ลาป่วยต้องใช้ใบรับรองแพทย์หรือไม่ กฎหมายว่ายังไง?

ลาป่วยต้องใช้ใบรับรองแพทย์หรือไม่ กฎหมายว่ายังไง?


“ลาป่วยกรณีไหนต้องใช้ใบรับรองแพทย์”
เป็นอีกหนึ่งปัญหาคาใจชาวออฟฟิศไม่ว่าจะเป็นรุ่นเล็กหรือรุ่นใหญ่ก็ตาม เพราะไม่แน่ใจว่าลาป่วยแบบนี้ได้ไหม จะให้เอ่ยปากถามตรง ๆ ก็กลัวจะได้คำตอบว่ากฎระเบียบของบริษัทเป็นแบบนี้ ต้องปฏิบัติตาม แม้ว่าในใจจะแอบสงสัยอยู่ลึกๆ ว่า สวัสดิการวันลาที่บริษัทให้มันแฟร์กับพนักงานอย่างเรา ๆ หรือเปล่า? ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ ยิ่งในยุคแห่งโควิด-19 ที่วันลาป่วยต้องหายไปฮวบฮาบจนทำให้หลายคนวันลาป่วยแทบหมด ไม่เหลือให้ป่วยอะไรได้อีก เราเลยอยากชวนมาไขข้อข้องใจเรื่องสิทธิการลาป่วยที่มนุษย์ออฟฟิศอย่างเราควรได้กันดีกว่า

กฎหมายคุ้มครองแรงงานว่าด้วยเรื่องลาป่วยและการจ่ายค่าจ้าง

ตามกฎหมายพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 57 วรรคแรก กำหนดให้นายจ้างจ่าย “ค่าจ้าง” ให้แก่ลูกจ้าง ในวัน “ลาป่วย” เท่ากับ “ค่าจ้าง” ในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ปีหนึ่งต้องไม่เกิน 30 วัน ทำให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้ 30 วันต่อปีและสามารถได้รับค่าจ้างตามปกติ และ มาตรา 32 ระบุไว้ว่า “ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง การลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งของสถานพยาบาลของทางราชการ ในกรณีที่ลูกจ้างไม่อาจแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ” จากข้อกฎหมายจะสามารถแปลตรง ๆ ได้ว่า ลูกจ้างทุกคนมีสิทธิลาป่วยโดยไม่ต้องขอใบรับรองแพทย์ ถ้าขอลาป่วยไม่เกิน 3 วัน หมายความว่า ถ้าเกิดวันนั้นเราเป็นไข้ ปวดท้อง ท้องเสีย ปวดประจำเดือน แบบที่นอนพักรักษาตัวอยู่บ้านก็หายได้ และอยากพักอยู่บ้านไม่เกิน 3 วัน ก็ไม่จำเป็นต้องไปหาหมอเพื่อขอใบรับรองแพทย์มายื่นให้กับ HR ที่ออฟฟิศ และระหว่างที่เราลาป่วยก็ยังจะรับค่าจ้างปกติ

แต่ถ้าเราเกิดลาป่วยรวมกันไปทั้งหมด 35 วัน ในระยะเวลา 1 ปี แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง และนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตามปกติ แต่จะจ่ายให้ไม่เกิน 30 วันเท่านั้น ส่วนที่เกินมาอีก 5 วันนายจ้างมีสิทธิเลือกได้ว่าจะจ่ายหรือกว่าไม่จ่ายค่าจ้างก็ได้ เพราะกฎหมายไม่ได้คุ้มครองกรณีที่ลาป่วยเกิน 30 วันต่อปี

ลาป่วยมากกว่า 3 วัน ควรทำยังไงดี ?

ถ้าหากเราต้องลาป่วยมากกว่า 3 วัน อย่างเช่น การลาป่วยเนื่องจากติดโควิด ซึ่งส่วนใหญ่มักกินเวลาหลายวัน เราจำเป็นจะต้องไปหาหมอเพื่อขอใบรับรองแพทย์มาให้บริษัท ถ้าหากว่าบริษัทเราขอเพื่อเป็นหลักฐานการลาป่วย หรือกรณีลาป่วยเนื่องจากต้องมีการผ่าตัด หรือรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ก็ควรขอใบรับรองแพทย์ไว้เลย เพื่อที่ใช้ยื่นให้กับบริษัทได้รับรู้จะได้สบายใจกันทั้ง 2 ฝ่าย

