การเลือกและบริหารคนเก่งให้ได้ผล ต้องทำอย่างไร

การเลือกและบริหารคนเก่งให้ได้ผล ต้องทำอย่างไร



ในยุคปัจจุบันคงปฏิเสธได้ยากว่า เรื่องของการบริหารทรัพยากรบุคคลนั้นทวีความสำคัญมากขึ้น และมีผลต่อความสำเร็จขององค์กรอย่างมาก องค์กรใดที่ขาดทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ก็จะแข่งขันกับคนอื่นยากขึ้น ด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้หลายๆ องค์กรต่างก็ต้องการคนเก่งคนดีเข้ามาทำงาน ซึ่งก็ตกเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลที่จะต้องหาวิธีสรรหาคัดเลือกเอาคนเก่งคนดีที่เหมาะสมกับองค์กรเข้ามาทำงานให้ได้มากที่สุด จากนั้นก็คงต้องมีวิธีการรักษาคนเก่งคนดีเหล่านี้ไว้ด้วย ไม่ใช่บริหารแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ไปวันๆ อย่างที่หลายๆ องค์กรกำลังทำอยู่ เรื่องของ Talent Management ก็เลยเกิดขึ้น ก็คือ องค์กรนอกจากจะหาคนดีคนเก่งเข้ามาได้แล้ว ยังต้องสร้างคนดีคนเก่งเหล่านี้ให้เป็นคนเก่งกว่าเดิมให้ได้ เพื่อที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาองค์กรต่อไป มีสูตรสำเร็จ 7 อย่างที่ใช้เป็นแนวทางในการบริหารคนเก่ง มีอะไรบ้างลองมาดูกันนะครับ

• หาคนเก่งให้เจอเสียก่อน ก่อนที่เราจะบริหารคนเก่งได้ เราคงต้องหาคนเก่งให้เจอเสียก่อนนะครับ หากยังหาไม่เจอ หรือหาไม่ได้สักที เราก็คงไม่มีคนเก่งมาให้บริหารกัน ดังนั้นในการหาคนเก่งก็คงต้องมีการกำหนดคุณลักษณะของคนเก่งว่าจะต้องเป็นอย่างไรที่เราจะเรียกว่าเข้าข่ายเป็น Talent ขององค์กร ส่วนใหญ่มักจะพิจารณาจากความพร้อมและศักยภาพของพนักงานคนนั้นว่ามีความพร้อมที่จะรับงานที่ยากขึ้นไปอีกหรือไม่

• หาให้ถูกงาน คำว่า Talent นั้นไม่ใช่เกิดขึ้นในทุกตำแหน่งงาน หรือทุกวิชาชีพขององค์กรนะครับ ส่วนใหญ่ Talent ขององค์กรมักจะอยู่ในกลุ่มงานที่เป็นงานหลักขององค์กร เป็นงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้ ซึ่งโดยมากก็มักจะเป็นงานที่เป็นวิชาชีพต่างๆ แต่คงไม่ใช่ทุกตำแหน่งจะต้องไปหา Talent นะครับ เช่น แม่บ้านที่เป็น Talent หรือ คนขับรถที่เป็น Talent ฯลฯ

• กำหนดลักษณะผลงานให้ชัดเจน ลักษณะผลงานของคนที่เป็น Talent จะต้องเป็นผลงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้อย่างชัดเจน ไม่ใช่แค่ทำงานได้ตามมาตรฐาน หรือได้ตามที่กำหนด ก็จะกลายเป็น Talent ได้ ส่วนใหญ่คนที่จะได้เป็น Talent นั้นมักจะเป็นพนักงานที่สามารถคิดและมองไปได้ไกลกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ และสามารถที่จะสร้างผลงานที่มีมูลค่าเพิ่มอยู่ตลอด ไม่ใช่แค่ทำรายงานส่งได้ตรงเวลา หรือทำงานไม่ผิดพลาด ฯลฯ แล้วจะเข้าข่าย Talent ได้

