารถในการแข่งขันได้อย่างไม่จำกัด คิดคำนวณเป็นตัวเลขไม่ได้ (มากน้อยก็ไม่รู้) เป็นปัจจัยสร้างความสำเร็จให้กับองค์กรที่ผู้บริหารมักจะบอกกับสังคมภายนอกอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาแนวคิด องค์ความรู้ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่ที่ไหล่บ่าเข้ามาในประเทศเรา ทั้งจากตัวอย่างขององค์กรระดับโลกที่ประสบความสำเร็จ ผู้จบการศึกษาจากต่างประเทศ รวมทั้งบริษัทที่ปรึกษาต่างชาติ ต่างให้ความสำคัญกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ หรืออย่างประเทศสิงคโปร์ เกาะเล็ก ๆ ที่อยู่ทางใต้ของเรา มีอัตราการเจริญทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่อง ประชาชนมีความเป็นอยู่มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าการขาย การลงทุน แม้ว่าจะไม่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อย่างเรา กลับพัฒนาตนเองเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัจจัยแห่งความสำเร็จของสิงคโปร์ นอกจากมีผู้นำที่มีความสามารถสูง คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักแล้ว ปัจจัยด้านคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ก็เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน รู้อย่างนี้แล้ว เห็นตัวอย่างอย่างนี้แล้ว (รู้ว่ารายได้งามอย่างนี้แล้ว) คนในสาขาวิชาชีพอื่น คนรุ่นใหม่ ๆ ไม่สนใจหันมาทำงาน HR กันให้มากกว่านี้หรือครับ ทุกวงการ ทุกสายอาชีพต้องการความหลากหลาย เพื่อร่วมกันสร้างแนวคิดใหม่ วิธีการใหม่ ผลผลิตและนวัตกรรมที่ต่างไปจากเดิม ที่จะสามารถตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว และจะพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ครับ บทความโดย : โยธิน เพชรเย็น ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com |