Benefit หรือ สิทธิประโยชน์ ที่จัดให้แก่พนักงาน นอกเหนือจากค่าจ้างเงินเดือนปกติ หากเราสามารถบริหาร สิทธิประโยชน์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะช่วยให้อัตรา Attrition น้อยลงแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มความสามารถในการดึงดูด (Attraction) เข้ามา และรักษาพนักงานไว้กับองค์กรได้ด้วย
ตัวอย่างสิทธิประโยชน์ทั่วไป ได้แก่ การลาพักผ่อนประจำปี รวมทั้ง การลาประเภทต่างๆ การจัดสถานเลี้ยงบุตร (Day Care) การจัดที่พักอาศัย การเบิกจ่ายกรณีไปอบรมเพิ่มเติมพิเศษ การปรับเงินเดือนและค่าแรง การฝึกอบรม สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จัดเป็นพิเศษให้กับผู้บริหารมักจะเรียกว่า Perq หรือ Perk ได้แก่ การเป็นสมาชิกสปอร์ตคลับต่างๆ หรือจัดให้มี รถยนต์ และ คนขับรถประจำตำแหน่ง เป็นต้น
เรามักใช้คำว่า Benefit ควบคู่ไปกับ Welfare และมักเรียกรวมว่า สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการ ซึ่งครอบคลุมสวัสดิการ รักษาพยาบาล การให้เงินทดแทน เนื่องจากเจ็บป่วยหรือทุพพลภาพ การประกันชีวิต การจ่ายสวัสดิการบำนาญให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุ การให้สิทธิการซื้อหุ้นหรือการจ่ายสวัสดิการในรูปของหุ้น การประกันสังคม เงินช่วยเหลือต่างๆ เช่น คลอดบุตร งานมงคลสมรส งานศพ เป็นต้น
การบริหาร Benefit & Welfare นั้น ถือเป็นเครืองมือในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลขององค์กรที่สำคัญ จึงต้องมีกลยุทธ์ ที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความคุ้มค่า เพราะสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเป็นต้นทุนต่อเนื่องขององค์กร และนับวันก็จะมีแต่เพิ่มขึ้น อีกทั้งความต้องการของพนักงานก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้น องค์กรสมัยใหม่อาจจะมีการกำหนดกลยุทธ์ในการบริหาร สิทธิประโยชน์และสวัสดิการ ดังนี้
ปัจจุบันมีหลายองค์กร ได้จ้างบริษัทฯ ที่ปรึกษา มาทำการศึกษาความเหมาะสมและคุ้มค่า ในการบริหารสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการองค์กร โดยพิจารณาข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์และสวัสดิการพนักงาน หากพบว่า มีสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการด้านใด ที่ไม่นิยมใช้ หรือพนักงานไม่ค่อยรับรู้ เราก็สามารถนำสิทธิประโยชน์ด้านนั้น มาปรับให้ตรงตามความต้องการของพนักงาน และนำมาเป็นข้อมูลในการสื่อสารแก่พนักงานต่อไปได้
จากผลสำรวจ หลายๆ แห่งที่สำรวจระหว่างองค์กร และ พนักงาน จะเห็นว่า แต่ละองค์กร มีการแบ่งสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ โดยจะสามารถแบ่ง สวัสดิการได้ดังนี้
สวัสดิการของคนทำงานตามช่วงอายุ (Generation) เมื่อแบ่งกลุ่มคนทำงานออกเป็นตามช่วงอายุพบว่า Gen X จะให้ความสำคัญกับสวัสดิการด้าน “เงินออม” เนื่องจากเป็นวัยที่กำลังใกล้เกษียณ หลักประกันที่จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีหลังเกษียณจึงเป็นเรื่องจำเป็น ในทางกลับกันกลุ่มคนทำงาน Gen Y และ Gen Z ไม่ได้มองว่าสวัสดิการด้านนี้สำคัญ แต่ให้ความสำคัญกับสวัสดิการด้าน “ค่าล่วงเวลา” และ “เบี้ยขยัน” มากกว่า
สวัสดิการของคนทำงานตามเพศ (Gender) ผลการสำรวจพบว่าสวัสดิการที่คนทำงานแต่ละเพศให้ความสำคัญนั้นแตกต่างกันคือ เพศชายต้องการ “เวลาทำงานที่ยืดหยุ่นได้” ในขณะที่เพศหญิงต้องการ “เงินค่าล่วงเวลา” มากกว่า
สวัสดิการของคนทำงานตามพื้นที่ (Area) คนทำงานที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีความต้องการสวัสดิการด้าน “เวลาทำงานที่ยืดหยุ่นได้” เนื่องจากการทำงานที่ยืดหยุ่นจะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้ส่วนหนึ่ง ส่งผลให้คนทำงานในกรุงเทพฯ สามารถจัดสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้มากขึ้น ในขณะที่คนทำงานที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดให้ความสำคัญกับสวัสดิการด้าน “ค่ารักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว” มากกว่า
สวัสดิการของคนทำงานตามประเภทธุรกิจ (Industry) จากการสำรวจคนทำงานที่อยู่ในประเภทธุรกิจที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานฃากที่สุด 5 อันดับในเว็บไซต์ JobThai ได้แก่ อาหาร-เครื่องดื่ม บริการ ค้าปลีก ยานยนต์ และก่อสร้าง พบว่าโดยภาพรวมสวัสดิการที่คนทำงานต้องการเหมือนกันคือ “โบนัส” “วันหยุด-วันลาตามกฎหมาย” และ “ประกันสังคม”
ส่วนคนทำงานในประเภทธุรกิจยานยนต์นั้นมีความต้องการสวัสดิการด้าน “ค่ารักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว” และ “เงินออม” มากกว่าคนทำงานในประเภทธุรกิจอื่น ๆ ในขณะที่สวัสดิการที่คนทำงานในธุรกิจก่อสร้างมีความต้องการมากกว่าคนทำงานในธุรกิจอื่นก็คือ “เวลาทำงานที่ยืดหยุ่นได้”
สวัสดิการของคนทำงานตามระดับงาน (Job Level) สำหรับสวัสดิการที่แบ่งตามระดับงานนั้น คนทำงานระดับผู้บริหารจะให้ความสำคัญในเรื่อง “ค่ารักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัว” มากกว่าคนทำงานในระดับอื่น ๆ ส่วนสวัสดิการด้าน “โบนัส” “วันหยุด-วันลาตามกฎหมาย” และ “ประกันสุขภาพ” เป็นสิ่งที่คนทำงานในทุกระดับต้องการ
เมื่อเราสามารถบริหารจัดการสิทธิประโยชน์ ได้อย่างตรงใจพนักงาน และคุ้มค่าการลงทุนขององค์กรแล้ว เมื่อนั้นจึงจะถือว่าเป็น Benefit ที่ fit กับทั้งพนักงานและองค์กรอย่างแท้จริง
ที่มา : www.optimistichr.com