• มีวิธีการหาที่ถูกต้องชัดเจน ต้องมีการกำหนดเกณฑ์ที่ชัดเจนในการหา Talent ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของผลงาน พฤติกรรม และศักยภาพที่แสดงออกของพนักงาน เราคงต้องกำหนดวิธีการที่จะได้มาซึ่ง Talent ที่ชัดเจน เข้าใจง่าย และใช้แนวทางนี้เป็นมาตรฐานในการหาคนที่เป็น Talent ไม่ใช่แค่เพียงว่า ทำงานเข้าตานายบางคน ก็ถูกเลือกเป็น Talent ได้ หรือ แค่ทำผลงานดีในช่วงสั้นๆ ก็กลายเป็น Talent ได้

• ในเวลาที่เหมาะสม การที่จะเป็น Talent นั้นต้องอาศัยเวลาในการสร้างสมประสบการณ์ในการทำงาน รวมทั้งต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ตัวพนักงานพอสมควรทีเดียว ไม่ใช่แค่เห็นผลงานพนักงานแค่เพียง 1-2 ปีแล้วก็บอกได้ทันทีว่านี่คือ Talent แบบนี้ก็อาจจะเร็วไป หรือบางองค์กรก็ยืดเวลาออกไปนานเกิน จนพนักงานเองก็พิสูจน์แล้วพิสูจน์อีก ทำจนเวลาผ่านไปเนิ่นนาน ก็ไม่ได้ถูกมองว่าเป็น Talent สักที นานไปก็ไม่ดี เร็วไปก็ไม่เหมาะ

• บนพื้นฐานความพร้อมของพนักงาน การที่เราไปเร่งรัดพนักงาน หรือไปบอกเขาว่านี่เขาคือ Talent โดยที่เขายังไม่พร้อมที่จะเข้าโปรแกรมการพัฒนาตัวเองนั้น เป็นการทำลาย Talent อย่างหนึ่ง บางองค์กรยัดเยียดให้พนักงานเป็น Talent โดยที่พนักงานคนนั้นยังไม่พร้อม และเจ้าตัวเองก็ยังรู้สึกว่ายังไม่ถึงเวลา ผลก็คือไม่เกิดประโยชน์ต่อทั้งองค์กร แต่พนักงานเลย บางองค์กรก็เสียมือดีไปก็ด้วยความใจร้อนนี่แหละครับ

• ไปสู่บทบาทในอนาคตที่ถูกต้อง การที่เราบริหาร Talent ให้ได้ดีนั้นเราจะต้องมีการกำหนดบทบาทในอนาคตว่าหลังจากที่เข้าโปรแกรมการพัฒนาแล้ว พนักงานจะต้องรับบทบาทหน้าที่อะไร และจะต้องมีความรับผิดชอบอะไรบ้างที่สูงขึ้น ซึ่งบทบาทใหม่ๆ ที่จะมาถึงนี้จะต้องเหมาะสม และตรงกับสิ่งที่พนักงานคนนั้นเป็นอยู่ เช่น บางคนไม่เหมาะกับการเป็นหัวหน้าคนอื่น แต่เราก็ไม่เคยพิจารณาจุดแข็งและจุดอ่อนของพนักงานคนนี้เลย พยายามเข็ญให้พนักงานไปรับบทบาทของการเป็นหัวหน้า และเป็นผู้บริหาร ซึ่งพนักงานเองไม่มีความถนัด พอถึงเวลาที่จะต้องรับบทบาทนั้นจริงๆ ผลงานก็จะออกมาไม่ดี ในทางตรงกันข้ามพนักงานบางคนสามารถบริหารงานได้ดี แต่เรากลับไปวางไว้ให้เขาโตไปเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งก็จะไม่เหมาะสมกับตัวพนักงาน ผลก็คือ เขาจะไม่สามารถแสดงความสามารถอันโดดเด่นได้เลยในงานที่จะต้องรับผิดชอบในอนาคตข้างหน้า

นี่คือ 7 พื้นฐานที่สำคัญในการทำ Talent Management ซึ่งผมได้แนวทางมาจากข้อเขียนของ Nicholas J Higgins & Graeme Cohen ซึ่งผู้เขียนได้ผูกพื้นฐานทั้ง 7 ตัวนี้เป็นประโยคเดียวกันดังนี้ครับ



บทความโดย : singhip.exteen.com
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 3591
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์