รู้จัก ‘AQ’ ทักษะสำคัญที่มนุษย์ออฟฟิศยุคนี้ควรมี

รู้จัก ‘AQ’ ทักษะสำคัญที่มนุษย์ออฟฟิศยุคนี้ควรมี


หากเอ่ยถึงทักษะความฉลาดที่สำคัญต่อการทำงาน ภาพแรกๆ ที่หลายคนมักนึกถึงคงหนีไม่พ้นทักษะตระกูล Q อย่างความฉลาดทางสติปัญญา (Intelligence Quotient หรือ IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient หรือ EQ)

แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากสองทักษะนี้ จริงๆ แล้วยังมีอีก Q ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน นั่นคือ ‘ความฉลาดในการรับมือกับปัญหา (Adversity Quotient หรือ AQ)’ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่มนุษย์ออฟฟิศยุคนี้ ทุกระดับควรมีติดตัว


AQ คืออะไร?

AQ หรือ Adversity Quotient คือความฉลาดในการรับมือกับปัญหา ทั้งสภาพกาย และจิตใจ ถูกบัญญัติขึ้นโดยพอล สโตลทซ์ (Paul Stoltz) เมื่อปี 1997 ว่า เป็นวิธีการประเมินความสามารถของแต่ละคนในการรับมือ และตอบสนองต่อความทุกข์ยาก โดยสถาบันชั้นนำอย่างฮาร์วาร์ด (Harvard), สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT) และคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon) ต่างก็ใช้ AQ เป็น ‘Golden Standard’ เพื่อประเมินว่า คนนั้นๆ จัดการกับความท้าทายอย่างไรด้วยกันทั้งสิ้น และยังค้นพบอีกด้วยว่า AQ มีความสัมพันธ์โดยตรงกับ ‘การเป็นผู้นำที่ดี’


AQ แบ่งออกเป็นกี่ประเภท?

พอลและเอลิซาเบธ เลอ ที (Elizabeth Le Thi) ได้ให้คำจำกัดความว่า ถ้านำไปเปรียบเทียบกับคน และภูเขา AQ ก็ไม่ต่างอะไรจากคน 3 ประเภทนี้

1. Quitters มนุษย์ล้มเลิก - คนประเภทนี้จะมี AQ ที่ต่ำ ตามปกติแล้ว พวกเขามักจะถอดใจกับอะไรง่ายๆ เวลาเห็นปัญหาที่ยากหรือยอดเขา พวกเขาก็มักจะยอมแพ้ ไม่พยายามแก้ปัญหา และเลือกจะจมอยู่กับชีวิตที่สิ้นหวังต่อไป โดยคนประเภท Quitters ไม่นับเป็นสินทรัพย์ที่องค์กรควรเก็บรักษาไว้

2. Campers มนุษย์ท่าดีทีเหลว - คนประเภทนี้จะมี AQ ปานกลาง เมื่อเจอกับปัญหา พวกเขาก็ยังคงมีแรงฮึดสู้ต่อ อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดเหนื่อยขึ้นมา พวกเขาก็จะหยุดพักหรือแวะตั้งแคมป์ก่อน ซึ่งส่งผลให้พวกเขาล้มเลิกความตั้งใจไปในที่สุด ในทางกลับกัน แม้ Campers จะดีกว่า Quitters แต่ถึงที่สุดแล้ว พวกเขาก็ไม่อาจทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ เนื่องจาก ติดอยู่กับโซนอุ่นสบายเดิมๆ

3. Climbers มนุษย์นักปีนเขา - คนประเภทนี้จะมี AQ ที่สูง ไม่ว่าปัญหานั้นจะหนักหนาหรือใหญ่โตสักเท่าไร พวกเขาก็พร้อมจะสู้จนกว่าจะประสบความสำเร็จ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และปัญหาต่างๆ ยังคงมองโลกในแง่บวก และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ดังนั้น Climbers จึงเปรียบเสมือน ‘พนักงานในอุดมคติหรือสินทรัพย์ที่มีค่าขององค์กร’

เราจะพัฒนา AQ ได้อย่างไร?

