Employee Engagement สรุปแล้วเป็นหน้าที่ของใคร

Employee Engagement สรุปแล้วเป็นหน้าที่ของใคร



ทุกวันนี้คำว่า Employee Engagement ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในแวดวงการบริหารทรัพยากรบุคคล มีองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งที่พยายามจะสร้างความผูกพันของพนักงานให้เกิดขึ้นในองค์กร เพราะต่างก็เชื่อว่า ถ้าพนักงานมีความผูกพันต่อองค์กรแล้ว ผลงานพนักงานก็จะดีขึ้น และจะส่งผลต่อผลงานขององค์กรด้วย

แต่พอถึงเวลาที่จะสร้าง Engagement จริงๆ ในองค์กร ก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า ใคร และหน่วยงานใด ที่จะเป็นผู้รับผิดชอบงานนี้ในองค์กร ส่วนใหญ่หน่วยงานที่ถูกมองเป็นหน่วยงานแรกว่าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบก็คือ ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรนั่นเอง

พอถูกมอบหมายให้ดำเนินการเรื่องนี้ ฝ่ายบุคคลก็ดำเนินการสำรวจความรู้สึกผูกพันของพนักงานในองค์กร และนำเอาผลที่ได้มาเพื่อปรับปรุงสิ่งที่ทำให้พนักงานรู้สึกไม่ค่อยดีต่อบริษัท

จากนั้นฝ่ายบุคคลก็เริ่มวางแผนที่จะทำให้คะแนนความผูกพันของพนักงานสูงขึ้นกว่าเดิม จากที่สำรวจไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ภาวะผู้นำของผู้บริหาร นโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัท ระบบบริหารค่าตอบแทน ฯลฯ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คะแนนความผูกพันของพนักงานในองค์กรไม่ได้สูงขึ้นเลย กลับแย่ลงด้วยซ้ำไป คำถามก็คือ เกิดอะไรขึ้นกันแน่ ทั้งๆ ที่ฝ่ายบุคคลก็พยายามที่จะดำเนินการสร้างความผูกพันให้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่

คำตอบก็คือ การสร้างความผูกพันของพนักงานในองค์กรให้เกิดขึ้นได้จริงๆ นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายบุคคลฝ่ายเดียว จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือกับทุกคนในองค์กร

• CEO และผู้บริหารระดับสูงขององค์กร คนแรกที่จะต้องให้การสนับสนุนในการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กรก็คือ ผู้นำสูงสุดขององค์กร และทีมผู้บริหารรองๆ ลงมานั่นเองครับ การสนับสนุนนี้ไม่ใช่แค่เพียงการพูดเฉยๆ ว่า ทำสิ แล้วก็ทำตัวเหมือนเดิมทุกอย่างครับ แต่จะต้องเป็นการสนับสนุนโดยการยอมเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน เปลี่ยนแปลงความคิด และแนวทางในการบริหารงานบริหารคนในองค์กรอย่างเต็มที่ เพราะถ้าขาดการสนับสนุนจากผู้บริหารสูงสุดแล้ว เรื่องของ Engagement จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยครับ

• ผู้บริหารระดับกลาง และหัวหน้างาน นอกจากผู้บริหารระดับสูงแล้ว ผู้บริหารระดับกลาง และหัวหน้างานทุกระดับ ก็ต้องให้ความร่วมมือด้วยเช่นกัน เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว ความผูกพันของพนักงานจะเกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งก็มาจากบุคคลที่อยู่ใกล้ชิด พนักงาน ซึ่งก็คือ หัวหน้างานโดยตรงนั่นเอง ที่จะต้องมีการปรับปรุงพฤติกรรมในการบริหารงานและบริหารคน ให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้นนั่นเอง ปัจจัยที่ทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกผูกพันต่อองค์กรเป็นปัจจัยแรกๆ เลย ก็คือ เรื่องของ ภาวะผู้นำ และการเป็นหัวหน้างานที่ดี ถ้าขาดสองปัจจัยนี้ ความผูกพันของพนักงานก็เกิดขึ้นได้ยากเช่นกัน

• ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หน่วยงาน HR นี้ มักจะถูกมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพสำหรับการสร้างความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร เพราะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องของทรัพยากรบุคคลขององค์กรโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่ ก็เป็นเจ้าภาพงานนี้โดยตรงอยู่แล้ว และจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกลาง รวมทั้งเป็นผู้กระตุ้นผู้บริหารทุกระดับขององค์กรในเรื่องต่างๆ ที่จะส่งผลต่อความผูกพันของพนักงาน สำหรับบางหน่วยงานที่ฝ่ายบุคคลเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพนักงานมาโดยตลอด ก็คงต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน แนวทางในการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อให้พนักงานเกิดความรู้สึกผูกพัน และรู้สึกว่าฝ่ายบุคคลได้ให้ความช่วยเหลือเขาจริงๆ ไม่ใช่มัวแต่คอยจับผิดพนักงานแต่เพียงอย่างเดียว

ถ้าอยากให้พนักงานในองค์กรเกิดความรู้สึกผูกพันต่อองค์กรอย่างแท้จริง ก็คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในองค์กร ไม่ใช่แค่เพียงฝ่ายบุคคลครับ มิฉะนั้นไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ตาม คะแนนความผูกพันพนักงานก็ไม่มีทางเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างแน่นอน

