• หน้าแรก

  • News

  • HR Articles

  • HRMI Tips

  • ปรับทัศนคติ เติมเต็มกำลังใจให้กับพนักงานที่ไม่มีความสุขในองค์กร

ปรับทัศนคติ เติมเต็มกำลังใจให้กับพนักงานที่ไม่มีความสุขในองค์กร

  • หน้าแรก

  • News

  • HR Articles

  • HRMI Tips

  • ปรับทัศนคติ เติมเต็มกำลังใจให้กับพนักงานที่ไม่มีความสุขในองค์กร

ปรับทัศนคติ เติมเต็มกำลังใจให้กับพนักงานที่ไม่มีความสุขในองค์กร


ผู้ประกอบการทั้งหลายคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “พนักงาน” คือหัวใจสำคัญในการดำเนินงานขององค์กร นอกจากองค์กรจะต้องวางกรอบ กำหนดบทบาทหน้าที่ในการวางคนให้เหมาะสมกับงาน พร้อมตั้งเป้าหมายให้พนักงานขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จแล้ว การดูแลพนักงานให้ทำงานกับองค์กรได้อย่างมีความสุขก็เป็นเรื่องที่ท้าทายกลยุทธ์ของนายจ้างและผู้ประกอบการเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่จะรักษาบุคลากรคุณภาพไว้ และดึงดูดพนักงานใหม่ที่มีศักยภาพให้เข้ามาร่วมงานกับองค์กร
 แต่ถึงอย่างไรชีวิตคนทำงานแต่ละคนก็ย่อมต้องมีช่วงเวลาหมดไฟไร้กำลังใจบ้างเป็นธรรมดา ซึ่งเป็นเรื่องที่องค์กรไม่อาจปล่อยผ่านมองข้ามไปได้ ผู้ประกอบการมาหาวิธีรับมือจัดการ ปรับทัศนคติ และเติมเต็มกำลังใจให้กับพนักงานที่กำลังไม่แฮปปี้กันดีกว่า

1. ผลตอบแทนที่เหมาะสมกับผลงาน

          คนเราทำงานก็เพื่อต้องการได้ผลตอบแทนมาใช้ในการดำรงชีพเป็นหลัก องค์กรต้องหันกลับมาพิจารณาว่าเงินเดือนและค่าตอบแทนต่าง ๆ ที่ให้กับพนักงานนั้นเหมาะสมพอดีกับงานที่เขาต้องรับผิดชอบหรือไม่ อย่างน้อยเงินเดือนของคนทำงานก็ควรจะเพิ่มขึ้นบ้างเมื่อทำงานมาได้ระยะหนึ่งและมีผลงานเป็นที่น่าพอใจ เพื่อเป็นกำลังใจในการทำงานต่อไปกับองค์กร นอกจากการขึ้นเงินเดือนแล้วก็ยังต้องมองไปถึงสวัสดิการพิเศษอื่น ๆ ที่ควรมีไว้ดึงดูดใจด้วยเช่นกัน

2. ทำงานหลายปี ต้องมีโอกาสเติบโต

          การทำงานเดิม ๆ ซ้ำซาก เป็นเวลานาน ๆ อาจบั่นทอนกำลังใจคนทำงานโดยไม่รู้ตัว ในที่สุดความเบื่อก็จะถามหา นำไปสู่การอยากลาออกจากงานได้ ผู้ประกอบการควรเพิ่มความสุขให้กับคนทำงาน ด้วยการดึงพวกเขาออกจากสถานการณ์เดิม ๆ การโอนย้าย หมุนเวียนตำแหน่งงาน หรือมอบหมายงานที่มีความท้าทายมากขึ้น ช่วยให้พนักงานพึงพอใจและสนุกที่จะทำงานได้อย่างต่อเนื่อง แถมยังช่วยพัฒนาพนักงานให้มีฝีมือเก่งรอบด้าน สร้าง Career Path ที่ดีได้ องค์กรก็ได้ปั้นคนทำงานที่มีคุณภาพให้ทำงานเพื่อองค์กร win-win ทุกฝ่ายอย่างแน่นอน