เว็บไซต์​ Psychologs ได้เสนอแนวทางการพัฒนา AQ ผ่าน L.E.A.D. หรือเทคนิค 4 ขั้นตอน มีอะไรบ้าง

L : Listen to your response to adversity เวลาเจอปัญหา อย่าเพิ่งเป็นกระต่ายตื่นตูมไปไกล ให้ ‘ดึงสติ’ ของตัวเองกลับมาก่อน

E : Establish accountability เวลาเจอปัญหา นอกจากจะต้องดึงสติกลับมาแล้ว ก็ควรแสดงความรับผิดชอบกับมันด้วย ไม่โทษปัจจัยต่างๆ หรือโชคชะตาฟ้าดินเพียงอย่างเดียว ลอง Step back กลับมาดูว่า เราได้เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อปัญหานั้นหรือไม่? เพราะบางครั้งเราก็อาจจะทำลงไปโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

A : Analyze the evidence ก่อนจะถอดใจกับปัญหายากๆ ให้ลองวิเคราะห์หลักฐานดูก่อนว่า มันจนมุมแล้ว ไม่มีทางแก้จริงๆ รึเปล่า อะไรที่ควบคุมได้ และอะไรที่ควบคุมไม่ได้?

D : Do something หลักจากดึงสติ แสดงความรับผิดชอบ และวิเคราะห์หลักฐานแล้ว อย่างสุดท้ายที่ควรทำก็คือ ‘การลงมือทำอะไรสักอย่าง’ ไม่ปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังอยู่แบบนี้ตลอดไป


ถึง IQ และ EQ จะสำคัญในแง่ขององค์ความรู้ และการทำงานร่วมกัน แต่ในความเป็นจริง ทักษะสำคัญที่สุดที่จะพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ก็คือ AQ ต่างหาก เนื่องจาก มันช่วยให้พนักงานทุกคนยอมก้าวออกจาก Comfort Zone เดิมๆ เปลี่ยน ‘วิกฤต’ ให้เป็น ‘โอกาส’ และเติบโตอย่างสวยงามต่อไป



บทความโดย : Chompoonut Suwannochin FutureTrends
 1025
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

JD (Job Description) ภาษาไทยเรียกว่า ขอบเขตหน้าที่และความรับผิดชอบงานตำแหน่งงาน หรือ คำบรรยายลักษณะงาน / ใบพรรณนาหน้าที่งาน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบรรยายลักษณะหน้าที่ความรับผิดชอบของตำแหน่งงาน รวมถึงคุณสมบัติของคนที่ทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่กำหนด

การเทรนนิ่งพนักงานมี 2 ทางเลือกหลัก หากองค์กรไม่เลือก On the Job Training หรือการฝึกพนักงานให้เรียนรู้จากการทำงานจริง ก็สามารถเลือก Off the Job Training ซึ่งอาจเป็นการจัดคอร์สนอกเวลาหรือจ้าง Outsource มาดูแลการฝึกทักษะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษา, Soft Skills หรือ Hard Skills

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้มีกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อสงเคราะห์ลูกจ้าง กรณีออกจากงาน หรือตาย หรือในกรณีอื่นที่กำหนดโดยคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง มีผลเริ่มใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2568

การเสียภาษีเงินได้เป็นการเสียภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งหมายความว่าผู้ที่มีรายได้มากขึ้นจะต้องจ่ายภาษีในอัตราที่สูงขึ้นตามระดับรายได้ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยแบ่งเป็นช่วงรายได้ต่างๆ ที่มีอัตราภาษีแตกต่างกันไป  มาดูกันว่าใครบ้างที่ต้องเสียภาษีและต้องยื่นภาษีเงินได้
โปรแกรมบริหารงานบุคคล Prosoft HRMI มีระบบสวัสดิการเงินกู้ของพนักงาน (Loan Management) ที่แยกมาจากระบบสวัสดิการ (Welfare) เพื่อกำหนดสวัสดิการต่างๆ ของพนักงาน และควบคุมการใช้ทรัพย์สินภายในองค์กร และช่วยเพิ่มความสามารถในการจัดการสวัสดิการเงินกู้ของพนักงาน
ระบบอนุมัติเอกสารออนไลน์ (Approve Center) คือ ระบบที่ช่วยให้การขออนุมัติเอกสารเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยเป็นระบบการทำงานแบบ Workflow ที่ครอบคลุมถึงทุกแผนกในองค์กร สามารถทำได้ง่าย ๆ บนแอปพลิเคชันเดียว อนุมัติได้จากทุกที่ ทุกเวลา บนอุปกรณ์ที่หลากหลาย ทั้ง PC, Laptop, Tablet และ Smartphone
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์