7 สิ่งที่ HR ควรกระทำเมื่อต้องส่งใบเตือนพนักงาน

7 สิ่งที่ HR ควรกระทำเมื่อต้องส่งใบเตือนพนักงาน



ใบเตือนพนักงาน หรือ หนังสือตักเตือนพนักงาน เป็นเอกสารที่ออกโดยนายจ้างหรือตัวแทนของนายจ้างที่มีอำนาจจ้างเท่านั้น
 เช่น ผู้จัดการหรือผู้บังคับบัญชา หัวหน้างานไม่มีอำนาจเลิกจ้าง โดยจะออกให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างที่ต้องการจะแจ้งตักเตือนอย่างเป็นทางการ ผ่านลายลักษณ์อักษร

เป้าหมายของใบเตือนพนักงานคือเพื่อให้พนักงานหรือลูกจ้างผู้นั้นรับทราบข้อผิดพลาดทางวินัยของตัวเอง นำไปสู่การปรับปรุง แก้ไข หรือปฏิบัติตามคำสั่ง โดยมีสาเหตุได้หลากหลาย เช่น ใบเตือนพนักงานมาสาย ใบเตือนพนักงานขาดงาน ใบเตือนพนักงานที่ปฏิบัติงานผิดพลาด ใบเตือนพนักงานทำผิดระเบียบวินัย หรือแม้กระทั่งใบเตือนพนักงานทำผิดทางกฎหมายอย่างการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น

โดยปกติแล้ว ระบบการตักเตือนจะดำเนินการเป็นขั้นตอน หากเป็นความผิดไม่ร้ายแรงมักจะเรียกพบตักเตือนด้วยวาจาเท่านั้น เพื่อไม่ให้พนักงานเสียความรู้สึก เว้นแค่แต่เป็นความผิดร้ายแรงที่นายจ้างเห็นว่าควรมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งอาจนำไปสู่การเป็นหลักฐานประกอบการตัดสินใจเลิกจ้างได้ นั่นทำให้ใบเตือนพนักงานมีส่วนเกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงานด้วยเช่นกัน

7 สิ่งที่ HR ควรกระทำเมื่อต้องส่งใบเตือนพนักงาน

1. พูดคุยกับพนักงานเป็นการส่วนตัว

โปรดจำไว้ว่าการตักเตือนเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างองค์กรกับพนักงาน การดำเนินการเรื่องนี้ควรสนทนาในพื้นที่ส่วนตัวที่พนักงานรู้สึกปลอดภัย ไม่ใช่เป็นการตักเตือนต่อหน้าสาธารณะ ไม่เช่นนั้นอาจก่อให้เกิดความอับอายหรือความไม่พึงพอใจได้ แนะนำว่าควรมีการพูดคุยกับพนักงานล่วงหน้าก่อนที่จะส่งใบตักเตือนอย่างเป็นทางการ เพื่อป้องกันการผิดใจหรือตกใจที่อาจจะเกิดขึ้น

2. มอบใบตักเตือนเร็วที่สุดหลังเกิดเหตุ

ช่วงเวลาในการออกใบเตือนพนักงานที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือการออกเร็วที่สุดหลังเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ขึ้นมา เพื่อที่ว่าพนักงานจะยังตระหนักถึงความผิดของตัวเอง และอาจลดการปะทะทางอารมณ์ระหว่างการตักเตือนในทางอ้อมด้วย พนักงานก็จะปรับปรุงตัวทันที

3. เน้นย้ำผลลัพธ์หากพนักงานไม่ปรับปรุงตัว

เป็นเรื่องที่ดี ถ้า HR แจ้งพนักงานอย่างตรงไปตรงมาถึงบทลงโทษที่อาจจะเกิดขึ้น หากพนักงานที่ได้รับการตักเตือนยังกระทำผิดเหมือนเดิม ซึ่งอาจเป็นการบอกด้วยวาจา รวมถึงการอ้างอิงข้อบังคับของบริษัทว่าพนักงานจะได้รับใบเตือนกี่ครั้งนั่นเอง

4. ขอลายเซ็นพนักงาน

การขอลายเซ็นกำกับไม่ใช่การบังคับ หากพนักงานไม่ยินยอมก็ไม่มีปัญหา แต่จะดีกว่าถ้าพนักงานยินยอมเซ็นกำกับว่ารับทราบการตักเตือน และเข้าใจผลกระทบตามมาหากยังกระทำผิดซ้ำเดิม หากพนักงานไม่เซ็นยินยอม อาจทำการอ่านแจ้งต่อหน้าพยาน เช่น หัวหน้างาน แล้วขอลายเซ็นพยานแทน พร้อมทั้งส่งเอกสารการตักเตือนแนบไปทางอีเมล จดหมาย หรือช่องทางที่พนักงานจะได้รับหนังสืออย่างแน่นอน

5. ใช้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงเสมอ

กระบวนการตักเตือนควรดำเนินการโดยปราศจากอารมณ์และอคติส่วนตัวอย่างสิ้นเชิง สิ่งสำคัญคือการเตรียมข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือหลักฐานที่แสดงออกถึงการกระทำผิดของพนักงาน เช่น ตัวเลข KPIs เวลาเข้า-ออกงาน ฯลฯ จะมีประโยชน์ในการเจรจามากกว่า หากพนักงานเองมีอารมณ์ แต่ HR เองก็ควรสงบสติอารมณ์

6. พิสูจน์อักษรให้ถูกต้อง

เนื่องจากใบเตือนพนักงาน หรือ หนังสือตักเตือนพนักงาน สามารถเป็นหลักฐานสำคัญหากเกิดกรณีฟ้องร้อง HR เองควรตรวจสอบเอกสารให้ถูกต้องที่สุด ตั้งแต่วันที่ ชื่อ เหตุผล บทลงโทษ ฯลฯ และไม่มีควรมีการสะกดผิดใด ๆ โดยเฉพาะเอกสารดังกล่าวจะต้องมีลายเซ็นของผู้บังคับบัญชาด้วย ตรวจสอบให้รอบคอบก่อนส่งเสมอ

7. ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย

หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับความถูกต้องทางกฎหมาย HR ควรปรึกษาฝ่ายกฎหมาย ทนายความ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลเพื่อป้องกันความผิดพลาดทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นนั่นเอง


ที่มา : Link

 4648
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์