ควรปรับโครงสร้างองค์กรอย่างไร เมื่อองค์กรมีแต่คนรุ่นเก่า

ควรปรับโครงสร้างองค์กรอย่างไร เมื่อองค์กรมีแต่คนรุ่นเก่า


ปัญหาคนรุ่นเก่าไม่มูปออนในองค์กรเป็นหนึ่งในเรื่องคลาสิกที่ทุกองค์กรต้องเผชิญ ไม่ว่าบริษัทของคุณจะขนาดเล็กหรือใหญ่ อยู่ในสายงานไหน หากคนรุ่นเก่าในองค์กรของคุณไม่ปรับเปลี่ยน หรือไม่ทำตัวเป็นคนเก่าที่เก๋า อย่างไรเสียก็หลีกเลี่ยงปัญหาไม่พ้นแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างเรื่องวัย Generation gap กับคนรุ่นใหม่ที่ต้องทำงานร่วมกัน รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานที่อาจจะลดน้อยลง อย่าลืมว่ายุคนี้ เป็นยุคเฟื่องฟูของเทคโนโลยี หากคนทำงานเก่าไม่นำสิ่งเหล่านี้มาช่วยทุ่นแรง จะกลายเป็นทำมากได้น้อยเอาเสียเปล่าๆ

อย่าลืมว่าในแง่ของธุรกิจ เวลาคือสิ่งที่มีค่าที่สุด แม้จะได้มาฟรีแต่ก็ไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ หากยังปล่อยให้คนรุ่นเก่า ใช้วิธีเดิม ๆ ในการทำงาน หรือยึดติดกับสิ่งเก่า ๆ จนไม่ยอมพัฒนาหรือเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ สุดท้ายแล้วบุคคลเหล่านั้นก็กลายเป็นคนเฉื่อย หมดไฟ จนอาจถึงขั้นไร้ประสิทธิภาพการทำงานในท้ายที่สุด กลายเป็นภาระที่บริษัทต้องแบกรับค่าใช้จ่าย เพราะอย่าลืมว่ายิ่งทำงานมานานค่าตอบแทนก็ยิ่งสูง หากปล่อยไว้ก็จะยิ่งเป็นผลเสียกับองค์กรของคุณ

5 วิธีปรับโครงสร้างองค์กรที่มีแต่คนรุ่นเก่า

ก่อนอื่นให้ตั้งต้นด้วยชุดความคิดที่ว่าการปรับองค์กร หรือเปลี่ยนวิธีการทำงานเป็นเรื่องปกติ อะไรที่ทำมานานใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป ทำแล้วไม่เวิร์กก็แค่ปรับ ลองกันใหม่ด้วยกัน โดยสิ่งเหล่านี้องค์กรจำเป็นต้องแจ้งให้พนักงานทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง ว่าทำไปเพื่ออะไร สาเหตุมาจากไหน หากทำแบบหุนหันพลันแล่น ไม่แจ้งล่วงหน้า อาจจะทำให้คนทำงานรู้สึกไม่คอมฟอร์ต ส่งผลถึงบรรยากาศการทำงานแบบอึมครึมได้

1.พูดคุยถึงปัญหาขององค์กรอย่างเปิดใจ

ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการแก้ปัญหา สิ่งจำเป็นที่สุดของการเริ่มต้นแก้ไขไม่ว่าอะไรก็ตาม คือการชี้ให้เห็นว่าปัญหาคืออะไร ทำไมคุณต้องทำสิ่ง ๆ นี้ จุดมุ่งหมายของการเปลี่ยนคืออะไร แล้วหากปล่อยไว้ไม่แก้ไข ปลายทางองค์กรจะเจอกับอะไร เชื่อว่าการอธิบายถึงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ด้วยวิธีการพูดที่เป็นเหตุเป็นผลและจริงใจ น่าจะช่วยให้บรรยากาศเป็นไปด้วยความราบรื่นขึ้น  

คุณอาจจะเอาฟีดแบคจากเพื่อนร่วมงาน ลูกน้องในทีม หัวหน้างานไปจนถึงลูกค้า หรือตัวเลขทางสถิติอะไรก็ตามแต่ที่วัดผลได้ แบบภาพรวมมาสะท้อนถึงปัญหาว่าทำไมคุณต้องปรับเปลี่ยน เชื่อว่าอาจจะมีคนรุ่นเก่าบางคนปฏิเสธที่จะเปลี่ยนแปลง แต่การได้เห็นถึงสิ่งเหล่านี้ น่าจะช่วยให้พวกเขาพอเข้าใจและใจอ่อนลงได้บ้าง  

2.จัดคอร์สอบรมทักษะและเทคโนโลยีใหม่ ๆ

เมื่อทราบถึงปัญหาแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการแก้ไข เริ่มจากวิธีเบสิก คือพาคนรุ่นเก่าที่มองว่าเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นเรื่องห่างไกลให้ใกล้ชิดกว่าเดิม เริ่มด้วยการจัดคอร์สอบรมหรือเทรนนิงขึ้นในบริษัท อาจจะหาวิทยากรมาสร้างแรงจูงใจ รวมถึงฝึกฝนสกิลต่าง ๆ ทั้ง Hard และ Soft Skill ที่จำเป็นกับการทำงานในยุคนี้ 

