การบริหารคนคือการบริหารอารมณ์

การบริหารคนคือการบริหารอารมณ์



ทักษะในการบริหารคนเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นสำหรับผู้บริหารทุกคน แต่ถ้าวิเคราะห์กันให้ลึกจริงๆ เราจะพบเลยครับว่าการบริหารคนที่แท้จริงนั้น คือการบริหารอารมณ์ของคน (Emotional Management) ซึ่งการบริหารอารมณ์ของคนนั้นครอบคลุมทั้งการบริหารอารมณ์ของผู้อื่นและการบริหารอารมณ์ของตนเอง ซึ่งต้องถือว่าเป็นสิ่งที่ยากและท้าทายทั้งคู่ครับ แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องจำเป็นต้องทำ เนื่องจากปัญหาทางการจัดการที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่นั้นจะมาจากคน และปัญหาที่มาจากคนส่วนใหญ่นั้นก็สืบเนื่องมาจากอารมณ์ของคน

อารมณ์ของคนที่จะส่งผลต่อการทำงานและการบริหารองค์กรนั้นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของอารมณ์งอน น้อยใจ โกรธ หรือโมโห ซึ่งอารมณ์เหล่านี้ส่งผลต่อทั้งการทำงาน การร่วมมือในการทำงาน ความทุ่มเทในการทำงาน ฯลฯ ท่านผู้อ่านสังเกตดูแล้วจะพบว่า การประท้วง การหยุดงาน หรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากคนในที่ทำงานนั้น ส่วนใหญ่จะมาจากอารมณ์ของคนเป็นหลัก

อารมณ์หนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารองค์กรและพบบ่อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ที่มีความเชื่อมั่นหรือมั่นใจในตัวเอง ก็คือ อารมณ์น้อยใจ ผิดหวัง หรือถ้าเรียกภาษาชาวบ้านว่าอารมณ์งอน โดยอารมณ์น้อยใจนี้จะเกิดขึ้นมาได้ เนื่องจากการที่รู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับการยอมรับ ไม่ได้รับการมองเห็นถึงคุณค่า หรือรู้สึกว่าตนเองไร้ความสำคัญ อารมณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นกับคนในองค์กรได้โดยไม่รู้ตัว

ความน่ากลัว ประการหนึ่ง ของอารมณ์ประเภทนี้ คือ เมื่ออารมณ์นี้เกิดขึ้น เจ้าตัวอาจจะไม่รู้ตัวเลยก็ได้ว่าเป็น (บางครั้งก็ไม่ยอมรับ) และที่สำคัญ คือ ตัวผู้นำหรือผู้บริหารยิ่งไม่รู้ตัวอีกต่างหาก ผลกระทบของอารมณ์ประเภทนี้มีทั้งแต่ความไม่พอใจในการทำงาน การไม่ทุ่มเทต่อการทำงาน การถอนตัวจากงาน การหมดกำลังใจในการทำงาน ฯลฯ และที่น่ากลัวต่อไป ก็คือ บางครั้งผลกระทบในเชิงลบจากอารมณ์นี้อาจจะไม่แสดงออก แต่ค่อยๆ เก็บสะสมไปเรื่อยๆ และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะปะทุขึ้นมาและส่งผลเสียต่อองค์กร

อารมณ์ ประเภทที่สอง ที่ส่งผลเสียต่อองค์กร คือ อารมณ์โกรธหรืออารมณ์โมโห ซึ่งอารมณ์โกรธนั้น จะเกิดขึ้นเมื่อคนไม่ได้รับในสิ่งที่ตนเองต้องการหรือคาดหวัง เนื่องจากในกิจกรรมหรือการทำงานต่างๆ นั้น คนเราจะมีความต้องการหรือความคาดหวังในเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ แต่เมื่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้นไม่เป็นไปตามที่ต้องการหรือคาดหวัง ก็มีความเป็นไปได้ที่คนจะอารมณ์เสียหรือโกรธ

จากอารมณ์ที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรทั้งสองประการข้างต้น (น้อยใจและโกรธ) คำถามต่อมา ก็คือ ผู้บริหารหรือผู้นำควรจะต้องทำอย่างไร ผู้นำจะสามารถเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของผู้ใต้บังคับบัญชาหรือไม่ ในขณะเดียวกัน อีกคำถามหนึ่งที่สำคัญ คือ ตัวผู้บริหารหรือผู้นำจำเป็นต้องให้ความสำคัญหรือคำนึงถึงอารมณ์ของคนในองค์กรมากน้อยเพียงใด

โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าอารมณ์ของคนในหน่วยงานเป็นสิ่งที่ผู้บริหารต้องคำนึงนะครับ ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ลองคิดดูครับว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะเกิดขึ้นได้นั้นมักจะเกิดจากอารมณ์หรือเหตุผล เราจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน และการที่คนจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้นั้น ก็สืบเนื่องมาจากคนอารมณ์ของคน

ผู้บริหารจะต้องทำความเข้าใจต่ออารมณ์ของคนรอบๆ ตัวและอารมณ์ของคนในองค์กร แต่ก็ไม่ถึงกับต้องใส่ใจต่ออารมณ์ของคนทุกคน เพราะถ้าขืนคำนึงถึงอารมณ์ ความรู้สึกของทุกคนแล้ว ผู้บริหารคงจะไม่ต้องทำอะไร แต่อยากจะให้ผู้บริหารได้คำนึงถึงเรื่องของการบริหารอารมณ์ของคนในองค์กรมากขึ้น เพราะปัญหาของคนส่วนใหญ่นั้นมาจากเรื่องของอารมณ์ และถ้าผู้บริหารสามารถบริหารและใช้อารมณ์ของคนในองค์กรให้เป็นประโยชน์แล้ว ปัญหาที่มาจากคนก็จะลดน้อยลง และผู้บริหารย่อมสามารถที่จะนำการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ความยากที่สุดนั้นไม่ใช่เรื่องของการบริหารอารมณ์ของผู้อื่นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการบริหารอารมณ์ของตัวเอง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวผู้บริหาร) เพราะความยากในการบริหารนั้นไม่ใช่การบริหารผู้อื่น แต่เป็นการบริหารตนเอง การที่จะบริหารอารมณ์ของตนเองให้สำเร็จนั้น จะต้องเริ่มจากการทำความใจต่อตนเองก่อน และทราบถึงการเปลี่ยนแปลงในอารมณ์ของตนเอง สำคัญ คือ จะต้องฝึกจิตให้เข้มแข็งด้วยนะครับ



บทความโดย : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 4273
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์