องค์กรจะก้าวหน้าและไปได้ดี หัวใจสำคัญนอกเหนือไปจากประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว ก็คือความสามารถในการบริหารคนในองค์กร เพื่อให้ความสัมพันธ์ของพนักงานทุกฝ่ายเป็นไปอย่างราบรื่นและไม่ติดขัด เพราะเมื่อองค์กรสามารถทำให้การสื่อสารระหว่างกันเกิดขึ้นได้อย่างเข้าใจ ไม่ว่าจะกี่ปัญหาก็สามารถผ่านไปได้อย่างง่ายๆซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดที่สามารถเริ่มได้เลยก็คือ เปลี่ยนทัศนคติของตัวเอง และในฐานะที่เป็นผู้นำองค์กร จะมีวิธีเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการบริหารลูกน้องได้อย่างไร ?
1. Hire The Best
เริ่มต้นที่การจ้างงาน ควรจะเลือกจ้างคนที่ดีที่สุดเท่าที่หาได้ทุกครั้ง สำหรับทุกตำแหน่งงาน ไม่ควรเลือกจ้างใครก็ได้เพื่อให้มาทำงานที่ไม่มีใครอยากทำด้วยค่าแรงที่น้อยที่สุด หรือตามอัตราตลาด เพราะคนที่เก่งย่อมไม่อยู่นิ่งและมองหาโอกาสเสมอ และค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อหรือได้มากกว่าก็ย่อมได้ผลงานที่ออกมาดีกว่า โดยให้มองพนักงานว่าเป็นเครื่องมือในการช่วยหารายได้เข้าองค์กร ไม่ใช่ภาระขององค์กร เพราะการจ้างคนคือการหาคนมาทำงานให้เรา เพราะฉะนั้นจงมอบอำนาจในการตัดสินใจให้เขาเยอะๆ ผลที่ได้คือผลงานที่ออกมาอย่างรวดเร็วและความเก่งที่ซ่อนอยู่ซึ่งคุณอาจไม่เคยรู้มาก่อนด้วย
สูตรในการจ้างงาน ทำน้อยให้ได้มาก 20:20:20
- ให้เงินเดือนพื้นฐานสูงกว่าอัตราตลาด 20%
- ให้พนักงานมีเวลาการทำงานน้อยกว่าปกติ 20%
- ให้พนักงานมีผลงานหรือ Output ดีกว่ามาตรฐาน 20%
2. Start from the ground
ลองคิดว่าตัวเองเป็นลูกน้องดูบ้าง และลองทำในส่วนที่ลูกน้องทำ เพราะการสอนงานด้วยการทำให้ดูนั้นมีพลังมากกว่าการสอนด้วยปาก และถ้าสามารถทำได้ ลูกน้องจะเกิดความ trust รู้สึกศรัทธาและให้คุณหมดทั้งใจ การลงไปทำงานจริงยังช่วยทำให้มองเห็นภาพรวมของทั้งหมด มองเห็นต้นตอและเข้าใจปัญหาได้ดีที่สุดอีกด้วย
3. เป็นคนฉายไฟ
หน้าที่ของคนเป็นหัวหน้าคือหาเวทีให้ลูกน้องได้แสดงออก ช่วยฉายไฟเวลาที่ลูกน้องกำลังแสดงอย่างโดดเด่น ช่วยหลบไฟเวลาที่แสดงผิดพลาด ซึ่งหลบไฟในที่นี้ หมายถึง การช่วยออกโรงปกป้องไม่ให้ลูกน้องโดนต่อว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นการช่วยกันปิดบังความผิด และที่สำคัญคือให้พื้นที่ตัวสำรองลงสนามบ้าง เพราะในทุกๆ ทีมเวิร์คจะมีคนเด่นและคนรองเสมอ กาดเปิดโอกาสให้ตัวสำรองได้แสดงฝีมือบ้าง จะทำให้หัวหน้าเห็นความสำคัญของทีมโดยทั่วถึงกัน และเป็นการพัฒนาความสามารถของตัวสำรองด้วย
สิ่งสำคัญคือยึดติดในหน้าที่ไม่ใช่ตัวบุคคล และสร้างวัฒธรรมและความเชื่อเดียวให้ทีมรู้ว่าทุกคนสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยหัวหน้าคนนี้คนเดียว ความเชื่อนี้จะเป็นแรงผลักดันให้ทุกคนพัฒนาตัวเองและเอาตัวรอด กล้าตัดสินใจด้วยตัวเองเมื่อปัญหามาถึง
4. Review and Revert