ไม่ว่าจะเป็นการใช้โปรแกรมหรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ช่วยให้การทำงานสะดวกมากขึ้น ทักษะการสื่อสาร การเคารพในความแตกต่าง ทั้งเรื่องความหลากหลายทางเพศ เรื่อง Generation gap ไปจนถึง Work life balance ก็เป็นหนึ่งใน Topic ที่น่าชวนคนรุ่นเก่าเข้าใจคนรุ่นใหม่

3.แลกเปลี่ยนวิธีการทำงานกันในทีม

การสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้งานมีประสิทธิภาพ อาจจะจัดเป็น Session การพูดคุยระหว่างคนในทีม ตั้งแต่ระดับเด็กใหม่ไปจนถึงระดับหัวหน้า แลกเปลี่ยนถึงวิธีการทำงานของกันและกัน แต่คนมีทริคอะไร ใช้วิธีไหน หรือมีโปรแกรมทำงานอะไรน่าสนใจ นำมาพูดคุยกันถึงข้อดีข้อเสียกันอย่างตรงไปตรงมา เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการทำงานร่วมกัน 

การพูดคุยแบบนี้ สิ่งสำคัญคือต้องพยายามให้คนรุ่นเก่าเปิดใจรับฟังมากที่สุด อาจจะต้องวางอีโก้ไว้ข้าง ๆ แล้วเปิดใจให้กว้าง ดูว่าคนรุ่นใหม่ทำงานกันแบบไหน แล้ววิธีเหล่านั้นมันเวิร์กไหม มีอะไรที่พอนำมาปรับใช้กับคุณได้บ้าง บางครั้งการทำงานมานานก็อาจจะทำให้คุณเผลอมองข้ามอะไรไป การได้เติมเชื้อไฟจากคนรุ่นใหม่ ก็เป็นวิธีกระตุ้นการทำงานได้ดีเหมือนกัน เข้าใจว่าแต่ละคนก็มีวิธีการทำงานแตกต่างกันไป ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อย่าปิดกั้นจนกลายเป็นไม่รับอะไร 

4.ประเมินการทำงานคนรุ่นเก่าอย่างตรงไปตรงมา

ว่าด้วยวิธีไม้อ่อนไปแล้วสามข้อ สองข้อที่เหลือคือการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งขั้นตอนการประเมินเชื่อว่าคนทำงานทุกคนต้องเจออยู่แล้ว จะปีละ 2 ครั้งหรือปีละ 1 ครั้ง อย่างไรก็หนีไม่พ้น เรียกได้ว่าเป็นการสะท้อนการทำงานตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาของคุณว่าภาพรวมเป็นอย่างไร มีอะไรที่พัฒนาขึ้นหรือส่วนไหนยังต้องปรับปรุง

การประเมินควรเกิดขึ้นกับคนทำงานทุกคน แม้จะเป็นคนรุ่นเก่าที่อยู่ในตำแหน่งระดับสูง ก็ไม่ควรได้รับการยกเว้น โดยการประเมินที่ว่าอาจจะหัวหน้าอีกทีหรือมาจากลูกน้องในทีมที่อยู่ตำแหน่งล่างกว่าก็ได้ อาจจะให้เขียนฟีดแบค สิ่งที่ประทับใจหรือจุดที่ไม่โอเค จากนั้นส่งไปที่เอชอาร์ แล้วให้เอชอาร์เป็นคนประเมินแบบภาพรวมก็ได้ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง 

5.วัดผลการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อสุดท้ายเรียกว่าเป็นการวัดผลแบบตรงไปตรงมาที่สุด เน้นประสิทธิภาพของงานเป็นที่ตั้ง ทั้งฟีดแบคจากลูกค้า ตัวเลขต่าง ๆ ผลกำไร ขาดทุน ยอดขาย คือถ้าคุณเป็นคนรุ่นเก่าที่ยังทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม คุณภาพงานยังตรงกับที่บริษัทตั้งเป้าไว้ ก็ไม่ต้องกังวลมากนัก แต่ถ้าเป็นคนรุ่นเก่าที่ทั้งระหว่างทางก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ มีปัญหากับเพื่อนร่วมงาน แถมปลายทางก็สั่นคลอน อาจจะต้องกังวลอยู่เหมือนกัน

ต่อให้องค์กรจะปรับโครงสร้างไปมากแค่ไหน หากคุณเปิดใจให้กว้างพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ก็ไม่มีอะไรให้ต้องกังวล อย่ามองว่าสายเกินไปที่จะแก้ไข ทุกคนทุกวัยเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ จำเอาไว้ว่าตลอดชีวิตมีสิ่งให้เรียนรู้เพื่อเป็นคุณในเวอร์ชันที่ดีกว่า

 1057
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์