เลือกพนักงานด้วย"สมรรถนะ" ดีกว่าวัดความฉลาด จริงหรือ

เลือกพนักงานด้วย"สมรรถนะ" ดีกว่าวัดความฉลาด จริงหรือ



จากแนวคิดของ David MaClelland ที่แสดงในบทความเรื่อง Testing for Competence Rather than for Intelligence เขาได้แสดงทัศนคติทางด้านลบต่อการวัดความถนัด (ความฉลาด และผลการเรียน) ในการทำนายความสำเร็จในการทำงานว่าแต่นักวิชาการทั่วไปเห็นด้วยกับเขาหรือไม่

นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การยุคถัดมา ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ McClelland โดย Barrett และ Depinet ได้เสนอแสดงข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยต่างๆ ในบทความเรื่อง Reconsideration of Testing for Competence Rather than for Intelligence ที่แสดงว่า ความฉลาดเป็นสิ่งที่ทำนายผลการปฏิบัติงานได้ดี โดยพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วแบบทดสอบความสามารถทั่วไปมีค่าสัมพันธ์กับผลปฏิบัติงาน .53 ในขณะที่งานวิจัยที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง สมรรถนะกับผลการปฏิบัติงานนั้นมีน้อยมาก

ปัจจุบันนักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ความสามารถทั่วไป (General Cognitive Ability หรืออาจเรียกง่ายๆ ว่าความฉลาด) เป็นสิ่งที่ใช้ทำนายผลการปฏิบัติงานที่ดีที่สุด โดยสามารถทำนายผลการปฏิบัติงานของงานทีซับซ้อนได้ดีกว่า ของงานที่ใช้ทักษะ และความสามารถทั่วไปไม่เคยทำนายงานใดได้ค่าเป็นศูนย์เลยแนวคิดในการคัดเลือก พนักงานปัจจุบันมีลักษณะของการวัด/การประเมินหลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นแนวทางของการประเมินบุคคลทั้งบุคคล (Whole Person Approach) คือไม่ได้วัดอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่วัดหลาย ๆ อย่าง เช่น การวัดความสามารถทั่วไป การวัดบุคลิกภาพ แนวคิด ค่านิยมที่เหมาะสมกับองค์กร เป็นต้น ดังนั้นป่วยการ ที่จะถกเถียงกันว่า วัดอะไรดีกว่า แต่การวัดหลายๆ สิ่งสำคัญกับผลการปฏิบัติงานน่าจะเหมาะสมที่สุด

การคัดเลือกของภาครัฐมีการวัด/ประเมิน 3 ส่วน กล่าวคือ การวัดความสามารถทั่วไป (ภาค ก) การวัดความรู้เฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข) และการประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค) ในอนาคตอันใกล้การประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่งจะเน้นในเรื่องสมรรถนะ เนื่องจากการปรับปรุงระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทนของภาครัฐทำให้ระบบการคัด เลือกต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกัน

ข้อสงสัยต่อการวัดความสามารถทั่วไปของภาครัฐคือ การวัดนี้เกี่ยวข้องกับการทำงานอย่างไร ลักษณะหนึ่งของข้อสอบคือความสามารถด้านตัวเลข เช่น เลขอนุกรม ซึ่งคนทั่วไปเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และแบบทดสบประเภทนี้เป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่า "ล้าสมัย"

คำอธิบายเชิงทฤษฎีคือ ความสามารถทั่วไปของบุคคล อธิบายโดยทฤษฎีเชาวน์ปัญญาด้วยความสามารถหลายๆ ด้าน ที่สัมพันธ์กัน แบบทดสอบในปัจจุบันมักวัดความสามารถหลัก ๆ 3 ด้านคือ ด้านตัวเลข ด้านภาษา และด้านเหตุผล

ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยพบว่า โดยทั่วไปแบบวัดประเภทนี้มีความสัมพันธ์กับผลการปฏิบัติงาน เราเรียกว่าความสามารถทั่วไป และการปฏิบัติงานนั้นมีความสัมพันธ์กันในเชิงทฤษฎี แม้ว่าโดยลักษณะภายนอกจะมองดูเหมือนว่าไม่สัมพันธ์กันเลยก็ตาม และด้วยเหตุผลนี้ไม่ว่าระบบการคัดเลือกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร การวัดความสามารถทั่วไปก็น่าจะยังมีอยู่เสมอ

สำหรับองค์การอื่นๆ ที่ไม่ได้มีการวัดความสามารถทั่วไปนั้น ความจริงแล้วมีการประเมินจากผลการศึกษาความสามารถทั่วไปมีความสัมพันธ์อย่าง มากกับผลการเรียน (โดยทั่วไปผู้ที่ประสบความสำเร็จในการเรียนมักเป็นผู้ที่ฉลาด มีแรงจูงใจที่ดี และอาจมีองค์ประกอบแวดล้อมอื่นๆ) ดังนั้นการประเมินจากผลการศึกษา ก็เท่ากับเป็นการประมินความฉลาดโดยทางอ้อมอยู่แล้ว



บทความโดย : www.home.co.th
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 4041
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์