Resume ที่ไม่น่าอ่าน

Resume ที่ไม่น่าอ่าน



       ในการเขียนเรซูเม่นั้นขอให้คิดไว้เสมอว่า ทำอย่างไรคุณจึงจะโดดเด่น และจับความสนใจของ HR ได้ในเวลาอันสั้น หากเรซูเม่ของคุณน่าสนใจ แน่นอนว่า HR ต้องอยากเรียกคุณมาสัมภาษณ์งานโดยเร็ว ตรงกันข้ามกับเรซูเม่ที่ไม่น่าอ่านก็จะถูกกองไว้ก่อนเสมอ และนี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้สมัครงานไม่ถูกเรียกสัมภาษณ์งานเสียทีก็ได้ แล้วเรซูเม่ที่ไม่น่าอ่านเป็นแบบไหนล่ะ

       1. ไม่ให้ความสำคัญกับรูปแบบเรซูเม่แค่การจัดรูปแบบเรซูเม่ก็แพ้แล้ว ยังไม่ต้องเข้าไปอ่านประวัติส่วนตัว ประสบการณ์ หรือทักษะความสามารถอะไรเลย คุณก็ดูไม่น่าสนใจเสียแล้ว เพราะทุกอย่างดูเท่ากันไปหมด ไม่มีจุดเด่น ไม่มีความประทับใจแรกที่สามารถดึงดูดสายตาและความสนใจจาก HR ได้เลยวิธีแก้ไข เพียงจับประเด็นเป็นหัวข้อ ทำตัวใหญ่ ตัวเล็ก ตัวหนา ตัวเอียง ให้มีจุดดึงดูดสายตาและอ่านง่าย ก็จะช่วยให้ HR อยากอ่านเรซูเม่ของคุณมากขึ้น

       2. ร่ายยาวประวัติการทำงาน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่สมัครผู้หางานบางคนเขียนเรซูเม่ยาวเหยียด อัดแน่นด้วยประสบการณ์ทำงานมากกว่า 10 ปี เพราะคิดว่าตัวเองมีประสบการณ์เยอะกว่าน่าจะได้เปรียบกว่า โดยลืมคิดไปว่า HR ไม่สามารถอ่านเรซูเม่ของผู้สมัครได้อย่างละเอียดทุกฉบับหรอกค่ะ ยิ่งเป็นบริษัทใหญ่ ๆ มีผู้สนใจมากยิ่งต้องทำเวลาในการคัดกรองใบสมัครอย่างรวดเร็ว เพราะเหตุนี้ ใบสมัครที่เต็มไปด้วยข้อมูล แต่เมื่อกวาดตาไปแล้วไม่สะดุดกับสิ่งที่ตรงกับความต้องการมักจะถูกคัดออกอย่างรวดเร็วเช่นกันวิธีแก้ไขถามตัวเองว่าประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานที่คุณสมัครนั้น เกิดขึ้นตอนไหนบ้าง ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย ตอนฝึกงาน ตอนเริ่มงานแรก หรืออื่น ๆ ได้แล้วก็ระบุลงไปในเรซูเม่โดยเน้นเฉพาะประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เรซูเม่ของคุณสั้นกระชับ โดนใจมากที่สุด เพราะทางฝ่าย HR นั้นเขาจะสนใจก็แต่ข้อมูลที่สอดคล้องกับตำแหน่งงานเท่านั้น

       3. ระบุทักษะทุกอย่างที่มากเกินความต้องการทักษะความสามารถก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้หางานมักจะพรีเซนต์ตัวเองแบบจัดเต็มเสมอ ฉันทำอะไรได้ฉันใส่ลงไปหมด แต่ HR ต้องการจะเห็นทักษะที่ทำให้เขาอยากเรียกคุณมาสัมภาษณ์งานเท่านั้น ดังนั้น ทักษะประเภท ขี่จักรยานได้ ว่ายน้ำเป็น ไม่จำเป็นต้องใส่ลงไปในเรซูเม่ก็ได้ค่ะ ถ้างานของคุณไม่ได้ต้องการทักษะนั้นวิธีแก้ไข ทบทวนเรซูเม่ของคุณอีกครั้ง พร้อมกับถามตัวเองว่า ทักษะที่คุณเขียนลงไปทั้งหมดนั้น เหมาะกับงานที่คุณสมัครใช่หรือไม่ หากไม่ใช่ทักษะที่เหมาะกับงานโดยตรง แต่เป็นทักษะที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับงานใหม่ได้ก็ควรระบุลงไปด้วย แต่ถ้าไม่เกี่ยวกับงานทั้งทางตรงและทางอ้อมก็ไม่ควรใส่ค่ะ

       4. โฟกัสที่รายละเอียดของงานมากเกินไปHR คาดหวังที่จะเห็นข้อมูลแสดงความโดดเด่นในตัวคุณ ความสำเร็จที่ผ่านมาของคุณ มากกว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดงานของคุณ หากคุณเขียนเกี่ยวกับตำแหน่งงานที่ผ่านมาโดยบอกเพียงว่า หน้าที่ของคุณมีอะไรบ้างในแต่ละวัน แสดงว่าคุณโฟกัสผิดจุดแล้วค่ะวิธีแก้ไข คิดถึงความภูมิใจและความสำเร็จที่ได้จากงานของคุณ รวมทั้งอุปสรรคที่คุณสามารถแก้ไขให้ผ่านพ้นมาได้ แล้วเลือกใช้คีย์เวิร์ดทรงพลังในการนำเสนอ เมื่อ HR ได้อ่านจะพบทันทีว่าคุณมีอะไรน่าสนใจบ้าง ซึ่งช่วยในการตัดสินใจและได้รับการติดต่อกลับโดยเร็ว

       5. ละเลยประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัยหากคุณเป็นนักศึกษาจบใหม่ หรือยังไม่มีประสบการณ์การทำงานมากนัก ประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัยคือสิ่งสำคัญ การละเลยในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ระบุประสบการณ์ในมหาวิทยาลัยนะคะ แต่หมายถึงการระบุที่ไม่ได้แสดงความสำคัญของสิ่งที่คุณทำ เช่น ระบุเพียงว่าคุณเข้าร่วมกิจกรรมอะไร ในปีไหน โดยไม่ได้บอกว่ามันน่าสนใจอย่างไรวิธีแก้ไขถ้าคุณเปลี่ยนวิธีการนำเสนอเสียใหม่ โดยระบุไปเลยว่า คุณทำอะไรบ้างในกิจกรรมนั้น และได้เรียนรู้อะไรบ้าง เท่านี้เรซูเม่ของคุณจะดูน่าสนใจมากขึ้นแล้ว

       เรซูเม่ที่ไม่น่าอ่าน เริ่มจากรูปแบบเรซูเม่ที่ไม่มีจุดสนใจ ข้อมูลเยอะเกินไป และโฟกัสไม่ถูกจุด ทำให้ไม่มีความโดดเด่น เห็นแล้วไม่น่าสนใจ ไม่อยากอ่าน แล้วเรซูเม่ของคุณเข้าข่ายที่กล่าวมาข้างต้นหรือเปล่า ขอแนะนำให้เช็คด่วนค่ะ



บทความโดย : JobsDB
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com

 3099
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์