Benefit กับ Welfare ต่างกันอย่างไร

Benefit กับ Welfare ต่างกันอย่างไร


Benefit หรือ สิทธิประโยชน์ ที่จัดให้แก่พนักงาน นอกเหนือจากค่าจ้างเงินเดือนปกติ หากเราสามารถบริหาร สิทธิประโยชน์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากจะช่วยให้อัตรา Attrition น้อยลงแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มความสามารถในการดึงดูด (Attraction) เข้ามา  และรักษาพนักงานไว้กับองค์กรได้ด้วย 

ตัวอย่างสิทธิประโยชน์ทั่วไป ได้แก่ การลาพักผ่อนประจำปี รวมทั้ง การลาประเภทต่างๆ การจัดสถานเลี้ยงบุตร (Day Care) การจัดที่พักอาศัย การเบิกจ่ายกรณีไปอบรมเพิ่มเติมพิเศษ การปรับเงินเดือนและค่าแรง การฝึกอบรม สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จัดเป็นพิเศษให้กับผู้บริหารมักจะเรียกว่า Perq หรือ Perk ได้แก่ การเป็นสมาชิกสปอร์ตคลับต่างๆ หรือจัดให้มี รถยนต์ และ คนขับรถประจำตำแหน่ง เป็นต้น 

เรามักใช้คำว่า Benefit ควบคู่ไปกับ Welfare และมักเรียกรวมว่า สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการ ซึ่งครอบคลุมสวัสดิการ รักษาพยาบาล การให้เงินทดแทน เนื่องจากเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพ การประกันชีวิต การจ่ายสวัสดิการบำนาญให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุ การให้สิทธิการซื้อหุ้นหรือการจ่ายสวัสดิการในรูปของหุ้น การประกันสังคม เงินช่วยเหลือต่างๆ เช่น คลอดบุตร งานมงคลสมรส งานศพ เป็นต้น 

การบริหาร Benefit & Welfare นั้น ถือเป็นเครืองมือในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลขององค์กรที่สำคัญ จึงต้องมีกลยุทธ์ ที่เหมาะสม  เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า เพราะสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเป็นต้นทุนต่อเนื่องขององค์กร และนับวันก็จะมีแต่เพิ่มขึ้น อีกทั้งความต้องการของพนักงานก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้น องค์กรสมัยใหม่อาจจะมีการกำหนดกลยุทธ์ในการบริหาร สิทธิประโยชน์และสวัสดิการ ดังนี้ 

  • ใช้กลยุทธ์ Customized Approach คือ จากเดิมที่จัดให้พนักงานทุกคนได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเหมือนกันทั้งองค์กร เพื่อให้เกิดความเสมอภาคนั้น เราอาจจะพิจารณาจัด สิทธิประโยชน์ & สวัสดิการ ให้สอดคล้องกับ ข้อมูลประวัติของพนักงาน (Profile) ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น Customize ให้ตรงตามช่วงอายุ เพศ Life Style ลักษณะงาน หรือที่เรารู้จักกันว่า Flexible Benefit หรือจัดสิทธิประโยชน์ที่ตรงกับรูปแบบธุรกิจขององค์กร เช่น ธุรกิจการบิน มีการจำหน่ายตั๋วเครื่องบินราคาพิเศษ ให้กับ พนักงาน ธุรกิจโทรคมนาคม จัดให้มีค่า Air Time ราคาพนักงาน และธุรกิจ รถยนต์ มีการปรับลดราคาให้พนักงานได้ซื้อรถได้ในราคาประหยัด  เป็นต้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิด Brand Loyalty และทั้งหมดนั้นก็จะทำให้การลงทุนในเม็ดเงินที่ใช้ในการดูแลพนักงาน คุ้มค่า เพราะตรงกับความต้องการของพนักงาน ทำให้สามารถครองใจ สร้างความพึงพอใจให้กับพนักงานได้ด้วยเช่นกัน 
  • ใช้กลยุทธ์การสื่อสาร  เพื่อให้พนักงานรับทราบสิทธิประโยชน์และสวัสดิการอย่างต่อเนื่อง โดยมีวิธีการสื่อสารที่ทำให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นห่วง ในชีวิตการทำงานของพนักงานจากทีมผู้บริหาร ซึ่งมีส่วนเสริมสร้าง Employee Relation ได้เป็นอย่างดี อีกด้วย 

ปัจจุบันมีหลายองค์กร ได้จ้างบริษัทฯ ที่ปรึกษา มาทำการศึกษาความเหมาะสมและคุ้มค่า ในการบริหารสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการองค์กร โดยพิจารณาข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์และสวัสดิการพนักงาน หากพบว่า มีสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการด้านใด ที่ไม่นิยมใช้ หรือพนักงานไม่ค่อยรับรู้  เราก็สามารถนำสิทธิประโยชน์ด้านนั้น มาปรับให้ตรงตามความต้องการของพนักงาน และนำมาเป็นข้อมูลในการสื่อสารแก่พนักงานต่อไปได้ 