3. ให้โอกาสในการพัฒนา ฝึกทักษะ

          การเป็นผู้ให้ ได้อะไรมากกว่าที่คิด หากองค์กรให้โอกาสและให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพพนักงาน ส่งตัวไปศึกษา ดูงาน อบรม พนักงานจะรู้สึกผูกพันกับองค์กรและมีความสุขกับการทำงาน เพิ่มโอกาสที่พวกเขาจะคิดสร้างสรรค์และอยากทำสิ่งใหม่เพื่อพัฒนางานและองค์กรได้อีกมากมาย

4. สร้างความเข้าใจในการประเมินผลการทำงาน

          มีมาตรฐานและแนวปฏิบัติเป็นที่ยอมรับเกี่ยวกับการประเมินผลการทำงานของพนักงาน มีความโปร่งใส่ ตรวจสอบได้ พร้อมชี้แจงให้พนักงานเข้าใจเกี่ยวกับผลการประเมินในแต่ละรอบ นอกจากนี้ยังควรมุ่งเน้นการประเมินผลงานเพื่อยกระดับปรับปรุงการทำงาน มากกว่านำไปใช้ในการขึ้นเงินเดือนหรือให้โบนัสเพียงอย่างเดียว เพื่อช่วยเป็นกระจกสะท้อนภาพการทำงานของพนักงาน พร้อมหาวิธีพัฒนางานและองค์กรไปด้วยกัน

5. ทำให้พนักงานรู้สึกมีคุณค่าและมีความหมาย

          พนักงานที่รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า จะรู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร นำไปสู่ passion ที่อยากจะทำงานเพื่อองค์กรอย่างต่อเนื่อง องค์กรต้องพยายามเข้าถึงและเข้าใจพนักงาน ทำให้พวกเขาเห็นว่างานที่ทำอยู่มีคุณค่าและความหมายต่อองค์กรมากเพียงใด พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จขององค์กรได้อย่างไร แสดงชื่นชมเมื่อพวกเขาทำผลงานได้ดี และร่วมกันหาทางออกเมื่อพบปัญหา เน้นการสื่อสาร สร้างความรู้สึกที่ดี พนักงานย่อมมีความสุขอย่างแน่นอน

6. เติมไฟให้พนักงาน

          อย่าปล่อยให้บรรยากาศเครียด ๆ เซ็ง ๆ เบื่อ ๆ เข้าครอบคลุมองค์กรของคุณ สภาพแวดล้อมไม่ดีในที่ทำงาน นำไปสู่การหมดไฟของพนักงานได้ในที่สุด ปรับบรรยากาศให้เอื้อต่อการทำงาน เพิ่มพลังในทางสร้างสรรค์ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพนักงาน หัวหน้างาน และผู้บริหาร ปรับวิธีการให้ยืดหยุ่น ลดความเป็นทางการ อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้อย่างไม่น่าเชื่อ

7. ให้ความสำคัญกับ Work-life Balance

          คนทำงานยุคใหม่ให้ความสำคัญทั้งเรื่องงานและการใช้ชีวิตที่สมดุล Work-Life Balance จึงเป็นอีกกลยุทธ์ที่องค์กรต้องปรับตัวเพื่อดึงดูดใจคนทำงาน การทำงานยุคนี้ต้องยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งเวลาการทำงาน สถานที่ทำงาน เวลาพักระหว่างวัน รวมไปถึงวันพักผ่อนประจำปี เพื่อเอื้อให้พนักงานได้มีเวลาดูแลตัวเอง ดูแลคนรอบข้าง ไปพร้อม ๆ กับการทุ่มเททำงานให้องค์กร จึงจะบรรลุวิถีแห่งการทำงานที่มีความสุขและยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

          งานที่ดีนั้นดึงดูดคนทำงานทุกคนได้อยู่แล้ว แต่งานที่ดีกว่าคืองานที่ทำแล้วมีความสุข นับเป็นโจทย์ท้าทายให้ทุกองค์กรต้องตีให้แตก ให้โดนใจพนักงาน เพราะการรักษาคนทำงานให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ อาจเป็นเรื่องยากกว่าการรับคนทำงานเข้ามาใหม่ หากองค์กรไม่อยากสูญเสียพนักงานที่มีค่าไป ต้องตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาให้ได้ มีแนวทางดี ๆ ให้นำไปปรับใช้อยู่เสมอ องค์กรที่ทำงานแล้วมีความสุขจะมีหน้าตาอย่างไร อยู่ที่คุณแล้วว่าจะทำให้เป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด


ที่มา : Link

 585
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์