การรับฟังและการให้ข้อชี้แนะลูกน้อง

การรับฟังและการให้ข้อชี้แนะลูกน้อง

การรับฟังและการให้ข้อชี้แนะลูกน้อง



  เวลามีการพูดคุยกันระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง เพื่อให้มีการปรับปรุงพฤติกรรมการทำงานที่ เห็นว่า “ไม่เหมาะสม” นั้น หัวหน้างานหลายคนคุยให้ฟังว่าไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนจะรู้สึกอึดอัดมาก เมื่อต้องคุยกับลูกน้องในลักษณะอย่างที่ว่า บ้างก็กลัวว่าจะกลายเป็นเรื่องสร้างความไม่สบายใจซึ่งกันและกันด้วยซ้ำ หลายคนเลยเลือกที่จะไม่พูดคุยกันเสียเลยจะดีกว่า ปัญหาลูกน้องยังคงมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ จึงยังคงอยู่สร้าง ความหงุดหงิดหัวใจให้หัวหน้างานต่อไป          

          หัวหน้าบางคนเลือกใช้ภาษาแรง ๆ เช่น “ ไม่อยากทำงานที่นี่ ก็ไปหาที่ใหม่ที่ชอบทำเลยไป” หรือไม่ก็ “เธอนี่ มีอะไรก็ไม่รู้จักพูดจักบอก จะเอายังไงก็ว่ามา นี่ ไม่เอาอะไรซักอย่าง แบบนี้งานจะดีขึ้นได้อย่างไร” คำพูดเชิงหงุดหงิดอย่างที่ว่านี้ เราก็คงได้ยินกันบ่อย ๆ ใช่ไหมครับ ก็อย่างว่า คนเรานั้น มีหลายรูปแบบ หลายลักษณะ บางทีคิดว่าเลือกมาประเภทที่น่าจะทำงาน ด้วยกันได้ดีแล้ว ก็มักไม่พ้นที่จะเจอกับพฤติกรรมที่ทั้งโอเคและไม่โอเคจนได้ อาจเข้าสุภาษิตว่า อย่าไปหาใครที่ต้องดีพร้อมอย่างที่เราคิดเลย หัวเสียตายเปล่า เราเองยังไม่สามารถทำถูกใจใคร ไปเสียทุกอย่างเลย จริงไหมครับ ถึงจะไม่อยากพูดคุยกันในเรื่องแบบนี้ แต่เมื่อมีบทบาทเป็นหัวหน้าแล้ว ก็ย่อมมีหน้าที่ที่ต้องพูดคุย เพื่อปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องสามารถ “รับฟัง” ข้อคิดเห็น
จากลูกน้องได้อย่างเหมาะสมด้วย ลูกน้องจึงจะกล้ามาแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์

  ถ้าคุณคิดว่าคุณก็รับฟังดีแล้ว แต่ลูกน้องไม่มีความคิดเห็นเอง ก็ต้องขอให้ทบทวนในบางเรื่องต่อไปนี้สักหน่อยนะครับ เพื่อให้แน่ใจว่า เราได้รับฟังอย่างเหมาะสมดีแล้วจริงหรือ และควรปรับอะไรอีกบ้าง เพื่อให้การรับฟังเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมให้ลูกน้องอยากแสดงความคิดเห็น

ประการแรก ก่อนการพูดคุยกัน คุณได้เตรียมใจให้พร้อมจะรับฟังแล้วใช่ไหม? อย่าเพิ่งคิดว่า “ก็ทำผิด เลยต้องเรียกมาลุยซะหน่อย” นะครับ ช่วยทำใจตัวเองให้พร้อมที่จะนั่งลงฟังเหตุผล “ของเขา” ก่อน เหตุผลนั้นอาจจะฟังไม่เข้าท่าในสายตาของหัวหน้า แต่นั่นเป็นเหตุผลในการ กระทำ(ผิด) ของเขาครับ อย่าเพิ่งฟังเป็นคำแก้ตัว แค่เตือนตัวเองว่าฟังเขาก่อน แค่นั้น
 