จากผลสำรวจ หลายๆ แห่งที่สำรวจระหว่างองค์กร และ พนักงาน จะเห็นว่า แต่ละองค์กร มีการแบ่งสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ โดยจะสามารถแบ่ง สวัสดิการได้ดังนี้ 

  • สวัสดิการของคนทำงานตามช่วงอายุ (Generation)
  • สวัสดิการของคนทำงานตามเพศ (Gender)
  • สวัสดิการของคนทำงานตามพื้นที่ (Area)
  • สวัสดิการของคนทำงานตามประเภทธุรกิจ (Industry)
  • สวัสดิการของคนทำงานตามระดับงาน (Job Level) 

สวัสดิการของคนทำงานตามช่วงอายุ (Generation) เมื่อแบ่งกลุ่มคนทำงานออกเป็นตามช่วงอายุพบว่า Gen X จะให้ความสำคัญกับสวัสดิการด้าน “เงินออม” เนื่องจากเป็นวัยที่กำลังใกล้เกษียณ หลักประกันที่จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังเกษียณจึงเป็นเรื่องจำเป็น ในทางกลับกันกลุ่มคนทำงาน Gen Y และ Gen Z ไม่ได้มองว่าสวัสดิการด้านนี้สำคัญ แต่ให้ความสำคัญกับสวัสดิการด้าน “ค่าล่วงเวลา” และ “เบี้ยขยัน” มากกว่า

สวัสดิการของคนทำงานตามเพศ (Gender) ผลการสำรวจพบว่าสวัสดิการที่คนทำงานแต่ละเพศให้ความสำคัญนั้นแตกต่างกันคือ เพศชายต้องการ “เวลาทำงานที่ยืดหยุ่นได้” ในขณะที่เพศหญิงต้องการ “เงินค่าล่วงเวลา” มากกว่า

สวัสดิการของคนทำงานตามพื้นที่ (Area) คนทำงานที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีความต้องการสวัสดิการด้าน “เวลาทำงานที่ยืดหยุ่นได้” เนื่องจากการทำงานที่ยืดหยุ่นจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้ส่วนหนึ่ง ส่งผลให้คนทำงานในกรุงเทพฯ สามารถจัดสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้มากขึ้น ในขณะที่คนทำงานที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดให้ความสำคัญกับสวัสดิการด้าน “ค่ารักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว” มากกว่า

สวัสดิการของคนทำงานตามประเภทธุรกิจ (Industry) จากการสำรวจคนทำงานที่อยู่ในประเภทธุรกิจที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานฃากที่สุด 5 อันดับในเว็บไซต์ JobThai ได้แก่ อาหาร-เครื่องดื่ม บริการ ค้าปลีก ยานยนต์ และก่อสร้าง พบว่าโดยภาพรวมสวัสดิการที่คนทำงานต้องการเหมือนกันคือ “โบนัส” “วันหยุด-วันลาตามกฎหมาย” และ “ประกันสังคม”

ส่วนคนทำงานในประเภทธุรกิจยานยนต์นั้นมีความต้องการสวัสดิการด้าน “ค่ารักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว” และ “เงินออม” มากกว่าคนทำงานในประเภทธุรกิจอื่น ๆ ในขณะที่สวัสดิการที่คนทำงานในธุรกิจก่อสร้างมีความต้องการมากกว่าคนทำงานในธุรกิจอื่นก็คือ “เวลาทำงานที่ยืดหยุ่นได้”

สวัสดิการของคนทำงานตามระดับงาน (Job Level) สำหรับสวัสดิการที่แบ่งตามระดับงานนั้น คนทำงานระดับผู้บริหารจะให้ความสำคัญในเรื่อง “ค่ารักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว” มากกว่าคนทำงานในระดับอื่น ๆ  ส่วนสวัสดิการด้าน “โบนัส” “วันหยุด-วันลาตามกฎหมาย” และ “ประกันสุขภาพ” เป็นสิ่งที่คนทำงานในทุกระดับต้องการ

เมื่อเราสามารถบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ ได้อย่างตรงใจพนักงาน และคุ้มค่าการลงทุนขององค์กรแล้ว เมื่อนั้นจึงจะถือว่าเป็น Benefit ที่ fit กับทั้งพนักงานและองค์กรอย่างแท้จริง 

สามารถอ่านบทความน่าสนใจอื่นๆได้ ที่นี่ คลิก!!


ที่มา : www.optimistichr.com

 15190
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์