พฤติกรรมเสี่ยงผิดอาญา รังแกลูกน้องมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

พฤติกรรมเสี่ยงผิดอาญา รังแกลูกน้องมีโทษทั้งจำทั้งปรับ


ประโยคที่ว่า “เรื่องจริงยิ่งกว่าละคร” อาจจะเป็นชีวิตจริง ของพนักงานออฟฟิศหลาย ๆ คน ที่ถูกเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง ใช้อำนาจที่มีอยู่ในมือกลั่นแกล้ง จนทำให้รำคาญใจ และอาจจะรับมือไม่ได้ หรืออาจจะถึงขั้นเดือดร้อน ไม่สบายใจ รวมไปถึง อาจจะถูกมองด้วยสายตาที่ไม่ดีจากคนอื่น ๆ ในออฟฟิศ จนทำให้ใช้ชีวิตไม่สงบสุข ซึ่งสามารถเรียกได้อีกอย่างว่า 
Power Harassment หรือ การข่มเหงรังแกในที่ทำงาน วันนี้เรามาพร้อมกับ 10 พฤติกรรมเสี่ยงผิดอาญา ที่เจ้านาย และเพื่อนร่วมงาน ไม่ควรทำในที่ทำงาน หรือที่ไหน ๆ ก็ตาม 

การข่มเหงรังแกกันในที่ทำงานนี้ ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แบบที่หลาย ๆ คนคิด เพราะจริง ๆ แล้ว กฎหมายมีการปกป้องผู้ถูกกระทำ โดยผู้ถูกกระทำสามารถแจ้งความเอาผิดกับคนที่มาแกล้ง มาข่มเหงรังแกได้ เพราะการข่มเหงรังแกในที่ทำงานถือว่าเป็นความผิดอาญา ตามมาตรา 397  ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำการให้ได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำในที่สาธารณสถาน หรือต่อหน้าธารกำนัล หรือเป็นการทำในลักษณะส่อไปในทางล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่ง 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสอง เป็นการกระทำโดยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำ อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท” โดยที่ความผิดตามมาตรานี้จะถือว่าเป็นความผิดแบบ “ลหุโทษ” คือ เป็นความผิดที่สามารถยอมความกันได้ในชั้นพนักงานสอบสวน แต่ถ้าฝ่ายผู้เสียหายต้องการจะร้องทุกข์จนถึงที่สุด ก็สามารถดำเนินคดีไปจนถึงชั้นศาลได้เช่นกัน

           มาดูตัวอย่าง 10 พฤติกรรมเสี่ยงผิดอาญา ข่มเหงรังแกกัน ในที่ทำงาน ถือเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 397 กันเลยดีกว่า

  1.     ได้รับมอบหมายงานที่ไม่สามารถทำได้ หรือให้ทำงานนอกขอบเขตรายละเอียดของงาน (Job Descriptionเพื่อกลั่นแกล้งให้ทำงานผิดพลาด
  2.     ได้รับความกดดันที่มากเกินไปในการทำงาน ทำให้เกิดความเครียดจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  3.     การถูกเมินเฉยต่อผลงาน หรือถูกดุด่าว่ากล่าว อย่างรุนแรงต่อหน้าคนในออฟฟิศ เมื่อทำงานผิดเพียงเล็กน้อย
  4.     ถูกสอบถามเรื่องส่วนตัวมากเกินความจำเป็น
  5.     ได้รับมอบหมายงานที่ไม่มีคุณค่า หรือไม่จำเป็น เพราะต้องการจะกลั่นแกล้ง
  6.     ถูกข่มขู่ว่าถ้าไม่ทำงานที่ได้รับมอบหมาย จะถูกลดเงินเดือน หรือลดผลประโยชน์
  7.     โดนบังคับให้ไปเที่ยว ดื่มเหล้าหลังเลิกงาน โดยที่ไม่เต็มใจ
  8.     เมื่อทำความผิด ถูกหัวหน้า หรือคนในที่ทำงานเอาไปเล่าต่อให้คนอื่นฟังลับหลัง เพื่อทำให้เสื่อมเสีย
  9.     ถูกประเมินผลการทำงานอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้อง
  10.     ถูกนำความลับส่วนตัว เรื่องที่ไม่อยากให้ใครรู้ ไปเปิดเผยต่อเพื่อนร่วมงาน และคนในออฟฟิศ เพื่อสร้าง ความอับอาย เช่น เรื่องในครอบครัว สามีมีเมียน้อย หรือเป็นโรคประจำตัวที่สังคมรังเกียจ เป็นต้น

           หลาย ๆ ข้อเป็นพฤติกรรมเล็กน้อย ที่หลายคนอาจจะเผลอทำไป โดยลืมคิดถึงจิตใจคนอื่น ซึ่งอาจจะให้เค้าโกรธจนถึงขั้นเอาผิดเราได้ ก็ขอให้มีสติในทุกการกระทำ ถ้าเป็นหัวหน้า ก็จะต้องระวังการใช้อำนาจให้ถูกต้อง ถ้าเป็นเพื่อนร่วมงานด้วยกัน ก็ขอให้คิดถึงใจเขาใจเราให้มาก อยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกัน อย่างเป็นทีมเดียวกันดีกว่า เพื่อสร้างสังคมออฟฟิศที่น่าอยู่ และทุกคนทำงานอย่างมีความสุข ซึ่งก็จะส่งผลดีทั้งต่อผลงานที่ทำ และการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขด้วย

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิก!!



ที่มา : Link

 1962
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์