ข้อสงสัยกรณีลาป่วยแบบต่าง ๆ

ลาป่วยติดต่อกับช่วงหยุดยาว

พนักงานบางคนอาจใช้สิทธิลาป่วยติดกับช่วงวันหยุดยาว เช่น วันหยุดตรงกับวันที่ 1 พ.ค. พนักงานขอลาป่วยต่อในวันที่ 2 – 3 พ.ค. กรณีนี้พนักงานสามารถขอลาป่วยได้โดยไม่ต้องยื่นใบรับรองแพทย์ให้กับบริษัท แต่ถ้าหากพนักงานขอลาป่วยวันที่ 29 – 30 เม.ย. จากนั้นไปเจอวันหยุดวันที่ 1 พ.ค. และยื่นลาป่วยต่อในวันที่ 2 – 3 พ.ค. แม้ว่าจะเป็นการลาป่วยครั้งละ 2 วัน โดยมีวันหยุดขั้นกลาง แต่ตามกฎหมายจะถือว่าเป็นการลาป่วยต่อเนื่อง ซึ่งทำให้นายจ้างมีสิทธิเรียกดูใบรับรองแพทย์จากลูกจ้างได้

หยุดงานแบบไม่รับค่าจ้าง

ในบางครั้งอาการป่วยหรือโรคบางโรคอาจต้องใช้การรักษาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถมาทำงานได้อย่างต่อเนื่อง แทนที่จะต้องแก้ปัญหาด้วยการลาออก พนักงานและบริษัทสามารถทำข้อตกลงการหยุดงานแบบไม่จ่ายค่าจ้างได้ เช่นการหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง หรือ Leave without pay หรือจะให้ลูกจ้างหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างตามหลักสัญญาต่างตอบแทน (No work no pay) ซึ่งอาจจะเป็นการลาป่วยเพื่อพักรักษาตัวติดต่อกันเป็นหลักอาทิตย์ หลักเดือน หรือจะเป็นการลาครั้งละไม่กี่วัน แต่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง การทำข้อตกลงระหว่างกันให้ชัดเจนแบบนี้ จะช่วยทำให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และสามารถวางแผนการทำงานให้ไม่สะดุดแม้พนักงานผู้รับผิดชอบต้องหยุดลาป่วยด้วย

ไม่ได้รับความเป็นธรรมในที่ทำงาน ควรทำอย่างไร ?

ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน สามารถร้องเรียนหรือร้องทุกข์ได้ ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด 76 จังหวัด หรือ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือร้องผ่านระบบ E-Service ของกรมได้ที่ https://www.labour.go.th/index.php/e-services หรือหากต้องการสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายแรงงาน ก็สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผ่านการติดต่อได้หลายช่องทาง ดังนี้

  1. สายด่วนโทร 1506 กด 3
  2. สายด่วน 1546
  3. ติดต่อ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด/ กรุงเทพฯ หมายเลขโทรศัพท์ จากเว็บไซต์ http://www.labour.go.th เมนูติดต่อกรม เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ในพื้นที่หรือจังหวัดที่คุณทำงาน

รู้อย่างนี้แล้วครั้งหน้าถ้าจะต้องลาป่วย ที่แค่พักรักษาอาการอยู่บ้านไม่เกิน 3 วัน ก็ไม่ต้องส่งใบรับรองแพทย์ก็ได้ หรือถ้าบริษัทมีกฎระเบียบเรื่องการลาป่วยอย่างไร ก็สามารถนำความรู้เรื่องข้อกฎหมายแรงงานมาใช้อ้างอิงได้อย่างชัดเจน ไม่ต้องมีโมเมนท์กระอักกระอ่วนให้ต้องลำบากใจกันทั้งนายจ้างลูกจ้าง หากสื่อสารกันให้ชัดเจนและเข้าใจกันภายในบริษัท พร้อมกับเคารพสิทธิที่ทุกคนควรจะได้รับจากการทำงาน เชื่อได้ว่าจะทำให้สังคมออฟฟิศทำงานร่วมกันได้อย่างดี โดยที่ไม่มีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ มาทำให้กังวลใจ จนงานสะดุด หรือแม้แต่เสียพนักงานดี ๆ ไปเพียงเพราะความเข้าใจผิดเรื่องสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่พนักงานควรได้ อย่างเช่น เรื่องลาป่วยที่เราเอามาเล่าให้ฟังในวันนี้

 800
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์