ผู้บริหารคนอื่น อาจจะสงสัยว่าทำไม่เรื่องนี้ตนเองจะต้องมานั่งรับผิดชอบด้วย เพราะคนที่ทำหน้าที่บริหารคนก็คือ ฝ่ายบุคคล ที่ควรจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องความผูกพันของพนักงานทั้งหมด แต่อย่าลืมนะครับว่า ถ้าคะแนนความผูกพันออกมาบอกกับเราว่า สิ่งที่ทำให้พนักงานยังไม่รู้สึกผูกพันกับองค์กรก็คือ หัวหน้างานและผู้จัดการที่ไม่เคยดูแลเอาใจใส่พนักงานเลย มองพนักงานเหมือนพนักงานเป็นหุ่นยนต์มากกว่า

ถ้าเหตุผลเป็นดังนี้ ฝ่ายบุคคลเก่งแค่ไหนก็ทำอะไรกับคะแนนความผูกพันพนักงานไม่ได้หรอกครับ เพราะสุดท้ายการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มาจากหัวหน้างานและผู้จัดการคนนั้นมากกว่า โดยมีความคิดไปในทางเดียวกันว่า เรากำลังจะสร้างความผูกพันของพนักงาน เพื่อให้ผลงานพนักงานดีขึ้น และผลงานขององค์กรก็จะดีขึ้นด้วย



บทความโดย : คุณประคัลภ์ ปัณฑพลังกูร
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 6477
ผู้เข้าชม

บทความที่เกี่ยวข้อง

การทำงาน เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิต ซึ่งรูปแบบของการจ้างงานไม่ได้มีเพียงงานประจำและรอเวลาเกษียณอายุเพียงเท่านั้น แต่ยังมีลักษณะการจ้างงานอีกหลายประเภท ที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไปได้ ในบทความนี้จะมาสรุปสั้น ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่าการจ้างงานมีกี่ประเภท และแต่ละประเภทมีข้อดีแตกต่างกันอย่างไร
การพาพนักงานไป Outing ถือเป็นหนึ่งในสวัสดิการหลัก ๆ ที่หลายองค์กรมี เพื่อดึงดูดพนักงานทั้งภายในและภายนอกให้อยากมาร่วมงานกันด้วย โดยวัตถุประสงค์หลักของการไป Outing ก็เพื่อเสริมสร้างความสามัคคี และเพื่อตอบแทนพนักงาน ให้ได้ผ่อนคลายจากการทำงานประจำวันอันตึงเครียดมายาวนาน โดยที่บริษัทจะดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมด
ระบบลงเวลาเข้า-ออกของพนักงาน คือ ระบบที่ช่วยในการบันทึกเวลาการทำงานของพนักงาน ผ่านอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่ เครื่องสแกนลายนิ้วมือ (Finger Scanner), สมาร์ทโฟน (Smart Phone), แท็บเล็ต (Tablet), ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่สามารถยืนยันตัวตนผู้ใช้งานได้อย่างชัดเจน ปลอดภัย และเชื่อมต่อสู่ระบบข้อมูลกลางอย่างระบบคลาวด์ (Cloud System) ได้ โดยจะระบุเวลาที่พนักงานเข้ามาทำงานและออกจากงานในแต่ละวัน ดูสถิติ ขาด ลา มาสาย ระบบนี้มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเวลาและการทำงานของพนักงาน ช่วยให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) และฝ่ายบริหารสามารถติดตามการทำงานของพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงใช้ข้อมูลที่บันทึกเพื่อคำนวณเงินเดือน สวัสดิการ ค่าล่วงเวลา และการจัดทำรายงานการเข้างานได้อย่างแม่นยำ ตอบโจทย์การทำงานในธุรกิจยุคใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
มนุษย์เงินเดือนบางคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตัวเองมีสิทธิที่จะเรียกร้อง ค่าชดเชยจากนายจ้าง อันนี้เป็นสิทธิ์ของเรานะ พี่ทุยบอกเลยว่า เงินค่าชดเชย เป็นสิ่งที่นายจ้าง ต้องจ่าย ให้กับพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือในกรณีให้ออกจากงาน ซึ่งไม่ได้มาจากทำความผิดของพนักงานหรือลูกจ้าง แต่อาจจะด้วยเหตุผลบางอย่างที่จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง
ในแต่ละเดือนที่เราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมนั้น ก็จะมีเงินส่วนหนึ่งที่จัดเก็บเข้าเป็นเงินสะสมประกันสังคม ซึ่งเงินส่วนนี้เองเราสามารถเช็คเงินสะสมประกันสังคมได้เองผ่านช่องทางออนไลน์ด้วย มาดูกันครับว่าทำยังไง แล้วยอดเงินประกันสังคมนี้ทำอะไรได้บ้าง

Employee Referral Program หรือ โครงการแนะนำพนักงาน คือระบบที่องค์กรใช้เพื่อกระตุ้นให้พนักงานที่ทำงานอยู่แนะนำบุคคลภายนอกที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่เปิดรับ โดยทั่วไปโครงการนี้มักมีการมอบรางวัลหรือโบนัสให้กับพนักงานที่แนะนำคนที่ถูกคัดเลือกและรับเข้าทำงานในองค์กรสำเร็จ โครงการแนะนำพนักงานนี้มีข้อดีหลายประการ เช่น การลดต้นทุนในการจ้างงาน เพิ่มคุณภาพของผู้สมัคร และสร้างความผูกพันให้กับพนักงานในองค์กร
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์