ทำความรู้จักกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF)

ทำความรู้จักกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF)


กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF)
เป็นกองทุนรวมรูปแบบหนึ่งที่รัฐส่งเสริมให้มีขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันแก่ตนเองหรือครอบครัวเมื่อเกษียณอายุ โดยมีข้อกำหนดพิเศษแตกต่างจากกองทุนรวมทั่วไป คือ ผู้ลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะไถ่ถอนเงินลงทุนได้ เมื่อผู้ลงทุนอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี และมีการลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี โดย RMF จะไม่มีการจ่ายเงินปันผลหรือเงินอื่นใดให้แก่ผู้ลงทุนในระหว่างการลงทุน

1.เงื่อนไขการลงทุน
 -  ผู้ลงทุนต้องซื้อหน่วยลงทุนของ RMF ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง และต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน
 -  ผู้ลงทุนต้องซื้อหน่วยลงทุนของ RMF ไม่น้อยกว่า 3 % ของเงินได้ในแต่ละปี หรือไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี (กรณีผู้ลงทุนซื้อหน่วยลงทุนใน RMF หลายกองทุน ให้รวมการซื้อหน่วยลงทุนใน RMF ทุกกองทุน)
 -  กรณีที่ผู้ลงทุนปฏิบัติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุน ตามข้อ (1 )หรือข้อ (2) หรือไถ่ถอนหน่วยลงทุนบางส่วนก่อนกำหนดในปีใด โดยผู้ลงทุนได้ชำระคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับไปในระยะเวลา 5 ปีย้อนหลังแล้ว และผู้ลงทุนได้ถือหน่วยลงทุนใน RMF ที่ยังคงเหลืออยู่ หากผู้ลงทุนประสงค์จะลงทุนต่อ โดยได้ลงทุนต่อเนื่องทันที ในปีที่ได้ชำระคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษี และผู้ลงทุนได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุนด้วยแล้ว ผู้ลงทุนสามารถนับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนใน RMF ใหม่นี้ ต่อเนื่องกับระยะเวลาการลงทุนเดิมได้
 -  กรณีที่ผู้ลงทุนมีการลงทุนใน RMF มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และผู้ลงทุนมีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี หรือทุพพลภาพ ผู้ลงทุนสามารถถือหน่วยลงทุนต่อไปได้ โดยจะซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มเติมหรือไม่ก็ได้ จะซื้อเป็นจำนวนเงินเท่าไรก็ได้ และหากเงินได้ที่นำมาซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มเติมอยู่ในประเภทเงินได้ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ผู้ลงทุนก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของเงินลงทุนดังกล่าวด้วย
 -  ผู้ลงทุนไม่สามารถนำหน่วยลงทุนของ RMF ไปจำหน่ายจ่ายโอน จำนำ หรือนำไปเป็นประกัน

2.สิทธิประโยชน์ทางภาษี  
เงินลงทุนใน RMF ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริง โดยเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ กบข. แล้วไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ และไม่เกิน 300,000 บาท ในแต่ละปีภาษี เงินที่ไถ่ถอนจาก RMF เมื่อผู้ลงทุนอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงทุนครั้งแรก จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีทั้งจำนวน  กรณีไถ่ถอนเนื่องจากผู้ลงทุนทุพพลภาพหรือตาย เงินที่ไถ่ถอนจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีทั้งจำนวน
ประเภทของเงินได้ที่ลงทุนใน RMF โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
 -  เงินได้จากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำนาญ
 -  เงินได้จากการรับทำงานให้
 -  เงินได้จากค่าลิขสิทธิ์ที่ไม่ได้รับโอนมาทางมรดก
 -  เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลป์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม เป็นต้น
 -  เงินได้จากการรับเหมา
 -  เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง

3.การลงทุนของ RMF
RMF เป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง จึงสามารถลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินประเภทเดียวกับที่กองทุนรวมลงทุนได้ เช่น ตราสารแห่งทุน ตราสารแห่งหนี้ เงินฝาก ตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน และใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เป็นต้น

4.นโยบายการลงทุ

ผู้ลงทุนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนของ RMF ได้ตามความเหมาะสมของผู้ลงทุน โดยศึกษาจากหนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุนของ RMF ซึ่งนโยบายการลงทุน ได้แก่ กองทุนรวมตราสารแห่งทุน กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะยาว กองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ระยะสั้น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมผสม กองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น กองทุนรวมหน่วยลงทุน กองทุนรวมใบสำคัญแสดงสิทธิ และกองทุนรวมกลุ่มธุรกิจ

5.การโอนย้ายการลงทุนใน RMF
ผู้ลงทุนสามารถโอนย้ายการลงทุนทั้งหมดหรือเพียงบางส่วนจาก RMF หนึ่งไปยัง RMF อื่นได้ โดยอาจโอนย้ายการลงทุนไปยังกองทุนรวมเดียวหรือหลายกองทุนรวมก็ได้ หากมีการโอนย้ายภายใน 5 วันทำการ นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่กองทุนรวม RMF เดิมได้รับคำสั่งโอนย้ายจากผู้ลงทุน ผู้ลงทุนจะสามารถนับระยะเวลา การถือหน่วยลงทุนต่อเนื่องกันได้

6.ข้อดีของ RMF
 -  ผู้ลงทุนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนเองได้
 -  ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการออมเพื่อเป็นหลักประกันแก่ตนเองหรือครอบครัวเมื่อพ้นวัยทำงาน โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

7.สิทธิประโยชน์ทางภาษีของผู้ลงทุนใน RMF
 -  เงินลงทุนใน RMF ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ ตามที่จ่ายจริง ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้ โดยเมื่อรวมกับเงินสะสม เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ กบข. แล้วไม่เกิน 300,000 บาท ในแต่ละปีภาษี
 -  เงินที่ไถ่ถอนจาก RMF เมื่อผู้ลงทุนอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงทุนครั้งแรก จะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีทั้งจำนวน
 -  กรณีไถ่ถอนเนื่องจากผู้ลงทุนทุพพลภาพหรือตาย เงินที่ไถ่ถอนจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีทั้งจำนวน
 -  เริ่มได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับเงินได้ ปี 2544 เป็นต้นไป

8.การชำระคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับไปกรณีผู้ลงทุนปฏิบัติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุน
ในกรณีที่ผู้ลงทุนได้ซื้อหน่วยลงทุนใน RMF โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของเงินลงทุนไปแล้ว ต่อมาผู้ลงทุนปฏิบัติไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุน ผู้ลงทุนจะหมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ของเงินลงทุนใน RMF และต้องชำระคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับไปในระยะเวลา 5 ปีย้อนหลัง หากผู้ลงทุนได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม เพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าว ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน ผู้ลงทุนจะไม่ต้องชำระเงินเพิ่มอีก 1.5 % ต่อเดือนของภาษีส่วนที่จ่ายขาดไป

9.บริษัทจัดการ
บริษัทที่จัดการ RMF ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดการกองทุนรวม



ขอบคุณที่มา : https://www.fpo.go.th
 302
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์