ให้ Feedback งานอยากรวดเร็วเวลาลูกน้องทำงานมาให้ว่าต้องแก้อะไรบ้าง ซึ่งถือเป็นการปรับสไตล์ในการทำงานและเรียนรู้ร่วมกัน และลองชมให้บ่อย และบ่นให้น้อย เพราะคำชมเป็นสิ่งสร้างพลังบวกให้ทุกคนในทีมและควรเป็นคำชมแบบเต็มใจ ให้ทั้งทีมรับรู้เพื่อสร้างความรู้สึกบวกร่วมกัน ส่วนเวลาที่จะบ่นหรือดุนั้นควรทำตามลำพัง ที่สำคัญคือเมื่อดุแล้วต้องทำให้ดีกว่าลูกน้องด้วย
5. ใช้ Post-it สั่งงาน ดีกว่าใช้ E-mail
การสั่งงานด้วย Post-It ไปแปะที่โต๊ะทำงานด้วยลายมือตัวเองนั้นได้ผลกว่าการสั่งงานด้วย E-mail หลายเท่า เพราะมันแสดงให้เห็นว่างานนั้นเป็นงานที่สำคัญที่คุณถึงกับต้องเขียนด้วยลายมือตัวเองและเดินมาถึงโต๊ะลูกน้องเพื่อสั่งงาน ลูกน้องจะมีความรู้สึกอยากทำงานนั้นก่อนเป็นอันดับแรกเพราะเป็น Assignment ที่โดดเด่นและแตกต่างจากงานที่ได้รับมอบหมายอื่นๆ
6. ให้คนในทีมได้ทำในสิ่งที่ถนัด
คำกล่าวของไอน์สไตน์ที่ว่า “ถ้าคุณวัดความสามารถของปลาโดยใช้มันปีนต้นไม้ มันคงใช้เวลาทั้งชีวิต” ในฐานะหัวหน้า คุณต้องรู้จุดอ่อนจุดแข็งและธรรมชาติของทุกคนในทีม และให้ทุกคนได้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ส่วนที่เหลือคือให้เขาตัดสินใจเอาเองว่าจะออกแบบชีวิต และรูปแบบการทำงานอย่างไร เพื่อให้ทีมของคุณมีส่วนผสมที่ลงตัว และมีความหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น มีตำแหน่งนักคิด นักทำ นักเจรจา นักนำเสนอ รวมไปถึงนักระแวดระวัง เป็นส่วนผสมที่ทำให้เกิด Synergy ในทีม
7. ให้อิสระในวิธีการคิดและการทำงาน
ในยุคสมัยใหม่ คนรุ่นใหม่มีสไตล์การทำงานที่ต่างจากคนรุ่นเก่าค่อนข้างมาก ค่อนข้างมีความคิดแบบ Ownership และไม่ยึดติดคุณค่าของตัวเองกับระบบเดิมๆแบบ Hierarchy อีกต่อไป ดังนั้นเจ้านายยุคใหม่ต้องเข้าใจและตามให้ทัน ต้องปล่อยให้เขามีอิสระในการคิด และมีสิทธิ์ในการออกแบบชีวิตของตัวเอง รวมไปการรับผิดชอบตัวเองในการพัฒนาความสามารถอยู่เสมอ
8. กินข้าวร่วมกัน
วางเรื่องงานไว้ที่ทำงานและลองออกไปหาอะไรกินด้วยกันอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่ออยู่ในบทบาทที่ต่างออกไปบ้าง เพื่อซักถามสารทุกข์สุขดิบและชีวิตส่วนตัวกันบ้าง สิ่งนี้ช่วยให้ทราบถึงสถานการณ์ชีวิตของแต่ละคน เพราะแต่ละสถานการณ์ย่อมส่งผลต่อการทำงานในช่วงนั้นๆของแต่ละคนอย่างปฏิเสธไม่ได้ คนเป็นเจ้านายจำเป็นต้องรู้ความเป็นไปของชีวิตลูกน้องในระดับพื้นฐาน
การบริหารคนก็เป็นเหมือนการบริหารชีวิตและความก้าวหน้าของคนๆหนึ่ง ซึ่งในฐานะหัวหน้างานถือเป็นหน้าที่ของคุณที่ต้องบริหารคนในองค์กรทุกคนไปพร้อมๆกัน ซึ่งทั้ง 8 ข้อนี้เป็นเพียงเทคนิคเล็กๆน้อยๆที่ทำได้ง่ายๆ แต่เกิดผลอย่างมากมายมหาศาล หากคุณลองนำไปใช้ อาจจะเห็นความแตกต่างมากมายจนน่าแปลกใจเลยทีเดียว
ที่มา : HR NOTE,หนังสือ วิชาธุรกิจที่ชีวิตจริงเป็นคนสอน โดยคุณ ธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์ – หลักการบริหารคน