ประโยชน์และข้อดีของการจ้างเด็กจบใหม่เข้าทำงาน

ประโยชน์และข้อดีของการจ้างเด็กจบใหม่เข้าทำงาน


1. มุมมองการทำงานที่สดใหม่

เด็กจบใหม่เปรียบเหมือนผ้าขาวที่ยังรอการถูกวาด ด้วยความที่พวกเขายังไม่เคยทำงานแบบเป็นจริงเป็นจังในสายงานไหนมาก่อน อย่างมากก็อาจเคยทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยหรือฝึกงานมาบ้าง แต่ก็ยังไม่ได้ลงลึกมากมายนัก มองในแง่มุมหนึ่งพวกเขาอาจจะดูเหมือนยังไม่มีประสบการณ์อะไรแต่สิ่งที่มาพร้อม ๆ กันก็คือพวกเขายังไม่ถูกความเคยชินหรือวิถีปฏิบัติในโลกการทำงานไปเป็นกรอบในวิธีการคิด นั่นทำให้นี่คือโอกาสที่องค์กรจะได้รับแนวคิดหรือไอเดียใหม่ ๆ เพื่อเติมเข้ามาให้กับคนในองค์กรที่ทำงานอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมองค์รในแต่ละที่ด้วยว่าได้ให้ความสำคัญกับการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้หรือไม่ มีการทำ Knowledge sharing session หรือเปล่า มีการเปิดกว้างทางความคิดไหม ลักษณะเป็นการทำงานแบบชี้นิ้วสั่งหรือเปิดโอกาสให้พนักงานมีอิสระในการแสดงความคิดสร้างสรรค์และเลือกวิธีการทำงานที่สอดคล้องกับธรรมชาติของตัวเอง 

ซึ่งหากวัฒนธรรมองค์กรของท่านเอื้อต่อเด็กจบใหม่ให้ได้แสดงออกถึงศักยภาพที่มี ท่านอาจจะต้องประหลาดใจว่ามีไอเดียมากมายเพียงใดจากเด็กจบใหม่ที่ทีมงานและองค์กรของท่านสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ เพราะในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว พวกเขาที่เป็นสายเลือดใหม่เหล่านี้เองที่จะเป็นหนึ่งในส่วนช่วยที่จะทำให้องค์กรของท่านทันสมัยและไม่ตกยุคนั่นเอง

2. เด็กจบใหม่ไฟแรง
เด็กจบใหม่มักจะมีแรงผลักดันและมีความกระหายใคร่รู้จนถึงขั้นที่ว่ามีคำติดปากเรียกกันเลยว่า ‘เด็กจบใหม่ไฟแรง’ (ซึ่งตรงข้ามกับปัญหาที่บางองค์กรพบเจอพนักงานเก่าที่ทำงานมานานหลายปีและมีภาวะหมดไฟ) แล้วหลาย ๆ ครั้งทีเดียวที่พลังงานนี้เองที่ทำให้พี่ ๆ รุ่นเก่าต้องแอบชื่นชม ซึ่งนี่เป็นโอกาสดีมาก ๆ สำหรับบริษัทที่จะต้องมาร่วมคิดกันว่าจะทำอย่างไรที่จะรักษาพลังในการทำงานของเด็กจบใหม่ไม่ให้มอดดับไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งหากว่าปัญหาไฟมอดสามารถเกิดขึ้นกับแม้แต่กับเด็บจบใหม่ที่ควรจะมีพลังล้นเหลือกลุ่มนี้แล้ว ก็ยิ่งทำให้ผู้นำองค์กรและทรัพยากรบุคคลต้องเริ่มกลับมาตั้งคำถามกับวัฒนธรรมองค์กรของตัวเองอย่างเร่งด่วน

3. เด็กจบใหม่เก่งเทคโนโลยี
เทคโนโลยีไม่เคยหยุดพัฒนา และคนรุ่นใหม่ ๆ ก็จะเติบโตขึ้นมาในยุคที่เทคโนโลยีมีพัฒนาการที่แตกต่างกันไป นั่นทำให้การจ้างเด็กจบใหม่เป็นการจ้างเอาทักษะในการประยุกย์ใช้เทคโนโลยีในการทำงานไปด้วยในตัว ซึ่งแน่นอนว่าเด็กจบใหม่ก็จะต้องเรียนรู้กระบวนการทำงานที่องค์กรมีอยู่ในปัจจุบันแต่ในขณะเดียวกันองค์กรก็จะต้องมีการเปิดใจรับฟังถึงวิถีการทำงานแบบใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีเช่นกัน ซึ่งถ้าหากมองในมุมนี้ การเกิด Digital Transformation ในองค์กรก็สามารถเกิดขึ้นได้ในลักษณะจากล่างขึ้นบนได้เช่นกัน(Bottom up) 

เรื่องนี้องค์กรจะต้องมีการหาจุดสมดุลที่เหมาะสมในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ หากว่ามีการเปลี่ยนวิธีการทำงานกันทุกวันก็อาจจะทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายในการทำงานที่ประกอบไปด้วยคนหลากหลายช่วงวัยที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีแตกต่างกันไป ในขณะที่ถ้าไม่มีการปรับเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้เลยก็อาจทำให้องค์กรมีความสามารถในการแข่งขันลดลงอันเป็นผลมาจากประสิทธิภาพในการทำงานที่ตามองค์กรอื่น ๆ ไม่ทัน และเป็นพลังของเด็กจบใหม่นี้เองที่จะช่วยเติมพลังแห่งเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาในองค์กรอย่างไม่เคยขาดสายรุ่นแล่วรุ่นเล่า เพียงแต่องค์กรต้องมีวัฒนธรรมที่เปิดรับให้คนรุ่นใหม่ ๆ ได้มีบทบาทในการกำหนดวิถีการทำงานมากยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง

เราจะเห็นได้ว่าเด็กจบใหม่คือพลังงานใหม่ ๆ ที่สามารถผลักดันองค์กรไปข้างหน้า ถึงแม้พวกเขาอาจจะไม่ได้มีประสบการณ์มากมายนัก แต่ก็เพราะแบบนั้นเองที่ทำให้เขาสามารถมองปัญหาด้วยมุมที่สดใหม่ เต็มไปด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์ เปรียบเหมือนหน่ออ่อนของต้นไม้ที่มีศักยภาพที่จะเติบโตไปเป็นอะไรก็ได้ หากองค์กรสามารถที่จะออกแบบวัฒนธรรมองค์กรที่สอดคล้องกับพวกเขาได้ มีการเติมปุ๋ย รดน้ำ พรวนดิน พวกเขาก็สามารถเติบโตอยู่เคียงข้างผู้มากประสบการณ์ และนั่นเป็นหน้าที่ของผู้นำและ HR ที่ต้องเอาโจทย์นี้ไปทำงานต่อเพื่อให้คนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าทำงานกันได้อย่างสอดคล้องเสริมจุดแข็ง กลบจุดอ่อน เพื่อสร้างองค์กรที่มีภูมิต้านทานต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างทุกวันนี้ต่อไป

บทความโดย : HR NOTE.asia

 452
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์