การทำให้ได้ทั้งงานและน้ำใจ

การทำให้ได้ทั้งงานและน้ำใจ



การทำให้เกิดความร่วมมือของผู้ร่วมทีมงานเป็นเรื่องของความมีน้ำใจ หากผู้บังคับบัญชามีน้ำใจต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะมีน้ำใจตอบต่อผู้บังคับบัญชา

มีการพูดกันมากว่าเก่งงานอย่างเดียวไม่พอ จะต้องเก่งคนด้วย คือ ผู้ซึ่งจะเป็นผู้นำ มิใช่มุ่งแต่จะใช้คนทำงานตามอำนาจหน้าที่ หรือมุ่งแต่งานโดยไม่สนใจคน การบริหารคือการทำงานให้สำเร็จโดยอาศัยความร่วมมือจากผู้ร่วมงาน ดังนั้นการทำให้เกิดความร่วมมือของผู้ร่วมทีมงาน ดังนั้นการทำให้เกิดความร่วมมือจึงเป็นเรื่องของความมีน้ำใจต่อกัน ผู้บังคับบัญชามีน้ำใจต่อผู้ใต้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชาก็จะมีน้ำใจตอบต่อผู้บังคับบัญชา เพราะทำงานกับคนไม่ใช่ทำงานบนหัวคน จึงต้องคำนึงถึงหลายสิ่งประกอบกัน

มีน้ำใจให้ก่อน

ผู้บังคับบัญชาจะต้องแสดงออกถึงความมีน้ำใจ ด้วยการทำความเข้าใจถึงสิ่งที่จะบรรลุผลสำเร็จในการทำงานร่วมกัน แสดงออกด้วยการรับฟังความคิดเห็น มิใช่ใช้คำสั่งหรือคำบังคับ จนเป็นการลุแก่อำนาจ เปิดโอกาสให้ผู้ใต้บังคับบัญชาแสดงความสามารถอย่างเต็มที่ เมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานสำเร็จก็ต้องให้เกียรติ ให้การยกย่อง ในยามที่ผู้ใต้บังคับบัญชาประสบปัญหา ก็เข้าช่วยแก้ไข โดยไม่ปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาถูกโดดเดี่ยว เผชิญกับความยุ่งยากอยู่ลำพังผู้เดียว ในการที่ผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานหนักจนเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า ก็ช่วยผ่อนแรงให้บ้าง ด้วยการหาคนมาช่วยเสริม หรือบางครั้งอาจต้องเข้าร่วมปฏิบัติงานด้วย โดยไม่ถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งแล้วก็แล้วกัน เพราะคนไม่ใช่เครื่องจักร ตัวเครื่องจักรก็ยังไม่ใช้เกินกำลัง ต้องพักเครื่องเหมือนกัน

มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

ผู้บังคับบัญชาต้องไม่ตระหนี่ถี่เหนียว รู้จักที่จะอุดหนุนถ้าผู้ใต้บังคับบัญชาจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อเป็นการหารายได้เพิ่มก็ควรจะให้การอุดหนุนตามสมควร มีสิ่งใดที่จะเจือจานได้ก็ไม่ลังเลที่จะแสดงน้ำใจ รวมทั้งต้องส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาประสบผลสำเร็จในด้านต่าง ๆ เท่าที่เขาจะทำได้ เปิดโอกาสให้มีความเจริญก้าวหน้าทั้งในหน้าที่การงานและชีวิตส่วนตัว ก็จะเป็นผลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาระลึกถึงน้ำใจ และเต็มใจทำงานอย่างสุดฝีมือ สุดความสามารถ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทำได้หลายวิธี แม้กระทั่งการแบ่งปันความรู้ซึ่งผู้บังคับบัญชามีอยู่ ไม่จำเป็นต้องเป็นการให้เงินอย่างเดียว

มีการดูแลทุกข์สุข

ผู้บังคับบัญชาควรไต่ถามถึงสารทุกข์สุกดิบของผู้ใต้บังคับบัญชาตามโอกาสอันควร พร้อมที่จะให้คำปรึกษาในปัญหาการทำงานและปัญหาส่วนตัว หากผู้ใต้บังคับบัญชาตัดสินใจนำปัญหามาขอคำแนะนำ หรือเป็นกรณีที่ผู้บังคับบัญชาสังเกตเห็นว่าผู้ใต้บังคับบัญชามีพฤติกรรมที่ผิดแผกไปจากเดิม และแสดงออกถึงความเครียด หรือความเดือดเนื้อร้อนใจ อย่าปฏิเสธในการให้คำปรึกษาโดยถือว่าธุระไม่ใช่ อย่าปัดภาระไปให้ผู้อื่น เพราะการแสดงความเอาใจใส่ในปัญหาของผู้บังคับบัญชาจะทำให้ได้น้ำใจตั้งแต่แรก ถ้าช่วยแก้ปัญหาได้ ยิ่งจะได้ความเคารพตามมา



บทความโดย : คุณ สมิต สัชฌุกร
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 6816
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์