       
          ประการที่สอง การรับฟังความคิดเห็นนั้น คุณเปิดรับฟังอย่างจริงจังหรือไม่? หรือฟังไป อย่างงั้นแหละ คุณฟังไปตอบโต้ไปหรือไม่? ถ้าคุณยังเป็นอย่างนั้น คุณก็รู้ว่า ใครจะอยากแสดงความเห็นอะไรออกมา คุณลองฟังอย่างไม่ขัดจังหวะดูซิครับ หรือถ้าจะมีบ้าง ก็เป็นเพียงแต่กระตุ้น ส่งเสริมให้เขาพูดขยายความออกมาให้มากขึ้น ชัดเจนขึ้นเสียมากกว่า อย่างนี้ เชื่อว่าคุณจะได้อะไรจากการพูดคุยเพิ่มขึ้นมาก

          ประการที่สาม เวลารับฟัง คุณได้ระมัดระวังเรื่อง “ภาษากาย” ดีแล้วหรือไม่? ถ้าเราบอกว่า เราพร้อมรับฟังลูกน้อง แต่ภาษากายของเรากลับเป็นอย่างอื่น เช่น ไม่ค่อยให้ความสนใจ ฟังไปทำงานอื่นไป หรือมีหน้านิ่วคิ้วขมวดแบบไม่เข้าใจหรือไม่เห็นด้วยอยู่เป็นระยะ ๆ แบบนี้ลูกน้องก็ไม่อยากพูดคุยอะไรกับเราเหมือนกันนะครับ

  ประการที่สี่ คุณได้ฟังจนแน่ใจว่า ความเข้าใจของคุณตรงกับที่ลูกน้องคุยให้ฟังแล้วจริงหรือ? บ่อย ๆ ไปที่หัวหน้ามักคิดว่าเข้าใจที่ลูกน้องพูดออกมาแล้ว แต่ที่จริงยังเข้าใจไม่ตรงกับ ที่เขาพูดก็มี อย่านึกว่ามีแต่ลูกน้องเท่านั้นที่ฟังหัวหน้าไม่เข้าใจ ดังนั้นควรฟังด้วยความพยายามที่จะเข้าใจจริง ๆ

  ประการที่ห้า คุณเปิดกว้าง พร้อมรับฟังความคิดเห็นคนอื่นหรือไม่? ไม่ไช่คิดว่าสิ่งที่ถูกนั้นจะต้องเป็นความคิดของหัวหน้าเท่านั้น บางทีความคิดที่ถูกอาจมีมากกว่าหนึ่ง นั่นหมายความว่าอาจถูกทั้งคู่ก็ได้ ถ้าเรามีความคิดที่เปิดกว้าง ลูกน้องก็อยากพูดคุยเสนออะไรกับเรามากขึ้น เราก็มีโอกาสที่จะได้อะไรดี ๆ จากการพูดคุยเหล่านั้น

การฟังที่ดีจะทำให้เราได้ทั้งข้อมูลที่ถูกต้องว่าเกิดอะไรขึ้น ติดขัดที่ตรงไหนและที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าหัวหน้าเข้าใจเขาอย่างที่เขาเป็นจริง ๆ สิ่งเหล่านี้ เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ทำให้เกิดการยอมรับในข้อแนะนำ
ต่าง ๆ ของหัวหน้าที่จะมีต่อลูกน้องอย่างมาก  เห็นไหมครับว่า ก่อนจะปรับพฤติกรรมลูกน้อง การพูดคุยและ “ฟัง” ให้เข้าใจจริง ๆ ว่าเขาคิดอะไร ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากไม่แพ้เรื่องที่ต้องการจะให้ปรับปรุง ที่สำคัญก็คือ ถ้ายังฟังได้ ไม่เข้าใจกันจริง ๆ แล้ว เรื่องที่ต้องการให้ปรับปรุงอาจพลอยไม่เกิดผลไปด้วย ด้วยซ้ำไปนะครับ



บทความโดย : ไพศาล เตมีย์
ประกาศบทความโดย : www.prosofthrmi.com
 4240
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์